รัฐบาลควรหันมาดู อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังถดถอย
สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 เรียกว่าไม่สู้ดีนักเนื่องจากลดลงจากปีก่อน 16.88% ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสินเชื่อรถถูกตีกลับและยอดขายที่ลดลง
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับปัญหาภาคการผลิตที่กำลังถดถอยไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ 644,951 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 16.88% ซึ่งมีสาเหตุจากยอดขายในประเทศที่ลดลง และปัญหาสินเชื่อรถถูกตีกลับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายลดลงเพราะการซื้อรถ 80% ของคนไทยเป็นการซื้อเงินผ่อน และเป็นปัญหาที่ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยแจ้งให้รัฐบาลรับทราบมาตั้งแต่ปี 2566
หลังจากที่ซูซูกิผู้ผลิตรถยนต์อีโคคาร์ในประเทศไทยได้ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย.2567 ถึงนโยบายหยุดสายการผลิตภายในสิ้นปี 2568 ยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาลที่จะเข้ามาตรวจสอบภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง โดยเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2567 ว่าถึงแม้ซูซูกิจะปิดสายการผลิตในไทยไป แต่ยังเหลือบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในไทย 6-7 บริษัท พร้อมทั้งระบุว่ามองว่าการผลิตของซูซูกิอาจไม่ตรงความต้องการของไทย และขอให้ซูซูกิโชคดีกับแผนงานใหม่
อุตสาหกรรมยานยนต์มีแรงงานในระบบรวม 444,712 คน ครอบคลุมโรงงานประกอบรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมีจำนวนผู้มีงานทำรวมเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 0.1% และมีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 47.20 ชั่วโมง เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 2.5% ในขณะที่การใช้กำลังการผลิตลดลง 22.8% ซึ่งเป็นภาคการผลิตรายสาขาที่ลดลงมากที่สุด
กระทรวงอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา โดยสามารถผลักดันให้รถปิ๊กอัพ 1 ตัน เป็นโปรดักต์แชมเปียนตัวแรกของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมทั้งผลักดันให้รถอีโคคาร์เป็นโปรดักต์แชมเปียนตัวที่ 2 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยซูซูกิเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2555 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตรถอีโคคาร์
นายกรัฐมนตรี รวมถึง พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ควรให้น้ำหนักกับสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่เกิดการจ้างงานเกือบครึ่งล้านคนตลอดซัพพลายเชน กำลังการผลิตที่ถดถอยจึงไม่ใช่แค่งานรูทีนที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คอยรายงานสถานการณ์ แต่ฝ่ายนโยบายจะต้องมีแผนรับมือกับในระยะสั้น รวมถึงระยะยาวว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อย่างไร