“ซีพี” มั่นใจ “อีวีจีน” ยึดตลาดไทย “เอ็มจี”เร่งแผนรักษาตลาดเบอร์ 1

“ซีพี” มั่นใจ “อีวีจีน” ยึดตลาดไทย “เอ็มจี”เร่งแผนรักษาตลาดเบอร์ 1

“ซีพี” ประเมินตลาด“อีวี”ไทย มั่นใจรถจีนยึดตลาดไทยต่อ ชี้ค่ายญี่ปุ่น-เกาหลี-ยุโรปตามไม่ทัน ย้ำไม่ห่วงค่ายรถจีนแห่เข้ามาทำตลาดหลายยี่ห้อแข่ง “เอ็มจี” เร่งแผนรักษาตลาดเบอร์ 1 ชูจุดแข็งศูนย์บริการ-สถานีชาร์จ นำหน้าค่ายอื่น 3 ปี พร้อมเร่งเคลียร์รถค้างส่งมอบหมื่นคัน

เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ หรือ “เอสเอไอซี” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้งบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยี่ห้อ “เอ็มจี” เมื่อปี 2556 เพื่อทำตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในไทยและอาเซียน โดยมีการลงทุนเริ่มต้น 9,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตและออกวางจำหน่ายในปี 2557

ซีพีเข้าไปร่วมลงทุนกับเอสเอไอซีครั้งนี้ เพราะจีนต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศ และรัฐบาลจีนประกาศนโยบาย One Belt one road ทำให้จีนมาดูลู่ทางการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์หลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงไทย ซึ่งซีพีบอกกับเอสเอไอซี ว่าการมาลงทุนควรมีพันธมิตรที่ดีเพราะรถยนต์เป็นตลาดเสรีที่แข่งขันสูง จึงนำมาสู่ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างซีพีและเอสเอไอซี

สำหรับเอ็มจีเป็นแบรนด์เก่าที่มีผู้บริโภครู้จักมาก จึงเป็นอีก 1 เหตุผลที่ซีพีตัดส่วนร่วมทุนกับเอสเอไอซี โดยเริ่มต้นทำตลาดที่รุ่น เอ็มจี6 จนถึงปัจจุบันทำตลาดรถอีวี โดยเป็นการนำเข้าจากจีนภายใต้เงื่อนไขเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร 

ช่วงที่ผ่านมารถอีวีของจีนได้เข้ามาทำตลาดมากขึ้น รวมถึงล่าสุดบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า NETA V มาทำตลาดในไทย เพื่อทดลองตลาดก่อนที่จะประกอบรถอีวีในไทย โดยมีกลุ่ม ปตท.เป็นพันธมิตรในการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อน 

นอกจากนี้ บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน กำลังจะลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท หลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การที่มีบริษัทจีนเข้ามาลงทุนผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยหลายรายมากขึ้นถือเป็นเรื่องดี เพราะผู้บริโภคจะมีตัวเลือกของสินค้าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรถเอ็มจีมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย 70-80% ทำให้เอ็มจีเป็นผู้นำการตลาด แต่การที่มีรถอีวีจากจีนรายอื่นเข้ามาจะทำให้เกิดการแข่งขัน และจะได้ทำให้พนักงานของเอ็มจีตื่นเต้นในการทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น

"ผมไม่กังวลว่าจะมีรถอีวีจากจีนเข้ามาทำตลาดในไทยกี่ยี่ห้อ และมั่นใจว่ารถอีวีของจีนจะครองตลาดในไทยแน่นอน เพราะรถอีวีของญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้คงไม่สามารถมาแข่งขันกับรถอีวีจีนได้ทัน โดยเฉพาะการที่จีนเป็นตลาดรถอีวีใหญ่ที่สุดในโลกและมีสัดแบ่งการตลาดถึง 60% ทำให้จีนมีองค์ความรู้และมีการศึกษาตลาดรถยนต์ของไทยมาอย่างดีก่อนที่จีนจะเข้ามาทำตลาดรถอีวีในไทย”นายธนากร กล่าว

นอกจากนี้ การที่บริษัทจีนตัดสินใจเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ในไทยมีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การทำธุรกิจให้อยู่รอดได้ ซึ่งทำให้ต้องนำเอาความรู้รถอีวีมาจัดการเพื่อให้อยู่รอดได้ โดยถึงแม้ในอนาคตมีรถอีวีจากจีนมาทำตลาดในไทยและทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยของเอ็มจีจะลดลง แต่เชื่อว่าปริมาณรถของเอ็มจีที่จำหน่ายในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน

ตลาดรถยนต์ในไทยเหมาะที่จะใช้รถอีวี เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งค่าซ่อมรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมีมาก แต่ถ้าคนไทยหันมาใช้รถอีวีจะทำให้ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงถูกกว่าน้ำมัน 4 เท่า โดยรถเอ็มจีจ่ายค่าบำรุงรักษาไม่เกิน 8,000 บาท ในระยะทาง 100,000 กิโลเมตร

มั่นใจ“ญี่ปุ่น-ยุโรป”ตามไม่ทัน

นายธนากร กล่าวว่า หากมองการทำตลาดรถอีวีของค่ายรถยุโรปโดยเฉพาะค่ายรถเยอรมันไม่ค่อยประสบความสำเร็จในไทย เพราะตลาดส่วนใหญ่ของเขาอยู่ในยุโรป และเมื่อเข้ามาทำตลาดในไทยยังคงนำแนวคิดการตลาดมาใช้ในไทย ซึ่งบางแนวทางอาจจะไม่สอดคล้องกับคนเอเชียจึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ แน่นอนว่าเอ็มจีต้องการเป็นผู้นำตลาดรถอีวีในไทยต่อไป ซึ่งเอ็มจีได้เปรียบที่รถอีวียี่ห้ออื่นเข้ามาทำตลาดในไทยช้ากว่าเอ็มจีไป 3 ปี โดยการที่เอ็มจีจะรักษาความเป็นผู้นำไว้ได้อยู่ที่การพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจเพิ่มเติมว่าเอ็มจีพัฒนาระบบการรับรองและมาตรฐานสำหรับ EV Charging Station ผ่านการทดสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้าของเอ็มจี หรือ MG SUPER CHARGE ซึ่งมีแผนพัฒนา 500 แห่ง ทั่วประเทศ โดยรองรับการเดินทางไกลทุก 150 กิโลเมตร จะมีสถานีชาร์จ ในขณะที่การชาร์จ 1 ครั้ง จะวิ่งได้ 400 กิโลเมตร

นอกจากนี้ อีกเงื่อนไขที่ทำให้เอ็มจียังคงเป็นผู้นำตลาดรถอีวีในไทย คือ การมีศูนย์บริการลูกค้าในปัจจุบันถึง 170 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่ามากที่สุดสำหรับค่ายรถอีวี และแม้ว่าค่ายรถอีวีจากจีนบางแห่งได้เริ่มขยายศูนย์บริการลูกค้ามากขึ้น แต่การที่เอ็มจีนำหน้าค่ายรถอื่นไปถึง 3 ปี ทำให้มีการพัฒนาศูนย์บริการลูกค้าไปมากและจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เร่งเคลียร์รถค้างส่งมอบ

สำหรับปัญหาเร่งด่วนของเอ็มจีในขณะนี้ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ รถอีวีค้างส่งมอบประมาณ 10,000 คัน ซึ่งเป็นปัญหาเพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตชิปมีปัญหาเพราะระบบการขนส่งโลจิสติกส์ติดขัด และเมื่อตลาดรถเริ่มฟื้นตัวแต่การผลิตชิปไม่ทันกับความต้องการของตลาดจึงทำให้มีปัญหาชิปขาดแคลน

“ปลายปี 2565 ปัญหาชิปจะคลี่คลาย และในปีหน้าปัญหาขาดแคลนชิปจะไม่ติดขัดจนส่งผลต่อการผลิตรถอีก ส่วนปัญหาระหว่างจีนกับไต้หวันจะไม่ส่งผลกระทบกับการผลิตชิปสำหรับรถยนต์ เพราะไต้หวันผลิตชิปขนาด 7-10 นาโน เป็นส่วนใหญ่ และทำให้ชิปสำหรับผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ขาดแคลน” 

ทั้งนี้ ปัญหาขาดแคลนชิปได้ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายรถเอ็มจี และทำให้ต้องประกาศหยุดรับจองรถ EV รุ่น MG EP Plus ในวันที่ 13 พ.ค.2565

“เอ็มจี”เน้นความหลากหลายสินค้า

สำหรับเอ็มจี ถือว่าเป็นค่ายรถที่เน้นการเพิ่มความหลากหลายเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า หลังจากเริ่มต้นทำตลาดรถยนต์รุ่นแรกในไทย คือ เอ็มจี 6 ในปี 2557 โดยเปิดสายผลิตในประเทศ (CKD) ด้วย อย่างไรก็ตามยอดขายรถรุ่นบุกเบิกไม่ดีนัก หลังจากนั้นเสริมตลาดด้วยรถขนาดเล็ก สไตล์แฮทช์แบ็ค ซึ่งแม้ช่วงแรกประสบความยากลำบากในการทำตลาด ก่อนจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในตัวสร้างยอดขายหลัก

จากนั้น เอ็มจี เปิดตัวรถเสริมตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น เอ็มจี จีเอส รถเอสยูวี รุ่นแรก แต่ยอดขายไม่มากนักก่อนมาประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ เอ็มจี แซดเอส รถในตลาดบีเซ็กเมนต์ ก่อนที่จะมีเอสยูวีรุ่นที่ใหญ่ขึ้น ในตลาด ซีเซ็กเมนต์ตามมาคือ เอ็มจี เอชเอส และ รุ่นปลั๊กอิน ไฮบริด อย่าง เอชเอส พีเอชอีวี เป็นทางเลือก

ส่วนรถยนต์นั่ง ยังมี เอ็มจี 5 ที่เปิดตัวเจเนอเรชั่นแรก ด้วยยอดขายไม่สูงนัก แต่การมาของ เอ็มจี 5 รุ่น 2 พร้อมกับการปรับตำแหน่งการตลาดใหม่ โดยเป็นรถขนาดตัวถัง ซีเซ็กเมนต์ แต่ใช้เครื่องยนต์ในตลาด บีเซ็กเมนต์ แต่วางระดับราคาลงมาแข่งขันได้กับ รถอีโค คาร์ ทำให้ได้รับการตอบรับน่าพอใจ

ส่วนรถรุ่นล่าสุด ที่เอ็มจีเปิดตัวในเดือนนี้ คือ วีเอส เอชอีวี รถ เอสยูวี ไฮบริด ในกลุ่ม บีเซ็กเมนต์ ซึ่งใช้แพลทฟอร์มร่วมกับ แซดเอส แต่วางตลาดในระดับที่เหนือกว่า โดยอยู่กลางระหว่าง แซดเอส และ เอชเอส

นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์- ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า

เชวีเอส เอชอีวี เป็นสินค้าหลักของเอ็มจีที่มาสร้างจุดเปลี่ยนให้ตลาดกลุ่มบี_เอสยูวี ซึ่งเป็นตลาดที่เอ็มจีมองเห็นโอกาสการเติบโต

โดยวีเอส เอชอีวีมี 2 รุ่น คือ รุ่น D ราคา 8.59 แสนบาท และรุ่น X 9.19 แสนบาท โดยมีแคมเปญดาวน์เริ่มต้น 5% หรือดอกเบี้ย 1.69% หรือผ่อนเริ่มต้น 8,888 บาท แถมประกันภัยชั้น 1 พร้อม พ.ร.บ.ความคุ้มครอง 1 ปีรับประกันรถยนต์และระบบไฮบริดนาน 5 ปี หรือ 1.5 แสน กม.แบตเตอรี่ไฮบริดรับประกัน 10 ปี ไม่จำกัดระยะทาง และ1,000 คันแรก มีส่วนลด 1 หมื่นบาท สำหรับซื้ออุปกรณ์ตกแต่งหรือสีทูโทน

ดันตลาดอีวีโตก้าวกระโดด

นอกจากนี้ เอ็มจี ยังโดดเข้าสู่ตลาดปิกอัพ ด้วยรถ เอ็กซ์เทนเดอร์ และยังเป็นผู้ที่สร้างการเติบโตให้ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี หลังจากเปิดตัวอีวีรุ่นแรก คือ แซดเอส อีวี ในปี 2562 ทำให้ตลาดอีวีโดยรวมที่เคยมียอดขายหลักสิบคันต่อปี กระโดดขึ้นเป็นหลักพันคัน และหลังจากนั้น เอ็มจี ก็เสริมตลาดอีก 1 รุ่นคือ อีพี และปัจจุบัน ทั้งแซดเอส อีวี และอีพี ต่างก็มีบทบาทในตลาดอีวีของไทย

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัจจุบัน เอ็มจีมียอดส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้วกว่า 4,000 คันเป็นบทพิสูจน์ความเชื่อมั่นและไว้วางใจของการเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากคนไทยมากยิ่งขึ้น และยังมียอดค้างจองอีกจำนวนมาก

นอกจากการทำตลาดรถ อีวี แล้ว เอ็มจี ยังผลักดันระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าในหลากหลายมิติ เช่น การติดตั้งสถานีชาร์จไฟ MG SUPER CHARGE แล้วกว่า 150 จุดทั่วประเทศ การให้ความรู้และความเข้าใจ ในยานยนต์ไฟฟ้าแก่คนรุ่นใหม่ แผนการสร้างโรงงานผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่

ในด้านภาพรวมการตลาด เอ็มจี ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายแล้ว 15,315 คันเติบโต 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

รถที่มียอดจำหน่ายสูงสุดคือเอ็มจี 5 ที่มียอด 7,044 คัน ตามมาด้วย แซดเอส 4,189 คัน เอชเอส และ เอชเอส พีเอชอีวี 1,353 คัน ปิกอัพ เอ็กซ์เทนเดอร์ 1,621 คัน เอ็มจี 3 อีก 308 คัน

ส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือทั้ง อีพี และ แซดเอส อีวี มียอดรวม 800 คัน ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยตลาดอีวี ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ โดยเฉพาะเซมิ คอนดัคเตอร์ และแบตเตอรี ทำให้เอ็มจี ต้องหยุดรับจอง อีพี ชั่วคราวก่อนหน้านี้