ยานยนต์ไฟฟ้าบนถนนสู่อนาคตที่ยั่งยืน

สวัสดีครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ กระแสความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicles : EV) ของคนไทยได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

จากปัจจัยหนุนหลายประการ ทั้งเหตุผลในแง่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อกิโลเมตรที่ต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine : ICE) และการปล่อยมลพิษที่น้อยกว่าจนแทบจะเป็นศูนย์ นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ายังให้การขับขี่ที่เงียบกว่าเนื่องจากไม่มีเสียงดังจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงแบบรถยนต์ปกติและรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นยังมาพร้อมกับสมรรถนะและเทคโนโลยีขั้นสูง

ที่ส่งมอบประสบการณ์ขับขี่ที่พิเศษกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปทั่วไป อาทิ ระบบเบรกแบบจ่ายพลังงานกลับสู่แบตเตอรี่ (Regenerative Braking) ที่เป็นระบบเปลี่ยนพลังงานจากการเหยียบเบรกกลับไปเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อเพิ่มระยะทางในการขับขี่ และในบางรุ่น ผู้ขับขี่สามารถกำหนดเวลาการชาร์จเพื่อใช้ประโยชน์จากช่วงที่ราคาค่าไฟฟ้าปรับตัวลดลงได้อีกด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการตอบสนองอุปสงค์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ออกนโยบายการส่งเสริมให้เกิดการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเสนอให้ประเทศไทยผลิตและจดทะเบียนยานยนต์ทั้งหมดเป็นยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2035 หรือที่รู้จักกันในชื่อนโยบาย ZEV@2035

พื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่มิติด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น นโยบายดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถวางแผนเพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้กว่า 100,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี รถยนต์ไฟฟ้ายังมีข้อควรพิจารณาอีกหลายประการ ประเด็นแรกคือหากใครที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าในช่วงราคาระหว่าง 0.75 แสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยระยะทางขับขี่ที่จำกัด โดยรถบางรุ่นสามารถขับขี่ได้สูงสุดไม่เกิน 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

ขณะที่รถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันบางรุ่นสามารถเดินทางได้หลายร้อยกิโลเมตรจากการเติมน้ำมันเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจจะไม่สะดวกนักสำหรับผู้ที่มักขับรถทางไกล ประเด็นถัดมาคือ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จที่ยังมีจำกัดเมื่อเทียบกับเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

อีกทั้งการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ายังใช้เวลาค่อนข้างนานหากเทียบกับการแวะเข้าปั๊มน้ำมันซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีและข้อควรพิจารณาอีกประการสำหรับผู้ขับขี่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นั่นคือแบตเตอรี่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบส่งกำลัง ก่อนหน้านี้มีการศึกษาว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอาจสร้างมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

โดยส่วนใหญ่มาจากกระบวนการการผลิตแบตเตอรี่ โดยแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้านั้นประกอบขึ้นจากเซลล์ลิเธียมไอออนซึ่งต้องอาศัยวัตถุดิบหลายชนิด อาทิ โคบอลต์ ลิเธียม และธาตุหายากอื่นๆ ดังนั้น กระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระนั้นมีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาหลายชิ้น อาทิ จาก Ricardo PLC for the Fuels Institute  ซึ่งเป็นองค์กรด้านพลังงานที่ไม่แสวงผลกำไรออกมาชี้ว่า รถยนต์เครื่องสันดาปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 66 ตัน ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 39 ตันเมื่อวิ่งเป็นระยะทาง 300,000 ไมล์ (321,869 กิโลเมตร) เท่ากัน และที่น่าสนใจคือ ในระยะทาง 19,000 ไมล์ (30,577 กิโลเมตร) การปล่อยมลพิษจากกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวจะถูกชดเชยไปจนหมดจากการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่า

  อีกหนึ่งทางออกสำหรับประเด็นนี้คือ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นก่อนหน้าเริ่มหมดอายุการใช้งาน ปัญหาใหญ่คือแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว ในสหรัฐอเมริกาแบตเตอรี่รถยนต์เครื่องสันดาปเก่ากว่าร้อยละ 99 จะถูกนำไปรีไซเคิล ขณะที่อัตราการรีไซเคิลของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบแบตเตอรี่ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอีกขั้น เราอาจจะเห็นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามือสองที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อันจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคทั้งแง่การประหยัดค่าใช้จ่ายและดีสำหรับโลกของเราไปพร้อมกัน

นอกจากจะพิจารณาข้อดีของถยนต์ไฟฟ้าด้านการช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้ขับขี่ยังต้องชั่งน้ำหนักข้อจำกัดข้างต้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานประจำวัน ความครอบคลุมของสถานีชาร์จ รวมถึงความจุแบตเตอรี่ แม้ว่าเราจะยังเห็นความท้าทายอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ประเทศเปลี่ยนผ่าน (Transition) เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และทำให้เรามุ่งหน้าบนถนนสีเขียวได้อย่างยั่งยืนต่อไปครับ