โตโยต้า ลุยยกแผง ปิกอัพ EV-FCEV-Diesel Hybrid
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทั่วโลก และกลุ่มบริษัทดั้งเดิมถูกตั้งคำถามมากมายถึงการเปลี่ยนผ่าน แต่ล่าสุดผู้นำตลาดอย่าง โตโยต้า ขยับตัวครั้งสำคัญกับตลาดใหญ่อย่างปิกอัพ ไม่ได้มุ่งทางใดทางหนึ่ง แต่ชูความหลากหลายเทคโนโลยีทางเลือก
โตโยต้า ระบุว่า แนวคิดใหม่ของการทำตลาดปิกอัพ เรียกว่า Multi Pathway นั่นหมายถึงการมีทางเลือกที่หลากหลาย และเหมาะสมกับแต่ละตลาด และที่สำคัญก็คือ เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งไปสู่เรื่องของการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ประกอบด้วย
- BEV รถปิกอัพพลังงานไฟฟ้า
- FCEV หรือ Fuel Cell EV รถปิกอัพเซลล์พลังงาน ที่ได้จาการใช้ไฮโดรเจนทำปฏิกิริยากับ fuel cell stack เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าสำหรับนำไปขับเคลื่อน มอเตอร์
- Diesel HEV รถปิกอัพ ไฮบริด
โดยแต่ละเทคโนโลยีจะตอบสนองลูกค้าที่ต่างกันออกไป โดยผู้บริหารระบุว่า รถปิกอัพรูปแบบปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม โดยจะเป็นรถที่ตอบสนองการนำไปใช้งานทั่วไป
ปิกอัพ Diesel HEV จะตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวัน ใช้งานส่วนตัว และผู้ที่ชื่นชอบรถที่มีสมรรถนะสูง (Powerful) โดยระบุว่า ระบบไมล์ด ไฮบริด ที่มาพร้อมแบตเตอรี 48 โวลต์ จะมีสมรรถนะที่เทียบเคียงได้กับรถที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 3.0 ลิตร V6
โตโยต้า ปิกอัพ อีวี จะตอบสนองกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์, รถรับส่ง (shuttle), รถในเหมือง ที่มีระยะทางการใช้งานไม่มากนัก โดยสเปคที่โตโยต้าจะพัฒนาขึ้นมาคือ ประมาณ 300 กม. ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง
ปิกอัพ FCEV เป็นปิกอัพสำหรับการใช้งานไกลๆ โดยสเปค ของ FCEV คือ 600 กม. นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มลูกค้าเหมือง, รถสำหรับหน่วยงานรัฐ และธุรกิจขนส่ง หรือ logistics
มาซาฮิโกะ มาเอดะ เจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าแต่ละเทคโนโลยี ก็มีแนวทาง มีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น ปิกอัพ ไฮบริด หรือ Diesel HEV พัฒนาสำหรับตลาดโลกฝั่งใต้ ซึ่งแน่นอนรวมถึงไทย เป็นรถที่ตอบสนองผู้ที่ต้องการความประหยัด ต้องการสมรรถนะที่สูง
และที่สำคัญคือ ลูกค้าที่ยังชื่นชอบเสียงเครื่องยนต์
ขณะที่ปิกอัพ BEV ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากลูกค้าใน ออสเตรเลีย และยุโรป จำนวนมากที่ต้องการใช้งานในเหมือง และลูกค้าตลาดออสเตรเลียก็ยังพูดถึงเรื่องของการใช้พลังงานไฮโดรเจนในรถปิกอัพด้วยเช่นกัน
ส่วนตลาดประเทศไทย มาเอดะ ระบุชัดเจนว่า “Hilux ทุกรุ่น มีแผนที่จะขายในไทยทุกรุ่น”
และในงาน Toyota Gazoo Racing Motorsports 2023 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากจะมีกิจกรรมการแข่งขันรถแล้ว โตโยต้ายังนำรถต้นแบบปิกอัพพลังงานใหม่ ทั้ง BEV, FECV และ Diesel HEV มาให้ได้ลองสัมผัสกันเล็กน้อย พอให้ได้รู้จักกัน ได้รู้จักอารมณ์
โดยใช้พื้นที่ของสนามแข่งแดรก จัดทดสอบอัตราเร่ง การควบคุมรถ ผ่านการขับแบบสลาลอม คันละ 1 รอบ
ผมชอบอารมณ์ของ FCEV หรือที่เรียกว่า Hilux FCEV Concept เป็นพิเศษ เพราะการขับสั้นๆ ได้รับรู้ถึงความลื่นไหลในการทำงาน การสร้างพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจนก่อนส่งไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าราบเรียบไม่มีสะดุด ดังนั้นจังหวะการออกตัว การใช้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. การเพิ่มความเร็วมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีจังหวะหน่วง
ขณะที่การขับสลาลอม จังหวะที่ต้องผ่อนคันเร่งแล้วเร่งสลับกันไป เรียกกำลังมาได้เร็ว ช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการควบคุม ขณะที่การทรงตัวก็ดูโดดเด่นเช่นกัน ขับซิกแซกคุมรถในช่องทางได้ดี รวมถึงช่วงทางโค้ง หรือ เลนเชนจ์เล็กๆ
ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากจุดศูนย์ถ่วงของรถที่ต่ำลง และการกระจายน้ำหนักที่ทำได้สมดุลมากขึ้น
ครับ เป็นการคาดการณ์ของผมเอง เพราะรถที่ขับครั้งนี้ รวมถึงอีก 2 รุ่น ทั้ง BEV และ Diesel HEV ยังเป็นรถต้นแบบ และโตโยต้า ยังไม่ได้ระบุสเปคอย่างเป็นทางการ แต่ข้อมูลเบื้องต้นคือ บรรจุไฮโดรเจนไว้ 5.7 กก. และรองรับการขับขี่ได้ระยะทาง 600 กม.
ทั้งนี้ FCEV กับ BEV จะใช้ส่วนประกอบบางส่วนร่วมกัน เช่น E-Axel ส่วนแพลตฟอร์มที่จะใช้พัฒนาทั้ง 2 รุ่นนี้ ต้องรอการยืนยันอีกครั้ง
ในส่วนของ BEV หรือชื่อที่เรียกรถต้นแบบคันนี้ว่า Revo e การขับขี่ก็ทำได้ดีเช่นกัน ในเรื่องของจังหวะการออกตัว อัตรเร่ง หรือ การเปลี่ยนจังหวะความเร็วที่เรียกกำลังมาได้เร็ว และตอบสนองการใช้งานได้เพียงแพอแน่สำหรับการแบกตัวถังรถปิกอัพ
แต่ว่าสำหรับต้นแบบ Revo e คันนี้มาในโครงสร้างตัวถังแบบ ซิงเกิล แค็บ
ขณะที่ความรู้สึกในการควบตุมรถ ก็มีความคล่องตัวดี น่าพอใจ ผ่านอุปสรรคไม่ยาก แต่ถ้าโดยรวมในส่วนนี้ ผมชอบอารมณ์ของ FCEV มากกว่า อาจจะเป็นเพราะโครงสร้างตัวถังที่ต่างกันด้วยส่วนหนึ่ง โดย FCEV เป็นตัวถังแบบปิกอัพ 4 ประตู
ปิดท้ายด้วย ดีเซล ไฮบริด หรือ Hilux Diesel HEV Concept มาพร้อมกับเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร กับ มอเตอร์ไฟฟ้า ทำหน้าที่ได้โดดเด่นเลยครับ จังหวะออกตัว การไล่ความเร็ว ดูกระฉับกระเฉงขึ้นชัดเจน เดินทางไกลๆ น่าจะขับได้สนุก
เช่นเดียวกับช่วงที่ต้องเปลี่ยนความเร็วไปมา กับการขับสลาลอม ก็ทำให้รู้สึกถึงการเรียกกำลังมาได้เร็ว จังหวะหน่วง หรือ รอรอบหายไป ดูแล้วน่าสนใจรอดูตัวจริงเลยครับ
นั่นก็เป็นการสัมผัสแรก สัมผัสเบื้องต้น แต่ย้ำอีกครั้งว่าทั้งหมดนี้คือ รถต้นแบบ ที่ใช้โครงสร้างของ ไฮลักซ์ รีโว่ มาพัฒนา ส่วนรายละเอียดอย่างเป็นทางการจะเป็นอย่างไร คงต้องรอเมื่อมีการผลิตจริง ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานนับจากนี้ครับ