B Autohaus เปิดเอาท์เล็ตเขตฟรีโซน โชว์รถพรีเมียมนำเข้ากว่า 100 คัน
บี ออโต้ฮาวส์ (B Autohaus) ลุยเขตฟรีโซน ผุด เอาท์เล็ตรถนำเข้าใหญ่สุดในประเทศ รองรับรถกว่า 100 คัน สอดรับแผนธุรกิจ โชว์รถจริงก่อนลูกค้าตัดสินใจซื้อ งดพรีออเดอร์
ยุคหนึ่ง ธุรกิจนำเข้ารถยนต์อิสระ หรือที่เรียกกันว่า เกรย์ มาร์เก็ต เฟื่องฟูในไทย มีผู้ประกอบการจำนวนมาก เหตุผลหลักที่ผลักดันตลาดก็คือ ความรวดเร็วในการนำเข้ารถจากต่างประเทศ เนื่องจากผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการใช้เวลานนาน รวมถึงระดับราคาที่จูงใจ
แต่หลังจากผู้แทนจำหน่ายปรับตัว ทั้งการเปิดตัวรถเร็วขึ้น ปรับโครงสร้างราคา รวมถึงมาตรการไม่รับรถเข้าศูนย์บริการ หรือ รับแต่ต้องมีค่าแรกเข้า และระดับความสำคัญตามหลังลูกค้าที่ซื้อจากบริษัท รวมถึงแนวทางการทำธุรกิจของผู้นำเข้าบางรายที่เป็นสีเทาสมชื่อ และไม่ดูแลลูกค้าหลังการขาย ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายหายไปจากตลาด
แต่ผู้ที่ยังคงดำเนินธุรกิจมีหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจครบวงจร ทั้งจำหน่าย เซอร์วิส หรือการซ่อมแซม
จุดขายหลักๆ ที่ทำให้ผู้นำเข้าอิสระยังคงอยู่ได้ คือ มีสินค้าที่ผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการไม่ทำตลาด หรือ มีรุ่นพิเศษ และความรวดเร็วในการรับรถ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจลูกค้าได้เสมอ
บี ออโต้ฮาวส์ (B Autohaus) เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าอิสระที่เติบโตที่โดดเด่น และขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีโชว์รูมและศูนย์บริการหลักที่ถนนวิภาวดี มีโชว์รูมที่ลุมพินี มีศูนย์ซ่อมสีและตัวถังของตัวเอง และยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ฟิล์มแบบพ่น SKINZ ซึ่งรองรับลูกค้าที่ต้องการสีพิเศษ โดยไม่ต้องทำสีรถใหม่ รวมถึงบริการสปารถ เป็นต้น
ปี 2565 ที่ผ่านมา บี ออโต้ ฮาวส์ มียอดขาย 480 คัน เติบโต 80% โดยยอดขายหลักคือ ปอร์เช่ สัดส่วนประมาณ 40% ตามมาด้วยรถจากญี่ปุ่น เช่น แลนด์ครูสเซอร์ สเต็ปแวกอน ฯลฯ 20% ตามมาด้วยกลุ่มเบนท์ลีย์ จี-คลาส และรถสปอร์ตอื่นๆ เช่น คอร์เว็ตต์ แมคลาเรน เป็นต้น
ส่วนปีนี้บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจที่สำคัญคือ การขยายสาขาใหม่ ในพื้นที่ท่าเรือสหไทย ย่านปู่เจ้าสมิงพราย
ความน่าสนใจของขานี้คือ การเป็นเอาท์เล็ต ที่สามารถจอดรถได้กว่า 100 คัน มากที่สุดในประเทศไทย
การมีรถจริงให้ลูกค้าได้สัมผัสโดยตรงก่อนซื้อ อัครวัชร คงสิริกาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ สุธิสา คงสิริกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ ร่วมกันให้ข้อมูลว่ามีผลดี คือ ลูกค้าสามารถตัดสินเลือกซื้อรถคันที่ชมได้ทันที และสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทที่ต้องการให้ลูกค้าเห็นรถจริง มากกว่าเห็นรถในกระดาษ และยังเป็นการแก้ปัญหารถส่งมอบล่าช้า ส่งมอบไม่ได้ หรือ ส่งมอบรถที่มีสเปคไม่ตรงกับที่ลูกค้าต้องการ
ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในกรณีทำตลาดด้วยการจองล่วงหน้า (pre order)
“โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ทั่วโลกเผชิญโควิด-19 ที่มีผลต่อการผลิตทั่วโลกทำให้รถส่งมอบล่าช้า หรือส่งมอบไม่ได้ ดังนั้นเราจึงมีแผนที่จะไม่รับพรี ออเดอร์ แต่จะนำรถเข้ามาสต็อก แล้วให้ลูกค้ามาดูตัวจริง เมื่อตัดสินใจซื้อก็สามารถรับรถได้เลย”
ซึ่งแนวทางนี้มีข้อดีคือลูกค้าพอใจที่ได้รับรถทันที แต่ความท้าทายคือ การตัดสินใจเลือกรุ่นรถเข้ามาให้ตรงกับความต้องการลูกค้า ซึ่งตรงนี้อยู่ที่การมองแนวโน้มตลาด และประสบการณ์ในการทำตลาด โดยแนวทางหนึ่งที่บริษัทดำเนินการคือ การเลือกนำเข้าในรุ่น หรือสีที่หายาก
สำหรับสาขาใหม่ที่เพิ่งเปิดบริการ อยู่ในเขตฟรีโซน ที่ควบคุมโดยกรมศุลกากร มีข้อดีคือ เมื่อนำรถเข้ามายังไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ลดภาระต้นทุนส่วนนี้ลงได้ และเมื่อลูกค้าเลือกซื้อจึงผ่านกระบวนการต่างๆ รวมถึงเสียภาษี ก่อนที่จะนำรถออกนอกพื้นที่
ซึ่งแนวทางนี้ผู้บริหารบี ออโต้ฮาวส์ ระบุว่าเป็นสิ่งที่รัฐเองก็ส่งเสริม เพราะควบคุมได้ง่าย เนื่องจากสินค้าห้ามเคลื่อนย้ายแม้แต่ตำแหน่งจอดในเอาท์เล็ต สินค้าจนกว่าจะได้รับอนุญาต และในอนาคตเชื่อว่าจะมีผุ้ประกอบการทั้งรถยนต์และสินค้าอื่นๆ ที่จะดำเนินธุรกิจตามแนวทางนี้
และการเลือกตั้งเอาท์เลตในเขตฟรีโซนของสหไทยยังมีความสะดวกในการขนส่งอีกด้วย เพราะท่าเรือสหไทยสามารถรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ด้วยท่าเรือที่ลึก 80 เมตร ทำให้เมื่อขนรถขึ้นจากเรือก็สามารถนำขึ้นยังเอาท์เล็ตได้เลย ต่างจากเดิมที่ต้องขึ้นที่แหลมฉบัง ผ่านพิธีการ แล้วจึงขนส่งมายังกรุงเทพฯ
นอกจากการขยายสาขาใหม่แล้ว บริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจอื่นๆ ด้วยการปรับสาขาวิภาวดีให้เป็นคอมเพล็กซ์ เป็นอาคาร 8 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 1 หมื่น ตร.ม. มีความโดดเด่นในธุรกิจรถยนต์บนถนนวิภาวดี คาดใช้เวลา 5 ปี โดยช่วงนี้ได้เตรียมการสร้างโชว์รูมและศูนย์บริการชั่วคราวทดแทนในพื้นที่ด้านหลังของสาขาปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังมีแผนรุกตลาดมือสองอย่างจริงจัง หลังจากที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในปัจจุบัน และสร้างฐานลูกค้าใหม่
รวมถึงการเตรียมเปิดตัวชุดแต่งใหม่จากประเทศอังกฤษ ที่บริษัทจะเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จากปัจจุบันเป็นตัวแทน 2 ยี่ห้อ คือ โรเว่น (ROWEN) จากญี่ปุ่น และเทคอาร์ต (TECHART) จากเยอรมนี