ปัญหากฎหมายควบคุมมลพิษจากยานพาหนะทางบก | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

ปัญหากฎหมายควบคุมมลพิษจากยานพาหนะทางบก | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

มลพิษทางอากาศเป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่าสี่ล้านคนต่อปีตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในระดับสูงมีความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ

เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคภูมิแพ้ประเภทต่างๆ การรบกวนของระบบประสาทส่วนกลาง และปัญหาระบบไหลเวียนโลหิต อากาศเสียจากยานพาหนะทางบกเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะในเขตเมือง

กว่าร้อยละ 90 ของประชากรโลกได้รับอากาศที่มีคุณภาพต่ำกว่าค่ามาตรฐาน มลพิษทางอากาศที่สำคัญ ได้แก่ ฝุ่นละออง (PM 2.5 และ PM 10) ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และโอโซน

ปัญหากฎหมายควบคุมมลพิษจากยานพาหนะทางบก | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

ศาสตราจารย์อำนาจ วงศ์บัณฑิต ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของสหภาพยุโรปที่ประเทศไทยได้รับแนวความคิดบางส่วนมาใช้ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด กฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะทางบกมี 3 กลุ่มคือ 

  1. กฎหมายที่ใช้ควบคุมมาตรฐานการผลิตยานพาหนะ เครื่องยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
  2. กฎหมายที่ใช้กำหนดมาตรฐานคุณภาพของเชื้อเพลิงที่นำไปใช้กับเครื่องยนต์ และ
  3. กฎหมายที่ใช้ควบคุมยานพาหนะที่จะนำมาจดหรือต่อทะเบียนหรือกำลังใช้งานอยู่ในถนน 

ในภาพรวมนั้นประเทศไทยมีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพียงพอในการจัดการกับปัญหาการปล่อยอากาศเสียจากยานพาหนะทางบก แต่ก็มีประเด็นที่ควรจะต้องได้รับการพิจารณาดังต่อไปนี้เพื่อช่วยให้การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะทางบกมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. มาตรฐานการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดยังไม่ครอบคลุมสารบางชนิด

เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไทยจะตรวจสอบการปล่อยสารที่ทำให้เกิดมลพิษบางตัวเท่านั้น คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอนสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และค่าควันดำจากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ไม่ได้มีการตรวจสอบการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจนและสารมลพิษอนุภาคเช่นในสหภาพยุโรป 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารมลพิษอนุภาคขนาด PM 10 และ PM 2.5 ที่นโยบายและแผนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ความสนใจมากขึ้นในการควบคุม ดังนั้นจึงเสนอให้มีการตรวจสอบการปล่อยสารทั้งสองตัวนี้ด้วย

ปัญหากฎหมายควบคุมมลพิษจากยานพาหนะทางบก | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

2. มาตรฐานควบคุมมลพิษที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน

เช่น ในกรณีของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 หากเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก อัตราการปล่อยมลสารจะวัดเป็นหน่วยน้ำหนักต่อระยะทาง คือ กรัมต่อกิโลเมตร (g/km) 

หากเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่หน่วยการวัดจะเป็นหน่วยน้ำหนักต่อหน่วยการใช้พลังงาน คือ กรัมต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (g/kWh) ซึ่งเป็นการนำระบบของสหภาพยุโรปมาใช้  

ในขณะที่การรับจดทะเบียนรถ การตรวจสภาพรถตามกำหนดเวลาและการสุ่มตรวจยานพาหนะข้างถนนใช้หน่วยการวัดเป็นร้อยละของปริมาตร การนำวิธีการตรวจสอบการปล่อยอากาศเสียจากยานพาหนะทั้งสองระบบมาใช้กับรถยนต์คันเดียวกันย่อมทำให้มีความซ้ำซ้อนในการทำงาน เสียงบประมาณและบุคลากรในเรื่องเดียวกันโดยไม่จำเป็น 

ศาสตราจารย์อำนาจ เสนอว่า หากเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว ควรจะตรวจสภาพรถเรื่องการปล่อยอากาศเสียโดยใช้ระบบตามมาตรฐานดังกล่าวเพราะวิธีการดังกล่าวได้คำนึงถึงอัตราการปล่อยอากาศเสียกับระยะทางซึ่งแสดงถึงอัตราการประหยัดพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. มาตรการควบคุมมลพิษที่ซ้ำซ้อนกันตามกฎหมายต่างๆ

เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ในขั้นตอนการจดทะเบียนรถแล้ว บทลงโทษตามกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ไม่ซ้ำซ้อนกับบทลงโทษในขั้นตอนการสุ่มตรวจยานพาหนะข้างถนนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 

นอกจากนี้หากพิจารณาขั้นตอนการสุ่มตรวจยานพาหนะข้างถนนซึ่งกระทำได้ภายใต้กฎหมายทั้งสี่ฉบับและยานพาหนะนั้นไม่ผ่านมาตรฐานของกฎหมายทั้งหมด ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ศาสตราจารย์อำนาจ เห็นว่าควรจะลดการบังคับใช้ฐานความผิดในเรื่องนี้ตามกฎหมายต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด เช่น อาจจะใช้ฐานความผิดเกี่ยวกับการระบายอากาศเสียจากยานพาหนะเกินมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฉบับเดียว

4. ปัญหาการกำหนดให้รถบรรทุกและรถบัสเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ

ภายใต้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้ ศาสตราจารย์อำนาจ เสนอให้แก้ไขนิยามคำว่า “ยานพาหนะ” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้หมายความรวมถึงรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกด้วย

5. มาตรฐานควบคุมมลพิษยังไม่เข้มงวดเพียงพอ

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับการผลิตเครื่องยนต์หลายชนิดในประเทศไทยตรงกับมาตรฐาน Euro 4 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สหภาพยุโรปเลิกใช้แล้วเนื่องจากได้มีการพัฒนามาตรฐานใหม่เป็น Euro 5 และ Euro 6 ที่มีความเข้มงวดกว่ามาตรฐานเดิม มาตรฐานการผลิตของประเทศไทยในเรื่องนี้จึงไม่เท่ากับมาตรฐานสากล \

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยที่มีการประกาศตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ที่ใช้กับเครื่องยนต์แล้วพบว่ามีมาตรฐานใกล้เคียงกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปย

กเว้นปริมาณของกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยมีความเข้มงวดน้อยกว่าของสหภาพยุโรปซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

6. การประสานงานระหว่างหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

เกี่ยวกับการปล่อยอากาศเสียจากยานพาหนะทั้งหมดควรมีการทำความตกลงกับกรมการขนส่งทางบกว่า หากยานพาหนะใดฝ่าฝืนกฎหมายฉบับที่เกี่ยวข้องและยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงการปล่อยอากาศเสียให้ได้มาตรฐาน

หรือยังไม่ยอมชำระค่าปรับในการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว กรมการขนส่งทางบกจะไม่ยอมจดทะเบียนหรือต่อทะเบียนให้แก่ยานพาหนะดังกล่าวเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อพิจารณากฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องจากการศึกษาวิจัยของ ศาสตราจารย์อำนาจ วงศ์บัณฑิตจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพียงพอในการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ

แต่ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายบางเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกฎหมายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

เช่น การกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะทางบกและมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงให้สูงขึ้นเทียบเท่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป การปรับปรุงให้มาตรฐานที่ออกภายใต้กฎหมายแต่ละฉบับเป็นระบบเดียวกัน และมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย

(ที่มา: มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะทางบก)