‘BYD ATTO3’ นุ่ม นั่งสบาย ออกตัวไม่แรง แต่เร้าใจ
สัมผัสแรก ATTO3 รถ EV รุ่นแรกจาก BYD (บีวายดี) ที่เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 10 ตุลาคมนี ซึ่งตวรถน่าสนใจทีเดียว ทั้งการขับขี่ หรือว่าสเปครถโดยรวม
บีวายดี เข้ามาเปิดตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ และช่วงที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ทั้งการแต่งตั้งบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
จากนั้นก็คือการซื้อที่ดิน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมระยอง 36 จากดับเบิลยูเอชเอ เป็นการซื้อ-ขาย ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 25 ปี เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถในไทย หลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ
ส่วนรถรุ่นแรกที่จะเปิดตัวก็ยืนยันแล้วว่า คือ ATTO3 ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตามช่วงนี้บีวายดีนำรถเข้ามาให้ได้ลองกันพอหอมปากหอมคอก่อน แต่ยังไม่ได้ระบุสเปคต่างๆ ที่ต้องรอวันเปิดตัว แต่ก็แย้มๆ ว่าคล้ายกับที่เปิดตัวในออสเตรเลียนั่นแหละ
ซึ่งมีอยู่ 2 รุ่นย่อย คือ
Standard Range ที่ติดตั้งแบตเตอรีขนาด 49.62 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการใช้งานต่อการชาร์จ 1 ครั้ง 410 กม.ตามมาตรฐาน NEDC และ 345 กม. ตามมาตรฐาน WLTP
Extended Range กับแบตเตอรี 60.48 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จ 1 ครั้ง ขับได้ไกลสุด 480 กม. (NEDC) และ 420 กม. (WLTP)
มอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียวกัน ให้กำลังสุงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 7.3 วินาที ขับเคลื่อนล้อหน้า
BYD ATTO3 มีขนาดความมิติตัวถัง (ยาว x กว้าง x สูง) 4,455 x 1,875 x 1,615 มม. ความยาวฐานล้อ 2,720 มม. ความกว้างล้อหน้า:หลัง 1,575 : 1,580 มม. ความสูงใต้ท้องรถ 175 มม. น้ำหนักรถ 1,680 - 1,750 กก.
สำหรับอุปกรณ์มาตรฐานที่ BYD ATTO3 มีมาให้สำหรับเวอร์ชั่น ออสเตรเลีย ถือว่าครบครันทีเดียว เริ่มจากภายนอก ไฟหน้าแอลอีดี ปรับไฟสูงอัตโนมัติ ระบบหน่วงเวลาปิดไฟหน้า ไฟสำหรับขับขี่เวลากลางวันแอลอีดี ไฟท้ายฟูล แอลอีดี ไฟเลี้ยวซีเควนเชียล ล้ออัลลอย 18 นิ้ว ติดตั้งยางขนาด 215/55 R18
หลังคาพาโนรามิคซันรูฟ ขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งเบาะหน้า และเบาะหลัง กระจกมองข้างปรับและพับด้วยไฟฟ้า ฝาท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น ชุดมาตรวัดแบบดิจิทัล 5 นิ้ว จอมอนิเตอร์ตรงกลาง 12.8 นิ้ว ที่มีลูกเล่นเพิ่มเติมคือปรับได้จะเป็นแนวตั้ง หรือแนวนอน ตามใจชอบ
รองรับการเชื่อมต่อแอ๊ปเปิ้ล คาร์เพลย์ และแอนดรอยด์ ออโต้ ระบบสั่งงานด้วยเสียง ช่องเชื่อมต่อยูเอสบี มีทั้ง ยูเอสบี-เอ และยูเอสบี-ซี สำหรับเบาะหน้าและเบาะหลัง ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ และป้องกัน PM 2.5
การดีไซน์ช่องแอร์ดูแตกต่าง มีเอกลักษณ์ เช่นเดียวกับมือจับเปิดประตู
ดิสค์เบรก 4 ล้อ ถุงลม 7 ตำแหน่ง ระบบเตือนการรัดเข็มขัดเบาะหลัง แจ้งเตือนลมยาง จุดยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบออโต้ เบรก โฮลด์ เบรก เอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก (EBD)
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TCS) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HDC) กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา และยังมีเซ็นเซอร์ด้านหน้า 2 ตำแหน่ง ด้านหลัง 4 ตำแหน่ง
ระบบเตือนการชนด้านหนัา พร้อมระบบช่วยเบรก ระบบเตือนการชนด้านหลัง ระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา เป็นต้น
การลองขับ จัดกันที่สนามปทุมธานี สปีดเวย์ การลองอาจไม่ได้เต็มที่นัก แต่ก็พอให้รับรู้อารมณ์ของรถได้หลายอย่าง
เรื่องของอัตราเร่ง ทดสอบแรงบิดตั้งแต่ออกตัว ใน 3 โหมดการขับขี่ คือ Eco, Normal และ Sport ความรู้สึกที่ได้แตกต่างกันบ้างไม่มากนักสำหรับ Eco และ Normal ยกเว้นโหมด Sport ที่แรงดึงเพิ่มขึ้นชัดเจน
การเซ็ทการออกตัว ATTO3 ไม่ได้ปล่อยกำลังเต็มที่ตั้งแต่กระทืบคันเร่งลงไป แต่จะมีจังหวะรอให้รถเคลื่อนตัวสัก 1-2 วินาที ก่อนที่จะส่งกำลังเต็มที่เพื่อกระชากรถให้พุ่งไปข้างหน้าอย่างทันอกทันใจ เรียกว่าไม่ได้ออกตัวแบบแรงๆ แต่มีความเร้าใจตามมา
ผมว่าก็ดี เกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัย เพราะหากปล่อยให้มอเตอร์ทำงานเต็มที่ทันทีที่กดคันเร่ง แรงบิดมากๆ ที่มาเร็ว อาจมีผลต่อการทรงตัวได้ โดยเฉพาะถ้าอยู่พื้นผิวที่ไม่ดีนัก
และที่ผมชอบ เป็นจังหวะการปรับเปลี่ยนความเร็วช่วงที่กำลังข้บขี่มากกว่า ซึ่งเรียกกำลังมาได้เร็ว นั่นหมายความว่ามันจะทำงานได้ดีในการใช้งานจริงเมื่อต้องเร่งแซง หรือจังหวะที่ต้องการกำลังเป็นพิเศษ เช่น เปลี่ยนช่องทาง เข้า-ออก ระหว่างทางหลัก กับทางคู่ขนาน
การเซ็ทช่วงล่าง ซึ่งด้านหน้าเป็นแบบ แมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังมัลติลิงค์ เซ็ทมาค่อนข้างนุ่มนวล ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี รับรู้ได้จากการลองในเส้นทางที่มีวัสดุขวางถนนสูงประมาณ 1 นิ้ว วางสลับล้อซ้ายขวาสัก 10 อัน สามารถเติมคันเร่ง รูดทับไปได้เลย
และเมื่อขับขี่ในเส้นทางอย่างเช่น เลนเชนจ์ หรือ เส้นทางที่วนเป็นเลข 8 รอบกรวยที่ตั้งเอาไว้ ก็รับรู้ได้ถึงการโยนตัวของตัวถังอยู่บ้าง แต่ที่น่าแปลกใจและทำได้ดีก็คือ การควบคุมรถที่ยังทำได้ง่าย เปลี่ยนช่องทางไปมาแบบรวดเร็ว ยังยึดเกาะถนนได้ดี การขับเป็นเลข 8 สามารถควบคุมให้รถเกาะแนบไปกับแนวกรวยที่ตั้งไว้ได้
พวงมาลัยน้ำหนักดี (ปรับได้ 2 ระดับ) มีความแม่นยำ ช่วยให้นำพารถไปในทิศทางที่ต้องการได้ง่าย และน่าจะเป็นรถที่ขับในที่แคบๆ ได้ดี เพราะรู้สึกว่าวงเลี้ยวแคบ เอาไว้รอดูข้อมูลทางเทคนิคอย่างเป็นทางการอีกที
ห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งสบาย ผมชอบเบาะหลังที่เบาะรองนั่งค่อนข้างยาว ช่วงรองก้น ต้นขามาใกล้ข้อพับทำให้นั่งไม่เมื่อย และมีพื้นที่วางเท้า และพื้นที่ช่วงเข่าพอควร และยังยกเบาะขึ้นมาค่อนข้างสูงทำให้เข่าไม่ต้องชันขึ้นมา
เบาะผู้ขับขี่ นุ่มมาก ต้องย้ำว่ามาก ทำให้นั่งได้สบาย เหมือนนั่งโซฟาดีๆ ตัวหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่า ถ้าต้องนั่งนานๆ เดินทางไกลๆ จะเป็นอย่างไร จะสบายๆ หรือ เมื่อย ต้องรอดูกันอีกที แต่สำหรับการขับในสนามนี้นั่งได้สบาย
แต่ที่สำคัญคือ การออกแบบโอบกระชับลำตัวดี ทำให้ตัวเราไม่ลื่นไหลในขณะที่รถเปลี่ยนทิศทางไปมา เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้ผู้ขับมีสมาธิอยู่กับการขับรถ
ส่วนการเล่น การควบคุมระบบต่างๆ รวมถึงหน้าจอขนาดใหญ่ กับเวลาที่มีจำกัดจึงยังไม่ได้เล่นอะไรมากนัก เอาไว้มีเวลาลองกันยาวๆ ค่อยว่ากัน
นอกจากการลองขับดูอารมณ์ของรถแล้ว ก็ยังลองใช้ระบบต่างๆ ที่มีในรถ เช่น ระบบเตือนการออกนอกเส้นทางและระบบรักษารถให้อยู่ในเส้นทาง ซึ่งก็ทำงานได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ทำงานจนถึงหยุดนิ่ง และออกตัวใหม่ หากหยุดไม่เกิน 3 วินาที ก็ทำงานได้แม่นยำ
และที่โดดเด่นและมีประโยชน์ต่อาการใช้งานคือ การควบคุมความเร็วในทางโค้ง ที่ระบบจะตรวจจับรถคันหน้า แม้ว่าตัวรถจะไม่ได้อยู่หน้ารถโดยตรง แต่อยู่เฉียงไปทางด้านซ้ายหรือขวาก็ตาม
รวมถึงระบบเตือนรถมาด้านหลังเมื่อเปิดประตู (DOW) ทั้งสัญญาณไฟ และเสียงพูดเตือน แต่เท่าที่ลองเหมือนว่า การเตือนน่าจะเร็วกว่านี้ แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เรื่องพวกนี้จริงๆ แล้ว คนในรถดูเองนั่นแหละดีที่สุด
ทั้งหมดคือการลองขับสั้นๆ ในพื้นที่ปิด แต่ถ้าจะให้สรุปเบื้องต้นผมว่าการตอบสนองของมเตอร์ทำได้ดี ช่วงล่างน่าจะช่วยให้ขับได้สนุก ส่วนระยะทางที่ใช้งานได้จริง เอาไว้ลองยาวๆ แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ