มาสด้ามองตลาดรถปีนี้ 8 แสนคัน ชูความแกร่งการขาย-บริการ สู้ตลาดปีมังกรทอง
มาสด้ารับเศรษฐกิจ ปัจจัยลบฉุดยอดขายปี 2566 แต่ด้านบริการยังแข็งแกร่ง เตรียมเพิ่มศักยภาพสู้ศึกตลาดปีนี้ เผย มาสด้า 6 รุ่นพิเศษ ยอดจอง 74 คัน
ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีความตึงเครียดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจของมาสด้าในประเทศไทย
โดยปี 2566 ที่ผ่านมา มาสด้ามียอดจำหน่ายรวม 16,544 คัน แบ่งออกเป็น รถยนต์นั่ง 8,718 คัน ประกอบด้วย
- มาสด้า2 จำนวน 7,834 คัน
- มาสด้า3 จำนวน 884 คัน
รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวี 6,981 คัน แบ่งเป็น
- มาสด้า CX-30 จำนวน 3,254 คัน
- มาสด้า CX-3 จำนวน 2,389 คัน
- มาสด้า CX-8 จำนวน 999 คัน
- มาสด้า CX-5 จำนวน 340 คัน
ส่วนยอดจำหน่ายรถอื่นๆ ปิกอัพ มาสด้า บีที-50 จำนวน 834 คัน และรถสปอร์ตเปิดประทุน มาสด้า MX-5 จำนวน 10 คัน
ชณะที่ มาสด้า 6 รุ่นพิเศษ ฉลองครบรอบ 20 ปี ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากมีลูกค้าจองสิทธิ์แล้ว 74 คัน จากจำนวนทั้งหมด 100 คัน
“แม้ว่ายอดขายมาสด้าจะปรับตัวลดลง แต่ในปีที่ผ่านมา มาสด้ายังประสบความสำเร็จในด้านการบริการหลังการขาย อันเป็นผลพวงจากการดำเนินธุรกิจภายใต้ Retention Business Model โดยมีลูกค้ากลับเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง และทำให้ผู้จำหน่ายมีผลกำไรแม้จะอยู่ในสถาวะตลาดชะลอตัว"
มิอุระ กล่าวว่าสำหรับทิศทางในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวโดยได้แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคักชัดเจน กำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโต กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19
ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ มองว่าจะเป็นปีที่ท้ายทายยิ่งขึ้น การแข่งขันของตลาดรถยนต์ในประเทศจะร้อนแรงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 750,000 – 800,000 คัน หรือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ในส่วนของมาสด้าคาดว่าจะเติบโตเช่นเดียวกัน เนื่องจากฐานลูกค้าที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มโอกาสในการขายรถใหม่มากขึ้น
ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวทางกาดำเนินธุรกิจของมาสด้าปีนี้ จะให้ความสำคัญกับลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่งด้วย Customer Experience Management (CXM) หรือการจัดการประสบการณ์ลูกค้า
เน้นสร้างความพึงพอใจสูงสุด และการมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ผ่านกลยุทธ์ Brand Value Management (BVM) หรือการสร้างมูลค่าของแบรนด์ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว แบ่งออกเป็น
ปรับองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และครอบคลุมยิ่งขึ้น
การตลาดยุคดิจิทัลเน้นสื่อสารกับลูกค้าสร้างความประทับใจ ยกระดับการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ฟังเสียงของลูกค้ามากขึ้น รักษาฐานลูกค้าเก่าและดึงลูกค้าเก่าให้กลับมาซื้อซ้ำ สร้างความพึงพอใจสูงสุดและเอาใจใส่ดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด ตามนโยบาย Customer Experience Management (CXM)
พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าปัจจุบัน
เอาใจใส่ดูแลลูกค้าเสมือนคนในครอบครัว ธุรกิจของผู้จำหน่ายต้องเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นกลยุทธ์ในการมอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้ามาสด้าและครอบครัว ด้วยโครงการ Customer Loyalty Program รวมถึงสิทธิพิเศษในการซื้อรถใหม่กับ Mazda Family Campaign
มอบสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการทั่วประเทศ เน้นจัดกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ ด้วย Customer Engagement Activity เพิ่มช่องทางในการดูแลลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ประสานความร่วมมือกับผู้จำหน่ายทั่วประเทศ