“มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่” พวงมาลัย - ช่วงล่าง ต้องยกนิ้วให้
มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ เปลี่ยนรุ่นใหม่ ครั้งแรกในรอบ 9 ปี มาพร้อมความหวังที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในไทย และส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศ รวมถึงส่งกลับไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น มาดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างครั้งนี้ ทั้งโครงสร้าง เทคโนโลยี ทำให้น่าสนใจมากขึ้นแค่ไหน
มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการออกแบบสำหรับ มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ ซึ่งเป็นเจเนอเรชัั่นที่ 6 ของตระกูล L200 ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวถัง เครื่องยนต์ เฟรม ระบบกันสะเทือน วัสดุภายใน หรือว่าเทคโนโลยี ส่วนจุดเด่นที่เด่นกว่าค่ายอื่นๆ คือ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ full time นั้นคงยังมีอยู่เช่นเดิม ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD-II
แต่ว่าวันนี้ผมอยู่กับ Plus 2.4 Ultra AT ปิกอัพ 4 ประตู ขับเคลื่อน 2 ล้อยกสูง ซึ่งเป็นตัวท็อปของฝั่งขับเคลื่อน 2 ล้อ ค่าตัว 1,027,000 บาท
ทั้งนี้ไทรทัน ใหม่ จะค่อยๆ ทยอยส่งรุ่นย่อยลงมาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า รวม 21 รุ่นย่อย ซึ่งรวมถึงรุ่นตัวเตี้ย ที่วัยรุ่นนิยม และรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบคู่ 204 แรงม้า ที่คงจะได้เห็นกันช่วงต้นปีหน้า
แต่ช่วงแรกที่เปิดตัวมี 8 รุ่นย่อย และเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบเดี่ยว แบบแปรผัน หรือ VG Turbo ประกอบด้วย
ซิงเกิล แค็บ
- 2.4 Pro 4WD ราคา 699,000 บาท
- 2.4 Pro 4WD AT ราคา 749,000 บาท
ดับเบิล แค็บ
- Plus 2.4 Pro ราคา 820,000 บาท
- Plus 2.4 Prime ราคา 893,000 บาท
- Plus 2.4 Prime AT ราคา 938,000 บาท
- Plus 2.4 Ultra ราคา 962,000 บาท
- Plus 2.4 Ultra AT ราคา 1,027,000 บาท
ดับเบิล แค็บ ขับเคลื่อน 4 ล้อ
- 2.4 Prime 4WD ราคา 1,016,000 บาท
ตัวถังดีไซน์ใหม่ ขนาดใหญ่ขึ้น เฟรมพัฒนาขึ้นใหม่ เครื่องยนต์ใหม่ ช่วงล่างใหม่
ในส่วนของเฟรมมิตซูบิบิชิบอกว่า ใช้เหล็กไฮ เทนไซล์ ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพมากขึ้น ทนต่อแรงบิด และยังมีน้ำหนักที่ลดลง ดังนั้นสำหรับ ไทรทันคันนี้ แม้จะมีขนาดตัวถังที่ใหญ่ขึ้น แต่รวมๆ แล้วน้ำหนกรถพอๆ กับรุ่นก่อนหน้านี้
รวมถึงตัวเครื่องยนต์ที่ใช้อลูมิเนียมอัลลอย ก็ช่วยลดน้ำหนักได้อีกทาง
ซึ่งมิติตัวถังของไทรทัน มีความยาว 5,320 มม. กว้าง 1,865 มม. สูง 1,795 มม. ระยะฐานล้อ 3,130 มม.
ครับ ในส่วนของการเลือกใช้วัสดุ อย่างที่ทีมงานมิตซูบิชิบอกมา การมองดูความต่างด้วยสายตา ก็คงจะยาก แต่ก็จะรับรู้ได้ตอนขับ
ช่วงล่างปรับใหม่ ด้านหน้าแบบปีกนก 2 ชั้น ด้านหลังแหนบแผ่นซ้อน แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ช็อค แอบซอร์บเบอร์ มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งมิตซูบิชิ เคลมตัวเลขใหญ่กว่าคู่แข่งอยู่ไม่น้อยทีเดียว
และที่ด้านหน้า ปรับตำแหน่งยึดเกาะให้สูงขึ้น 2 ซม. สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ และรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ยกสูง ที่ผมขับวันนี้ หมายถึงมีระยะชักหรือระยะยุบตัวที่มากขึ้น
ส่วนเครื่องยนต์ช่วงแรกนี้ ทุกรุ่น ใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวกัน คือ ดีเซล 4N16 (Hyper Power) เทอร์โบแปรผัน (VG Turbo) ขนาดความจุกระบอกสูบ 2,442 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 184 แรงม้า ที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตร ที่ 2,250-2,500 รอบ/นาที
เกียร์มีทั้งเกียร์ธรรมดา 6 สปีด และอัตโนมัติ 6 สปีด รุ่นที่ผมขับเป็นอัตโนมัติครับ
ล้อและยาง ขนาด 265/60 R18 เบรกหน้า ดิสค์เบรก ด้านหลังดรัมเบรก
พวงมาลัย แร็ค แอนด์ พิเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง รัศมีวงเลี้ยว 6.2 เมตร มากกว่าตัวเก่าที่อยู่ที่ 5.9 เมตร ก็เป็นไปตามทิศทางของปิกอัพในปัจจุบันที่ตัวถังแข่งกันใหญ่ขึ้น ทำให้หลายๆ รุ่นก็ทะลุเลข 6 กันไปแล้ว
พูดถึงพวงมาลัย แม้ว่าจะยังคงเป็น ไฮดรอลิก ไม่ใช่ ไฟฟ้า แต่ปรับเซ็ทใหม่ ปรับอัตราทดใหม่ ทำให้ได้อารมณ์ในการควบคุมที่ดี เป็นหนึ่งเรื่องเด่นๆ ของมิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ที่ผมชอบ มันให้ฟีลลิ่งที่หนีความเป็นรถปิกอัพไปใกล้เคียงกับรถพวกเอสยูวี หรือว่า รถยนต์นั่ง
ทำให้คุมรถได้ง่าย มีความแม่นยำสูง และเพิ่มความคล่องแคล่วเมื่อต้องหักเลี้ยว ทั้งทางกว้างๆ ทางแคบๆ หรือ เมื่อต้องเปลี่ยนช่องทางซอกแซกไปมาบนถนน มันทำได้โดยขยับพวงมาลัยไม่มาก องศาการหมุนใช้นิดเดียวก็พอ
เพื่อนๆ บางคนบอกว่า มันหนักไปหน่อย แต่ส่วนตัวผมว่าแบบนี้แหละดีแล้ว ช่วยให้การคุมรถง่ายขึ้น มั่นคงแม้จะใช้ความเร็วสูงก็ตาม อาจเป็นเพราะผมชินและชอบพวงมาลัยที่มีน้ำหนักสักหน่อยมานานละ
แต่จริงๆ แล้ว ถ้าหลับตามนึกแทนคนอื่น นึกแทนสาวๆ แขนเนียนเรียวเป็นลำเทียน เมื่อต้องขับ ผมว่ามันก็ไม่ได้หนักขนาดจะเป็นปัญหาครับ
และข้อดีของความแม่นยำ ระยะฟรีน้อย ทำให้การขับขี่ด้วยความเร็วพอสมควรในเส้นทางหมายเลข 9 จากบางบัวทองมุ่งหน้าทางอยุธยา ก่อนเลี้ยวซ้ายออกเส้นทางไปบางปะหัน ที่พื้นผิวถนนนั้นไม่ดีเอาเสียเลย ทั้งขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นคลื่นเป็นลอน ผิวถนนแตก เรียกว่ามีครบทุกรูปแบบ แถมรถก็เยอะ ทั้งรถเล็กรถใหญ่ สิบล้อ รถพ่วง และก็อยู่กันครบทุกเลน
การขับในรูปแบบที่เรียกว่ารูด เพื่อทำเวลาให้ทันเวลานัดหมาย มีความจำเป็น ซึ่งเส้นทางแบบนี้ ถ้าพวงมาลัยไม่นิ่ง ไม่แม่นยำมีผลเยอะ เชื่อเถอะว่า ไม่อยากจะรูด แต่จะใช้การย่องแทน เพราะจะกลายเป็นเป็นว่าทิศทางรถคุมด้วยล้อที่ได้รับแรงกดดันจากสภาพผิวถนนอีกต่อหนึ่ง
แต่กับไทรทัน ใหม่ การคุมรถยังทำได้ตามปกติ การใช้พวงมาลัยก็เหมือนกับเส้นทางเรียบๆ ทั่วไป รถพุ่งไปในทิศทางที่ต้องการ มีเพียงการสะเทือนที่เข้ามาเท่านั้น เป็นปกติของเส้นทางแบบนี้ กับรถปิกอัพ ที่มีโครงสร้างเป็นแชสซีส์ และช่วงล่างแบบแหนบ
แต่พูดจริงๆ ว่า เรื่องของแรงสะเทือนที่เข้ามานั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลยครับ น่าพอใจ ไม่มีปัญหากับคนขับ ผู้โดยสารอีก 3 คน ก็ไม่บ่น การดูดซับแรงสั่นสะเทือนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีสำหรับรถปิกอัพ และเหนือกว่าอีกหลายๆ ยี่ห้อ
จุดเด่นของช่วงล่าง แสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เมื่อต้องขึ้นลงคอสะพาน มันสร้างความแปลกใจให้ทุกคนกับจังหวะลง ที่มันจัดการอยู่ในทันที ไม่มีจังหวะรีบาวนด์ ไปต่อได้ทันที ช่วยให้การขับลื่นไหล นี่น่าจะเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มระยะช่วงชักของปีกนกด้านหน้าอีก 2 ซม. และการเพิ่มขนาด ช็อค แอบซอร์เบอร์ ให้ใหญ่ขึ้น
จุดนี้ทั้งพวงมาลัย และช่วงล่าง ถ้ามิตซูบิชิ สื่อสารดีๆ หรือจะให้ดี จับลูกค้าเป้าหมายมาสัมผัสตัวจริง ลองขับจริงๆ อาจจะไม่หนีไปไหน
ส่วนการขับในเส้นทางที่่ผิวถนนค่อนข้างดีอย่างเส้นพหลโยธิน ย่านอยุธยา ก็สบายๆ ครับ จากนั้นก็เข้าสู่เส้นทางชนบท เลาะโค้งไปมา ทะลุเสาให้ เข้าสระบุรี ก็ได้เห็นความสามารถในการจัดการกับทางโค้ง ที่ทำได้ดีเช่นกัน การยึดเกาะดี
การที่ตัวรถให้ตัวน้อย การโยนตัวไม่มาก ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วครับ
จากนั้นเข้าไปลองขับในส้นทางแบบทางฝุ่นกันสักหน่อย รวมถึงการลองไต่ขึ้นลงเนิน ดูเรื่องการปีนไต่ การออกตัวบนทางลาดชัน ซึ่งมันไม่มีอะไรยากอยู่แล้ว สำหรับรถปิกอัพในยุคปัจจุบันทุกยี่ห้อทุกรุ่น ที่แรงบิดนั้นเหลือเฟือ
ส่วนการลองขับด้วยความเร็วบนทางฝุ่น ระบบช่วยเหลือต่างๆ ทำหน้าที่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ระบบป้องกันการลื่นไถล
ดังนั้นแม้ทางจะลื่น รถขับเคลื่อนล้อหลัง แรงบิดระดับ 430 นิวตันเมตร แต่ระบบที่คอยจับอาการรถ เตรียมพร้อมตัดกำลังที่ส่งไปยังล้อ ทำให้โอกาสการเกิดอาการ โอเวอร์สเตียร์แบบหนัก แก้อาการไม่ได้ หรือ แก้ยาก จึงไม่เกิดขึ้น จะมีบ้างแค่เล็กน้อย ให้แก้ด้วยการใช้พวงมาลัยนิดหน่อยเท่านั้นก็พอ ก็เป็นระบบที่ใส่เข้ามาเพื่อความปลอดภัย
แต่แค่นี้ก็ทำให้่ขับได้สนุก มีอาการสไลด์ อาการไถลเล็กน้อยให้ฝึกใช้พวงมาลัยกัน แต่ความปลอดภัยยังมี
ขณะที่การทำงานของเครื่องยนต์ ตอบสนองได้ดี ช่วงออกตัว อาจต้องเค้นกำลังและมีเสียงคำรามทุ้มๆ เข้ามาให้ได้ยิน แต่หลังจากนั้นลื่น ไหลดีครับ การเพิ่มความเร็วทำได้นุ่มนวล ไม่ต้องใจร้ายกับแป้นคันเร่ง แค่ ค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักลงไปเท่่านั้น
และสิ่งที่หลายคน่น่าจะชอบในยุคนี้ที่น้ำมันแพงก็คือ แม้จะใช้ความเร็วค่อนข้างสูง ใช้แรงบิด ใช้อัตราเร่งบ่อยๆ ในจังหวะเร่งแซง หรือ ซอกแซกเปลี่ยนเลนไปมา ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 13.4 กม./ลิตร
น่าสนใจว่าถ้าขับกันตามปกตินี่ตัวเลขจะโดดไปถึงตรงไหน แต่ก็พอจะเห็นได้กับช่วงที่เริ่มออกเดินทางจากย่านติวานนท์ มุ่่งหน้าข้ามสะพานพระราม 5 เพื่อไปออกวงแหวนสาย 9 ย่านบางบัวทองที่พูดถึงไปตอนต้น ช่วงนั้นก่อนถึงวงแหวน ตัวเลขได้เกือบๆ 16 กม./ลิตร ครับ
อีกสิ่งที่น่าจะเด่นกว่าคู่แข่งหลายรุ่น คือความเงียบในห้องโดยสาร เอาเป็นว่าถ้าขับที่ระดับความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด 120 กม./ชม. มันเงียบจนน่าแปลกใจ มาจากหลายๆ ส่วน รวมถึงซุ้มล้อที่เป็นซุ้มแบบเต็ม ทำให้มันดักเสียงล้อและยางที่จะเข้ามาให้ห้องโดยสารได้มากทีเดียว
เบรกให้อารมณ์ที่ดี นิ่ง และอาการหน้ายุบท้ายยกน้อย แต่ระยะเบรกจะลึกสักหน่อย หลายคนก็ชอบแบบนี้ คือเป็นแบบ ลิเนียร์ ไม่ชอบแบบตอบสนองเร็ว เพราะเวลาเบรกแล้วหัวทิ่ม
แต่ผมชอบแบบหลังมากกว่าครับ คือ จับเร็ว แต่จะหัวทิ่มไม่ทิ่มอยู่ที่เท้าเราเอง รู้จังหวะก็เบรกได้นุ่มนวลเหมือนกัน แต่ถ้าจังหวะฉุกเฉินมันจะทำงานได้เร็ว หัวทิ่มก็ยอม ดีกว่ารถไปทิ่มคันหน้าเข้า
ภายในห้องโดยสาร กว้างขวาง แถมยังมีโบเวอร์ที่หลังคาแม้จะเป็นรถแค่ที่นั่ง 2 ตอนก็ตาม เพื่อดูดอากาศไปให้ผู้นั่งเบาะหลัง ทำให้อุณหภูมิกระจายทั่วถึงได้รวดเร็ว ซึ่งก็คงจะเหมาะกับประเทศไทยที่อากาศอบอ้าว ทำให้การอุณหภูมิในห้องโดยสารทำได้รวดเร็วขึ้น
ส่วนสิ่งที่คิดว่าถ้าปรับปรุงอีกสักหน่อยก็น่าจะดี ก็คือ เบาะนั่งแถวหลัง ที่เบาะรองนั่งสั้นไปหน่อย และเมื่อนั่งแบบตัวเบาะไม่สัมผัสกับต้นขาใกล้ข้อพับ นั่นทำให้ถ้าเดินทางไกลๆ อาจจะเมื่อยได้ แก้ได้ด้วยการแยกขาเล็กน้อย ถ้านั่งแค่ 2 คน
หากออกแบบให้ช่วงที่รับก้นต่ำลงไปสักหน่อย หรือ ยกปลายเบาะขึ้นอีกนิด น่าจะดีขึ้นเยอะ
ส่วนเบาะคู่หน้านั่งสบายมาก และให้อารมณ์สปอร์ตกับการโอบกระชับ ช่วยนการขับแบบสปอร์ตที่ต้องเปลี่ยนช่องทางไปมา หรือเส้นทางโค้งได้ดี
ส่วนประเด็นหลุมปริศนา ระหว่างที่วางแก้วกับคันเกียร์ เนื่องจากชิ้นส่วนหลักเป็นคอมมอน พาร์ท ที่ใช้ร่วมกันทุกรุ่นทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ ทำให้ต้องเจาะไว้สำหรับติดตั้งตัวควบคุมาระบบขับเคลื่อนสำหรับรุ่นขับ 4 พอรุ่นขับ 2 จึงหาชิ้นส่วนมาปิดไว้ ผมละไว้ให้ทุกท่านระดมความคิดเห็นกันครับว่า เป็นอย่างไร จะใช้ประโยชน์อะไรกับมันดี ขัดสายตา หรือว่าเฉยๆ มีก็ไม่เป็นเป็นไร