จองได้ รับรถปลายปี เอ็มจี ยันบริษัทแม่หนุนลุย EV
เอ็มจี ยันบริษัทแม่พร้อมดันตลาด “อีวี” เพิ่มส่วนแบ่งตลาดประเทศไทย โดยยังคงเปิดรับจองรถ ทั้ง แซดเอส อีวี และ อีพี ตามปกติ แต่อาจต้องรอรับรถช่วงไตรมาสสุดท้าย
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี แม้จะยังมีขนาดตลาดที่เล็กมาก แตก็มีกระแสความสนใจที่น่าสนใจ รวมถึงการตอบรับของผู้บริโภคที่หันมาเลือกใช้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับราคาจำหน่ายลง จากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ สำหรับรถที่มีแผนประกอบในประเทศ ทั้งในส่วนของการลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% และการสนับสนุนเป็นเงินคันละ 7 หมื่นบาท สำหรับรถที่ติอตั้งแบตเตอรีไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง และ 1.5 แสนบาท สำหรับรถที่มีแบตเตอรีมากกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง
ซึ่งที่ผ่านมา มี 2 ยี่ห้อ ที่ออกมาประกาศราคาใหม่ ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาคือ โอร่า กู๊ดแคท ที่ลดลง 1.605 แสนบาท และ เอ็มจี ที่ปรับราคาทั้ง เอ็มจี อีพี และ แซดเอส อีวี ตั้งแต่ 2.27 - 2.46 แสนบาท
ซึ่งพบว่าโครงสร้างราคาใหม่ ได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เอ็มจี ที่ระบุว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังเข้าร่วมมาตรการรัฐ บริษัทมียอดจอง อีวี รวม 4,500 คัน และเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดอีวี
โดยในจำนวนี้ เป็นยอดจองของ อีพี 60% และ แซดเอส อีวี 40% ซึ่งเอ็มจี จะเริ่มทยอยส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่นให้กับลูกค้า ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากรอให้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนประกาศใช้อย่างเป็นทางการก่อน ส่วนผู้ที่จองในช่วงนี้ จะต้องรอการส่งมอบในช่วงประมาณไตรมาสสุดท้ายของปี
ทั้งนี้ ปัจจุบัน เอ็มจี ยังคงเปิดรับจอง อีวี ตามปกติ โดยสัญญาณจากบริษัทแม่ประเทศจีนยังเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือต้นทุน ขณะที่บริษัทก็ต้องการการสนับสนุนจากบริษัทแม่ในด้านการส่งมอบรถ เพราะเป็นจังหวะที่ดีในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในไทย
การตอบรับที่เพิ่มขึ้นของอีวี แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จุดที่จะทำให้อีวีได้รับความสนใจจากผู้บริโภคคือ ราคาต้องไม่ต่างจากรถที่ใช้เครื่องยนต์มากเกินไป หรือประมาณ 20-30% แต่ก่อนหน้านี้ราคาต่างกันประมาณ 50% แต่เมื่อมีมาตรการรัฐ ทำให้ราคาลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ที่บริโภครับได้
นอกจากนี้ เรื่องของระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะจุดชาร์จ ก็เป็นอีกปัจจียที่มีผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งปัจจุบัน การแพร่หลายมากขึ้นของจุดชาร์จ ทำให้ลุกค้ามีความมั่นใจในการใช้งานมากขึ้น
โดยการขยายจุดชาร์จมาจากหลายๆ ส่วน รวมถึงบริษัทรถยนต์ที่จำหน่ายอีวีเองที่ลงทุนเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และความมั่นใจให้ลูกค้า เช่น เอ็มจี ที่ติดตั้งสถานีชาร์จในเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายทุกแห่ง รวมกว่า 115 แห่ง การติดตั้งในพื้นที่ของพันธมิตร เช่น บางจาก
โดยทั้งหมดจะเป็นเครือข่ายการชาร์จ แบบชาร์จเร็ว หรือ ควิกชาร์จ
และปีนี้ก็มีแผนขยายต่อเนื่อง เป้าหมายคือจะต้องมีสถานีชาร์จทุกๆ 150 กม. ในเส้นทางสายหลักๆ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของ อีวี ไ่ม่ให้มีอุปสรรคในการใช้งาน
ขณะที่ภาพรวมของอีวี ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานว่า เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนสะสม 14,255 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 108.13% โดยแบ่งเป็น
- รถยนต์นั่งและรถประเภทต่างๆ 5,381 คัน เพิ่มขึ้น 103.36%
- รถยนต์นั่ง 5,229 คัน เพิ่มขึ้น 106.93%
- รถปิกอัพและรถแวน 35 คัน เพิ่มขึ้น 84.21%
- รถยนต์บริการธุรกิจ 1 คัน
- รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร 116 คัน เพิ่มขึ้น 16%
- รถสามล้อส่วนบุคคล 35 คัน เพิ่มขึ้น 40%
- รถรับจ้างสามล้อ 265 คัน เพิ่มขึ้น 17.78%
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 8,245 คัน เพิ่มขึ้น 116.23%
- รถจักรยานยนต์สาธารณะ 72 คัน เพิ่มขึ้น 278.95%
- รถโดยสาร 257 คัน เพิ่มขึ้น 114.17%