ส.อ.ท. เผยเดือนมิ.ย. ส่งออกรถยนต์หดตัว 11% แต่ขายในประเทศโต 4.58%

ส.อ.ท. เผยเดือนมิ.ย. ส่งออกรถยนต์หดตัว 11% แต่ขายในประเทศโต 4.58%

ส.อ.ท. เผยส่งออกรถยนต์เดือน มิ.ย. ลดลง 11% เตรียมปรับคาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ทั้งปี 2565 จาก 1.8 ล้านคันเป็น 1.7 ล้านคัน ชี้สงครามยูเครนรวมทั้งการล็อกดาวน์จีน ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนชิพ ขณะที่ยอดขายในประเทศเพิ่มรับดีมานต์ที่เริ่มฟื้นตัว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือน มิ.ย. 2565 มียอดส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 73,887 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 11% เนื่องจากขาดชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) ทำให้ส่งออกลดลงในหลายตลาด ได้แก่ เอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ทำให้มูลค่าการส่งออก 42,781.17 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 13.18% สำหรับยอดการส่งออกรถยนต์ครึ่งแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 449,644 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.04% และมีมูลค่าส่งออกที่ 266,654.08 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.5%

ด้านยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 143,016 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.53% โดยเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ 20.69% คิดเป็นสัดส่วน 50.35% โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค. - มิ.ย. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 870,109 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 3.02%

"สงครามยูเครนที่ยังยืดเยื้อและการล็อกดาวน์เมืองสำคัญในจีนซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนชิพ ทำให้ยอดผลิตรถยนต์ในหลายประเทศ เดือน มิ.ย. ลดลง โดยบางค่ายรถยนต์และบางรุ่นมีทางเลือกให้ผู้บริโภครับรถที่ยังติดตั้งชิ้นส่วนไม่ครบซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เมื่อบริษัทได้รับชิ้นส่วนแล้วสามารถเข้ามาติดตั้งในภายหลังได้"

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. คาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในช่วงปลายเดือน ก.ค. เพื่อพิจารณาปรับเป้าคาดการณ์การผลิตรถยนต์ทั้งปี 2565 เดิมอยู่ที่ 1,800,000 ล้านคัน ลดลงอยู่ที่ 1,700,000 คัน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิพที่ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งผู้ประกอบการมีความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

ในขณะที่ ยอดขายรถยนต์ในประเทศในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 67,952 คัน ขยายตัวขึ้นจากเดือนก่อน 5.97% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.6% เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นและการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น การส่งออกที่เติบโตโดยเฉพาะสินค้าเกษตร การประกันรายได้เกษตรกร การกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเราเที่ยวด้วยกันเป็นต้น ทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น
 

สำหรับสถิติรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ เดือน มิ.ย. พุ่งไปที่ 877 คัน เพิ่มขึ้น 431.52% จากปีก่อนหน้า รวมรถอีวีจดทะเบียนใหม่สะสม 6 เดือนแรก อยู่ที่ 3,041 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 234.91% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นดีมานต์ของภาครัฐในการอุดหนุนเงินซื้อรถอีวี รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพงในปีนี้ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถอีวีมากขึ้น 

สำหรับรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท HEV เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 5,581 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 103.91% รวม HEV สะสม 6 เดือนแรก 32,527 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 61.58% และรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภท PHEV เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 1,085 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 59.56% รวม PHEV สะสม 6 เดือนแรก 5,947 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 55.88% 

โดยสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ณ 30 มิ.ย. 2565 รวมทั้งสิ้น 284,613 คัน แบ่งออกเป็น ประเภท BEV จำนวน 18,644 คัน คิดเป็น 6.55% ประเภท HEV จำนวน 228,894 คัน คิดเป็น 80.42% และประเภท PHEV จำนวน 37,075 คัน คิดเป็น 13.03%