เก๋ง EV เปิดสมรภูมิรบ เพิ่มความเดือด ตลาด D-Segment
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ในวันนี้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งในด้านของภาพรวมตลาด และ การแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น โดยภาพรวมตลาด ข้อมูลการจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบก ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2566 มีทั้งสิ้น 50,347 คัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขในปี 2565 ทั้งปีหลายเท่า
ตลาดรถยนต์นั่งพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ปัจจุบันมีความหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ราคาไม่กี่ถึง 4 แสนบาท ไปจนถึงหลักสิบล้านบาท
แต่ อีวี ที่ขับเคลื่อนตลาดจริงๆ อยู่ในกลุ่ม บี เซ็กเมนต์ และ ซี เซ็กเมนต์ เป็นหลัก
แต่ล่าสุด ตลาด กลุ่ม ดี-เซ็กเมนต์ กำลังมีความคึกคักอย่างมาก โดยเฉพาะหลังการเปิดตัวของ BYD Seal เมื่อไม่นานมานี้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังการเปิดตัว สร้างยอดจองได้ประมาณ 3,000 คัน
- BYD Seal เปิดตัวมา 3 รุ่นย่อย คือ
- Dynamic
- Premium
- Performance
โดยมี 2 ระบบขับเคลื่อน คือ ขับเคลื่อนล้อหลัง และขับเคลื่อน 4 ล้อ และ 2 ขนาดความจุแบตเตอรี ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดทางเลือกให้ลูกค้าค่อนข้างชัดเจนว่าอยากได้แบบไหน ด้วยระดับราคา 1,325,000-1,599,000 บาท
จริงๆ แล้วรถในตลาดนี้ที่ผ่านมา มีผู้ทำตลาดคือ Tesla Model 3 ที่มียอดจดทะเบียนช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 1,843 คัน ซึ่งไม่มากนัก เมื่อเทียบกับตลาดรวม อีวี ทั้งหมด
แต่การมาของ BYD Seal ที่กระตุ้นตลาดนี้อย่างชัดเจน กับตัวเลขการจองที่เกิดขึ้น และยังทำให้เกิดการแข่งขันที่ชัดเจน เห็นได้จากการขยับราคาของ Tesla
สิ่งที่ทำให้ Seal ได้รับความสนใจที่โดดเด่น มาจากทั้งเรื่องของสิ่งที่ผู้บริโภค รับรู้และยอมรับมาก่อนหน้านี้ คือ เทคโนโลยี แบตเตอรี ที่เรียกว่า Blade Battery รวมถึงข้อมูลทางด้านสมรรถนะของรถที่โดดเด่น และแน่นอน ระดับราคาที่เข้าถึงไ้ด้ง่ายสำหรับตลาดนี้
หลายคนประเมินกันว่า การขึ้นบกของ Seal ครั้งนี้ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไม่เฉพาะในกลุ่ม อีวี แต่รวมถึงตลาด D-Segment ในกลุ่มรถที่ใช้เครื่องยนต์ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะยังมีข้อเสียเปรียบในด้านของความสะดวกในการใช้งานระยะทางไกลๆ รวมถึงขนาดตัวถังที่ยังเล็กกว่าเล็กน้อย แม้จะจัดอยู่ในกลุ่ม ดี-เซ็กเมนต์ เช่นเดียวกัน
แต่สำหรับลูกค้าที่มีแนวทางชัดเจน เช่น ต้องการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจริงๆ และเห็นว่าระยะทางขับขี่ต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ไม่เป็นอุปสรรค ต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ก็จะมองผ่านเรื่องพวกนี้ไป
และตลาดนี้กำลังมีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น เมื่อ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประกาศพร้อมทำตลาดอย่างจริงจังกับ Ora 07
เกรท วอลล์ ถือเป็นผู้มีบทบาทในตลาด อีวี ยุคเริ่มต้นขยายตัว หลังจากที่ เอ็มจี เป็นรายแรกที่ทำให้ตลาดนี้ขยับตัวจากหลักสิบคันหรือร้อยคันต้นๆ ต่อปี ขึ้นมาเป็นหลักพันคัน หลังการเปิดตัว MG ZS EV และหลังจากนั้นการเปิดตัว Ora Good Cat ทำให้ตลาดอีวี คึกคักยิ่งขึ้น
ขณะที่ Ora 07 จะเข้ามาเสริมตลาดในกลุ่ม ดี-เซ็กเมนต์ และจะเป็นรถที่ที่มีความโดดเด่นในด้านของขนาดตัวถังในตบาดนี้ ด้วยความยาว 4,871 มม. กว้าง 1,862 มม.
เกรท วอลล์ ดูกระแสการตอบรับของผู้บริโภคมาระยะหนึ่ง จากการนำรถเข้ามาแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ปี 2565 โดยช่วงนั้นใช้ชื่อ Ora Grand Cat
โดย ORA 07 มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งนอกจากเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดอีวีแล้ว ยังเป็นการสานเป้าหมาย และนโยบายของบริษัท หรือ Mission 9 in 3 ด้วยการเปิดตัวรถยนต์ 9 รุ่นภายใน 3 ปี ซึ่ง ORA 07 จะเป็นรุ่นที่ 9 ในตลาดประเทศไทย
เป็นรถ 4 ประตู ฟาสต์แบ็ค ส่วนรายละเอียดทางด้านเทคนิค ต้องรอดูว่ารุ่นที่จะเปิดตัวในไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่สำหรับ Grand Cat ที่เคยนำมาแสดงก่อนหน้านี้ หรือในจีนที่เปิดตัวปลายปี 2565 ที่ใช้ชื่อ Ora Lightning Cat นั้น มีระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือก
- รุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า ให้กำลังสูงสุด 201 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 340 นิวตันเมตร แบตเตอรี รุ่นStandard Rangeขนาด63.9 kWh รุ่นLong Rangeขนาด 83.5 kWh
- รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อให้กำลังสูงสุด 402 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 680 นิวตันแบตเตอรีขนาด 83.5 kWh ระยะทางการใช้งานสูงสุดต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ตามมาตรฐาน WLTP 495 กม.
ก็ต้องรอดูรายละเอียดทางเทคนิคที่แน่นอน และระดับราคาที่เกรท วอลล์ จะประกาศออกมาว่าเป็นอย่างไร
แต่ที่แน่ๆ คือ จะทำให้ตลาด ดี-เซ็กเมนต์ คึกคักยิ่งขึ้นแน่นอน