“ความรู้-ความเข้าใจ” ทางออกสังคม ลดตีตราผู้ป่วยโควิด-19
ทุกคนรู้จักชื่อของ ทองสุข ทองราช ผ่านสื่อต่างๆ ว่าเขาคือแท็กซี่ที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกของประเทศไทย และสามารถรักษาตัวจนหายดีภายในเวลาเก้าวัน
“คุณหมอบอกร่างกายมีภูมิคุ้มกันดี เลยหายได้เร็ว เพราะบุหรี่เราไม่สูบ ไม่ได้ดื่มเหล้าประจำและไม่มีโรคประจำตัว” เขาย้อนอดีตให้ฟัง
หลังกลับมาบ้าน หมอแนะนำให้ทองสุขเก็บตัวอยู่บ้านต่ออีกสิบสี่วัน แต่เขาเลือกที่จะกักตัวเองถึงยี่สิบวัน เพื่อความสบายใจของตัวเองและคนรอบตัว ซึ่งหลังจากมั่นใจแล้วว่าไม่มีอาการ ทองสุขจึงออกมาใช้ชีวิตตามปกติ
“ช่วงนั้นโรคยังระบาดแรกๆ บางเขาก็กลัวกันนะ มีบางบ้านเขาไม่ให้ลูกออกมาเล่นใกล้ๆ แต่ถ้าคนที่สนิทรู้จักกัน เขาไม่เคยแสดงทีท่ารังเกียจผมเลย มีแต่เราเองที่ไม่กล้าไปอยู่ใกล้เขามาก เวลาคุยก็คุยห่างๆ ไม่สุงสิงกับ เพราะไม่อยากให้เขารู้สึกไม่ดี”
ทองสุขยอมรับว่ามีความกังวลต่อทัศนคติของคนรอบตัว ด้วยความไม่แน่ใจ เขาเลยขอพิสูจน์ใจเพื่อนบ้านเล็กน้อย
“ผมลองทำกับข้าวเอาไปให้ แล้วแอบไปดู ถ้าเขากินแปลว่าเขาไม่รังเกียจเรา ซึ่งทุกคนก็ปกติ กินอาหารที่ผมทำหมด ทำให้เราสบายใจมากขึ้น” เขากล่าวพร้อมหัวเราะ
แต่แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้บั่นทอนกำลังใจเขาอย่างมาก เกิดขึ้นในวันแรกที่กลับมาขับรถอาชีพแท็กซี่ เมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์ผู้โดยสารขอลงจากรถกะทันหัน เพราะจำหน้าตนในข่าวได้
“กลับมาขับแท็กซี่เที่ยวแรก เจอผู้โดยสารจำเราได้ เราเห็นเขาตกใจ เสิร์ชหารูปเราในโทรศัพท์ก็รู้เลยว่าเขาจำเราได้ แล้วเขาพูดแบบลนลาน ขอลงทันที” ทองสุขเล่าเสียงแผ่วเบา
“ผมเจอแบบนี้สองเที่ยว ตอนนั้นน้ำตาคลอเลยนะ เราคิดว่าเราหายจากโรคนี้แล้วมามีชีวิตใหม่ มาเจอเหตุการณ์แบบนี้มันท้อถอยมาก คิดว่าตัวเองไปไหนไม่ได้แล้วล่ะ ชีวิตการขับแท็กซี่เราคงจบ เพราะทุกคนจำเราได้ ตอนนั้นถ้าผมไม่มีหนี้สินคงหนีกลับไปอยู่บ้านนอกแล้ว”
ความกดดันต่างๆ ในห้วงเวลานั้น ทำให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่ด้วยหน้าที่ที่ต้องแบกรับและได้รับกำลังใจสำคัญจาก “ครอบครัว” ทำให้ทองสุขเลือกที่จะสู้ต่อ
“โชคดีคือหลังจากนั้นผมไม่เจอกรณีนี้อีกเลย มีแต่ผู้โดยสารที่ขึ้นมาแล้วให้กำลังใจเราทุกเที่ยว เขาเห็นเราก็ดีใจ ขอถ่ายรูปกับเราไม่ได้รังเกียจ”
อีกความภาคภูมิใจ คือการที่อดีตคนป่วยอย่างเขาได้ทำคุณประโยชน์ให้สังคม ปัจจุบันทองสุขเป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่หายแล้ว สุขภาพแข็งแรงพอจนสามารถบริจาคพลาสมาที่จะช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยได้อีกหลายคนได้
“ผมเห็นในข่าว ประท้วงไม่ให้มากักตัว ผมว่าคนไทยต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้อีกมาก
การกักตัวเป็นเรื่องดี ก็เหมือนกักโรคให้มันอยู่กับที่ ช่วยแยกผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงให้ห่างจากเรา การที่ชุมชนคุณมีที่กักแล้ว แสดงว่าคุณไม่ต้องเสี่ยง ดีกว่าการปล่อยให้ผู้มีเชื้อเดินสวนคุณโดยไม่รู้ แล้วอาจเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว
“อยากบอกทุกคน คนที่ติดแล้วรอดกลับมาเขามีภูมิคุ้มกันและโรคนี้หายได้ มันน่าจะเป็นกำลังใจมากกว่ารังเกียจนะ ตัวผมเองก็ไปบริจาคพลาสมาทุกสิบสี่วัน ให้คุณหมอเอาไปวิจัยการรักษามาแล้ว 6 ครั้ง มันเป็นความภูมิใจคนเคยป่วยอย่างเราที่ได้สร้างคุณประโยชน์”
ทองสุข เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังถูกผลกระทบจากการตีตราสังคม ซึ่งต่างมีทัศนคติต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อในเชิงลบ อีกปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย
สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) เอ่ยถึงประเด็นดังกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทางมูลนิธิฯ เป็นองค์กรทำงานเรื่องการลดการตีตราผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีมาตลอด พบว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีความคล้ายคลึงกันกับเมื่อสามสิบปีที่แล้ว
“มีทั้งปัญหาเรื่องการรังเกียจไม่ยอมรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี มีการขับไล่ออกจากชุมชน ไปอยู่กระท่อม พอเสียชีวิตวัดก็ไม่เผาเพราะกลัวเชื้อกระจายในชุมชน กรณีเดียวกันเลยกับโควิด” สุภัทราให้ข้อมูล
“แต่จากการทำงานเราได้พบว่าสถานการณ์และการยอมรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จากประชาชนดีขึ้นเพราะเมื่อสิบปีที่แล้วสำรวจพบว่าประชาชนมีถึง 79% ที่ไม่ยินดีอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ แต่การสำรวจเมื่อ 2558 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดพบว่า ลดเหลือ 58.6%”
ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ทำให้มูลนิธิฯ เกิดแนวคิดที่จะสื่อสารกับสังคม โดยได้ร่วมกับ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันถอดบทเรียนการทำงาน ซึ่งพบว่ามี 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตีตราจากสังคม คือ ปัจจัยแรก การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค สุภัทราเอ่ยว่าการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจะทำให้ปัญหาลดลงไป ดังนั้นจึงเป็นบันไดขั้นแรกที่ต้องทำ
“ในด้านการให้ความรู้ เรานำสูตร 80 15 5 ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาชี้แจงว่า แท้จริงแล้วคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ 80% จะไม่มีอาการอะไร และหายเองได้ อีก 15% คือผู้ที่มีอาการป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และอีก 5% ถึงเป็นคนที่มีโอกาสป่วยหนัก ซึ่งเรานำฐานข้อมูลเรื่องนี้มาสร้างความรู้ความเข้าใจเบื้องต้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนอื่นเอาเชื้อมาติดเรา จึงเกิดความรังเกียจ แต่ในความเป็นจริงทุกคนมีโอกาสเสี่ยง เราอาจติดเชื้อมาแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือเราอาจอยู่ในกลุ่ม 80% เพราะฉะนั้นตัวเราเองก็อาจเป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้เช่นกัน” ผู้อำนวยการมูลนิธิ FAR อธิบาย
ปัจจัยสอง เกิดจากความกลัวและกังวล สุภัทราเอ่ยว่า บางทีการให้ข้อมูลของรัฐ หรือสื่อนำเสนอไปในทางค่อนข้างรุนแรง เมื่อคนเรารับสารทุกวันย่อมสร้างความกังวลขึ้นได้
“ดังนั้นการสื่อสารควรพูดข้อมูลความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อบาลานซ์กัน รวมถึงไม่ส่งต่อข้อมูลผิดๆ ออกไป แต่เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาและความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราอยู่ด้วยกันได้ ไม่เป็นปัญหา”
โดยเธอยังเล่ากรณีมีผู้ปกครองโรงเรียนบางแห่งมาเดินขบวนไม่ให้รับเด็กที่เป็นลูกผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าเรียนในโรงเรียน เพราะความกังวลว่าลูกหลานไม่ปลอดภัย มูลนิธิฯ จำเป็นต้องลงไปทำความเข้าใจ โดยอธิบายให้เห็นว่า ปัจจุบันยังไม่เคยมีประเทศใดในโลกที่ห้ามหรือแยกให้เด็กกลุ่มนี้ไปเรียนต่างหากเลย
“เราต้องการแค่ให้เขาได้มาเรียนหนังสือตามสิทธิ์ที่เขามีเหมือนคนอื่น ก็มีผู้ปกครองหลายรายก็ย้ายบุตรหลานไปเรียนที่อื่น แต่สุดท้ายหลังจาหทุกคนเข้าใจมากขึ้นก็ย้ายกลับมาเรียนที่เดิม”
สำหรับปัจจัยที่สาม คือทัศนคติเชิงลบที่มีต่อกลุ่มคนหรือบุคคลที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ จนถึงเรื่องการใช้คำพูดประณามหยามเหยียดผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง สุภัทรายกตัวอย่างเรื่องเอชไอวี มักมาจากฐานความคิดว่าคนกลุ่มนี้ประพฤติตนไม่ดี หรือเป็นคนไม่ดี เช่น สำส่อนทางเพศ ใช้สารเสพติดมา แต่แท้จริงแล้วเอดส์เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าอาชีพใด กลุ่มไหน
“อีกเรื่องคือ ภาษา มันมีผลต่อทัศนคติเช่นกัน อย่างคำว่ากักตัว ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับกักขังต้องโทษ เหมือนคนทำผิดมาแล้วเอาไปกักไว้ ซึ่งจริง ๆ ภาษาแบบนี้ไม่เหมาะสม แม้จะใช้ไปแล้ว แต่เราไม่ควรผลิตซ้ำ ดังนั้นหากจะผลิตสื่อ อยากให้องค์กรทั้งหลายระมัดระวัง ซึ่งในระดับสากลเขาก็แนะนำให้ใช้คำเรียกผู้ที่มีติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงว่า Social Distancing ไม่ใช่คำว่ากักตัว”
ปัจจัยที่ 4 คือสภาพแวดล้อมในครอบครัว ชุมชน สังคม รวมถึงภาคนโยบายและกฎหมาย ที่อาจทำให้เกิดการรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติ หรือการแบ่งแยก
“ทั้งสี่ปัจจัยเราถอดบทเรียนมาสามสิบปีจากโรคเอดส์ และคิดว่าไม่ต่างกันกับเรื่องโควิด ซึ่งเรามีมาตรการป้องกันในสามระดับ คือ ระดับบุคคล ระดับองค์กรหน่วยงาน ที่วิธีปฏิบัติต้องไม่แบ่งแยก ไม่ทำให้คนๆ หนึ่งถูกคุณค่าลดลง และระดับนโยบายหรือกฎหมาย”
โดยทั้งหมดนี้ยังดำเนินงานผ่านโครงการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ที่ทางมูลนิธิฯ และ สสส. ทำงานร่วมกับเครือข่ายกลุ่มประชากรเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ 9 เครือข่ายได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ใช้ยาเสพติด แรงงาน และกลุ่มชาติพันธุ์
“คนกลุ่มเหล่านี้มีปัญหาร่วมกันในการถูกเลือกปฏิบัติจากอคติสังคมในหลายประเด็น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกมิติ
แม้โควิด-19 อาจเป็นโรคเกิดใหม่ในวันนี้ แต่เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้คงไม่ใช่โรคสุดท้ายที่จะเกิด
“สิ่งที่เราคิดว่าควรทำคือ เราจะเตรียมพร้อมของชุมชนและสังคมนี้อย่างไรให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ ซึ่งในด้านนโยบายเรายังกำลังร่วมกันนำเสนร่างพระราชบัญญัติ ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะกฎหมายจะตอบโจทย์ปัจจัยข้อที่ 4”
นอกจากนี้ยังได้จัดทำสื่อรณรงค์และเผยแพร่ ภายใต้แนวคิด “สู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ” โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนตระหนักและมีความเข้าใจว่าทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 โควิด-19 ป้องกันได้ รักษาได้ ให้นึกถึงใจเขาใจเรา
“ซึ่งเราจะส่งสื่อแผ่นพับนี้ไปให้พี่น้องเครือข่ายพร้อมกับหน้ากากผ้า เพราะในกลุ่มเปราะบางยังมีข้อจำกัดการเข้าถึงอยู่ หน้ากากเราให้แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบมาผลิตให้”สุภัทราเอ่ย
ขณะที่ ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงแนวทางการสื่อสารสร้างความเข้าใจ โดยใช้ฐานคิดและแนวทางการทำงานที่ประยุกต์มาจากการลดการตีตราจากงานโรคเอดส์/เอชไอวีมาใช้กับโควิด-19) ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกุญแจแก้ปัญหาเรื่องนี้คือประชาชนควร “รู้วิธีที่จะไม่ติด และจะไม่แพร่” คือ การมีระยะห่างทางสังคม ล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสพื้นผิวใดๆ ใส่หน้ากากผ้าเมื่อออกไปที่ชุมชน ในทางกลับกันทุกคนต้องป้องกันในกรณีที่ตัวเราอาจติดเชื้อแล้ว แต่ไม่มีอาการซึ่งจะไปแพร่เชื้อให้คนอื่นด้วย ต่อมาคือ “ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้เสียชีวิตทุกคน” ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ชัดว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มีเพียง 3.4% เมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนจากสองประเด็นข้างต้นแล้ว ย่อมนำมาสู่ “การไม่ตีตราเลือกปฏิบัติ” เมื่อแพทย์ระบุว่าตรวจไม่พบเชื้อแล้ว บุคคลนั้นจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ถึงเวลานั้นจะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคม