ยอดขายรถยนต์ เมษายน ยังโต ซูซูกิ มาแรง ขึ้นอันดับ 3 รถยนต์นั่ง
โตโยต้า รายงานยอดขายรถยนต์โดยรวม เดือนเมษายน 2565 โดยยังสามารถสร้างการเติบโตได้น่าพอใจ เทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากยอดจองที่ได้จากงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา
สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติยอดขายรถยนต์ เมษายน 2565 มียอดรวมทั้งสิ้น 63,427 คัน เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับเดือน เมษายน 2564
เมื่อแบ่งเป็นประเภท รถยนต์นั่ง มียอดขายรวม 20,492 คัน เพิ่มขึ้น 20.6% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) 42,935 คัน เพิ่มขึ้น 4.4%
ส่วนเฉพาะปิกอัพ 1 ตัน มีจำนวน 33,629 คัน เพิ่มขึ้น 3.1%
การขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ผู้บริโภคสามารถกลับมาใช้ชีวิตในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญในช่วงเดือนนี้ คือ ยอดจองรถจากงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 34 ที่มีจำนวน 31,896 คัน ไม่รวมยอดจองรถที่โชว์รูมดีลเลอร์รถยนต์ทั่วประเทศ ที่จัดแคมเปญส่งเสริมการขายเดียวกับในงานมอเตอร์โชว์ อีกเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทรถยนต์ต่างๆ เร่งการผลิตเต็มที่ เพื่อเร่งการส่งมอบรถใหม่ถึงมือลูกค้าได้ทันตามความต้องการ
ส่วนแนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมนี้ มีแนวโน้มเติบโตที่ดีต่อเนื่อง แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่เป็น “Low season” ก็ตาม เนื่องจากยังมีแรงส่งจากตัวเลขการส่งมอบรถที่รับจองในช่วงมอเตอร์โชว์
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ คือ การที่ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่กำลังจะได้รับการประกาศให้เป็น “โรคประจำถิ่น” เห็นได้จากสภาพการจราจรที่กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการผ่อนคลายมาตรการ “Work From Home” เพื่อให้พนักงานกลับเข้าทำงานตามปกติ โรงเรียนเริ่มเปิดเรียนปกติ รวมถึงการออกจากบ้านมาทำงานของประชาชน เป็นสิ่งผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมให้ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับผู้ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับ ในประเภทต่างๆ แบ่งเป็น
ตลาดรถยนต์รวม
- โตโยต้า 21,681 คัน เพิ่มขึ้น 13.2% ส่วนแบ่งตลาด 34.2%
- อีซูซุ 16,595 คัน เพิ่มขึ้น 11.0% ส่วนแบ่งตลาด 26.2%
- ฮอนด้า 5,107 คัน ลดลง 5.8% ส่วนแบ่งตลาด 8.1%
ตลาดรถยนต์นั่ง
- โตโยต้า 6,901 คัน เพิ่มขึ้น 39.2% ส่วนแบ่งตลาด 37.8%
- ฮอนด้า 3,969 คัน ลดลง 10.5% ส่วนแบ่งตลาด 21.7%
- ซูซูกิ 2,045 คัน เพิ่มขึ้น 18.0% ส่วนแบ่งตลาด 11.2%
รถปิกอัพ 1 ตัน
- อีซูซุ 14,149 คัน เพิ่มขึ้น 20.7% ส่วนแบ่งตลาด 48.7%
- โตโยต้า 10,406 คัน ลดลง 0.1% ส่วนแบ่งตลาด 35.8%
- ฟอร์ด 2,211 คัน ลดลง 2.6% ส่วนแบ่งตลาด 7.6%
รถพีพีวี 4,559 คัน
- โตโยต้า 2,199 คัน
- อีซูซุ 1,302 คัน
- มิตซูบิชิ 641 คัน
ส่วนยอดขายรถยนต์สะสมเดือน มกราคม-เมษายน ทำได้รวม 294,616 คัน เพิ่มขึ้น 16.8% จากช่วงเดียวกันปี 2564
- โตโยต้า 98,825 คัน เพิ่มขึ้น 31.6% ส่วนแบ่งตลาด 33.5%
- อีซูซุ 74,015 คัน เพิ่มขึ้น 15.3% ส่วนแบ่งตลาด 25.1%
- ฮอนด้า 30,731 คัน เพิ่มขึ้น 1.2% ส่วนแบ่งตลาด 10.4%
ในจำนวนนี้แบ่งเป็น
ตลาดรถยนต์นั่ง 96,218 คัน เพิ่มขึ้น 17%
- โตโยต้า 27,237 คัน เพิ่มขึ้น 39.9% ส่วนแบ่งตลาด 29.0%
- ฮอนด้า 23,865 คัน ลดลง 7.4% ส่วนแบ่งตลาด 25.4%
- มาสด้า 8,377 คัน เพิ่มขึ้น 11.0% ส่วนแบ่งตลาด 8.9%
รถปิกอัพ 1 ตัน 135,586 คัน เพิ่มขึ้น 21.2%
- อีซูซุ 62,373 คัน เพิ่มขึ้น 20.1% ส่วนแบ่งตลาด 46.0%
- โตโยต้า 52,730 คัน เพิ่มขึ้น 36.5% ส่วนแบ่งตลาด 38.9%
- ฟอร์ด 8,464 คัน ลดลง 7.2% ส่วนแบ่งตลาด 6.2%
รถพีพีวี มียอดขายรวม 20,815 คัน
- โตโยต้า 9,964 คัน
- อีซูซุ 6,234 คัน
- มิตซูบิชิ 2,781 คัน