บุกถิ่นเกิด ลอง ‘Hilux GR Sport’ เพิ่มแรง ความคล่องตัว ช่วงล่างแน่น เนียน
โตโยต้า ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต (Toyota Hilux GR Sport) เป็นปิกอัพสมรรถนะสูง ที่ออกมากลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบอารมณ์สปอร์ต ชอบขับรถ และมีไลฟ์สไตล์ โดยมันมีต้นกำเนิดจากออสเตรเลีย ซึ่งวันนี้ผมจะพาบุกบ้านเกิด ลองขับ ลองใช้งานกันครับ
โตโยต้า ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต (Toyota Hilux GR Sport) ปิกอัพสมรรถนะสูงของโตโยต้า เป็นรถที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการแข่งขันดาการ์ แรลลี่ พัฒนาโดยทีมงาน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ออสเตรเลีย หรือ TMCA ที่ต้องการสร้างรถไฮ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ที่สามารถขับขี่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งที่มาที่ไปและผลงานของที่นี่เป็นอย่างไร ผมนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว
และสำหรับเจ้าไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต 2024 มันได้รับการยกระดับขึ้นไปอีก ทั้งเรื่องของรูปลักษณ์ และสมรรถนะ
โดยรูปลักษณ์ของ ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต ต่างจากรีโว่ อีกหลายส่วน เพื่อยกระดับให้ได้ทั้งเรื่องของความสปอร์ตและพรีเมี่ยมยิ่งขึ้น รวมถึงให้มีความแตกต่างที่ชัดเจนของรถค่าตัว 1.499 ล้านบาทคันนี้
เช่น กระจังหน้าสีดำสนิท พร้อมตัวอักษร “TOYOTA” กันชนหน้าขนาดกว้าง และคิ้วตกแต่งสีเงินโป่งล้อสีเทาเข้มใหม่ รองรับการเพิ่มความกว้างช่วงล้อ เพราะโครงสร้างตัวถังเป็นโครงสร้างเดิม และเลือกที่จะออกแบบให้มีความเป็นเหลี่ยมเป็นสัน ซึ่งโตโยต้าระบุว่าไม่ใช่การทำให้ดูแตกต่าง แต่เป็นการคำนวณเรื่องของหลักอากาศพลศาสตร์มาแล้ว ขณะที่มือจับประตู กระจกมองข้าง ใช้สีดำ
ล้ออัลลอยออกแบบมาสำหรับ จีอาร์ สปอร์ต โดยเฉพาะ แและมองเข้าไปก็จะเห็นเบรกสีแดง โดยระบบเบรกเป็นดิสค์เบรกแบบม่ีครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อพร้อมโลโก้ GR ส่วนที่กระบะแผ่นยางปูพื้นก็ออกแบบมาโดยเฉพาะ
ภายในห้องโดยสาร เบาะนั่งหุ้มด้วยวัสดุหนังผสมกับหนังกลับสีเงินแบบเจาะรู เพิ่มความกระชับในการนั่ง และตกแต่งด้วยการเดินด้ายสีเทา และโลโก้ GR
เข็มขัดนิรภัยโดดเด่นกับการใช้สีแดง พวงมาลัยหุ้มหนังพร้อมสัญลักษณ์สีแดง โลโก้ GR โดยมีแพดเดิลชิฟต์ เอาไว้ให้เลือกเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเอง และแป้นเหยียบอลูมิเนียม
ด้านระบบความปลอดภัย ติดตั้งระบบความปลอดภัยก่อนการชน (Pre-Collision System) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง (Dynamic Radar Cruise Control) ระบบเตือนออกนอกเลน (Lane Departure Alert) ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา (Blind Spot Monitor) กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา (Panoramic View Monitor) เป็นต้น
ทางด้านสมรรถนะ เครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร เทอร์โบ ปรับปรุงในหลายส่วน รวมถึงหัวฉีดและตัวควบคุมหรือ อีซียู ทำให้ได้สมรรถนะที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 204 แรงม้า เป็น 224 แรงม้า แรงบิดจาก 500 นิวตันเมตร เป็น 550 นิวตันเมตร
และแน่นอนปรับเครื่องยนต์แล้วก็ต้องปรับในส่วนของระบบส่งกำลัง เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ที่เซ็ทให้รองรับกำลังของเครื่องยนต์ และทำให้ตอบสนองดีขึ้น เช่น ลดเวลาตัด-ต่อ เกียร์ จาก 1.4 วินาที เหลือ 1 วินาที และทั้ง 2 ส่วน ก็ช่วยให้อัตราเร่งทำได้เร็วขึ้น เช่น ถ้าเป็นช่วง 0-100 กม./ชม. จะเร็วขึ้น 0.7 วินาที หรือถ้า 0-100 กม./ชม. จะเร็วขึ้น 1 วินาที
เอาละครับอย่างที่พูดถึงอยู่เสมอว่าเรื่องของอัตราเร่ง 0-100 ผมไม่ได้สนใจมากนัก เพราะในชีวิตจริงก็คงไม่ค่อยมีใช้จะขับแบบนั้น แต่เอาไว้เป็นตัวเลขอ้างอิงถึงได้
แต่สิ่งที่จะดูคือการขับขี่จริง การตอบสนองในจังหวะการใช้งานจริงเป็นอย่างไร ซึ่งก็พบว่ามันทำได้กระฉับกระเฉงขึ้นจริงครับ และช่วยให้การขับขี่มีความคล่องตัวขึ้น ทั้งชนบท หรือ ในเมือง
ซึ่งการลองขับครั้งนี้ก็ต่อเนื่องจากคราวที่แล้วที่ไปเยี่ยมชมห้องแห่งความลับที่ Centre of Excellence (CoE) ตั้งอยู่ใน TMCA ที่อัลโทน่า ย่านชานเมือง เมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย จากนั้นก็เดินทางด้วยเครื่องบินใบพัดไปยัง พอร์ต ออกัสต้า ที่จีอาร์ สปอร์ต จอดรออยู่ย่านสนามบิน เพื่อขับไปยัง Flinders Ranges รัฐเซาท์ ออสเตรเลีย ก่อนที่จะขับต่อไปยัง Adelaide ระยะทางรวมๆ ก็ราวๆ 400 กม.
จริงๆ แล้วการขับในออสเตรเลียครั้งนี้ มีทั้งขับ ออนโรด และออฟโรด ซึ่งออฟโรดที่นี่เป็นเสน่ห์ของเส้นทางที่หลายๆ คนอยากจะมาลองขับกัน แต่ว่าวันนี้จะพูดถึงการขับออนโรดกันก่อน
ครับถนนที่ออสเตรเลีย จำกัดความเร็วสูงสุดที่ 110 กม./ชม.แต่การขับจริงก็เกินได้บ้างสัก 120 ซึ่งเขาก็ไม่ได้ซีเรียสมากนัก ถ้าอยู่นอกเมือง เขตชนบท แต่ถ้าเข้าเขตเมืองก็จะเข้มงวดมากขึ้น 50 ก็ต้อง 50 30 ก็ต้อง 30 ดังนั้นไม่แปลกถ้าเจอป้ายจำกัดความเร็วเมื่อจะเข้าเขตเมืองลดฮวบลงมา จะเห็นรถแตะเบรกเพื่อลดความเร็วทันที ไม่ใช่แค่การถอนคันเร่งเท่านั้น
แต่จริงๆ แล้วความเร็วระดับ 110-120 เมื่อขับได้อย่างเคลียร์ ทั้งทางโล่ง และรถร่วมถนนมีระเบียบวินัย ไม่ขับขวางทางกัน ไม่เบียด ไม่ปาด ก็ทำให้การเดินทางทำได้เร็ว ถึงจุดหมายต่างๆ ได้ตรงเวลา
และการขับที่มีช่วงเปลี่ยนความเร็วตามข้อกำหนดบ่อยๆ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้อารมณ์ของเครื่องยนต์ หรือว่าเส้นทางเล็กๆ แบบ 2 เลน สวนทาง จังหวะการเร่งแซงรถคันอื่น ก็ได้เรียนรู้อารมณ์รถเช่นกัน
เพียงแต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากกว่า คือ สัตว์ท้องถิ่น โดยเฉพาะจิงโจ้ ที่เราเห็นบ่อยมากทั้งตัวเป็นๆ และซากริมถนน แต่การที่ภูมิประเทศที่เห็นได้ไกลได้กว้าง ก็ทำให้สามารถใช้ลานสายตามองกว้างๆ ล่วงหน้าได้ เพื่อเตรียมตัวได้ทัน ถ้าเห็นทิศทางการโดดหยองๆ ของมัน
ซึ่งเครื่องยนต์ที่ผ่านการปรับจูนรวมถึงเกียร์ ทำงานได้ดีเลยครับ แรงบิดที่เพิ่มขึ้น 50 นิวตันเมตร ทำให้การเพิ่มความเร็วแบบติดเท้าทำได้ดี กำลังมาได้เร็ว ความเร็วไต่ขึ้นไปทำได้เร็ว และที่ผมชอบคือ เป็นการเพิ่มความเร็วแบบนุ่มนวลเท้า คือ กดคันเร่งลงไปเบาๆ นุ่มๆ เท่านั้น
ช่วงล่างก็ทำหน้าที่ได้ดี เดินทางไกลๆ ยาวๆ หลายชั่วโมง ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยกับการขับ รถเกาะถนนได้ดี เข้าออกโค้งได้มั่นใจ ซึ่งการขยายแทรค หรือความกว้างช่วงล้อเพิ่มขึ้น โดยด้านหน้าเพิ่ม 14 ซม. ด้านหลังเพิ่ม 15.5 ซม. ก็ช่วยให้รถมีความมั่นคงในการควบคุม และช่วงล่างที่เซ็ทมาเป็น จีอาร์ โดยเฉพาะ รวมถึงการใช้ช็อคแอบซอร์เบอร์แบบ โมโนทูบ ก็มีส่วนช่วยในเรื่องเหล่านี้
ยางเป็นยางออล เทอเรน ของบริดจสโตน ขนาด 265/65 R17 ซึ่งต่างจากเวอร์ชั่นไทย ที่ใช้ยางของบีเอฟกู๊ดริช แต่ขนาดเดียวก้น
แต่ว่ารถที่ขับที่ออสเตรเลีย ซึ่งจริงๆ ก็ส่งไปจากไทย ผลผลิตของโรงงานบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรานั้นหลักๆ ก็เหมือนกับรุ่นที่ขายในไทย แต่เซ็ตค่าต่างกันเล็กน้อย เวอร์ชั่น ออสเตรเลียจะมีความแข็งมากกว่า
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเวอร์ชั่นในไทยจะให้ความรู้สึกในการขับขี่ต่างกันหรือไม่ ต้องรอให้ได้ลองก่อนครับ
แต่ที่ออสเตรเลียนั้น เซ็ทให้แข็งกว่า เพราะโดยกายภาพทางถนนเขาดีกว่า ทางเรียบเกือบตลอดทาง ทำให้ความแข็งไม่มีผลต่อการดูดซับแรงสั่นสะเทือนเหมือนถนนบ้านเราที่มีทั้งทางขรุขระ หลุม ร่อง รอยต่อถนน พื้นต่างระดับของฝาท่อระบายน้ำ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าเซ็ทแข็ง อาจจะไม่เป็นที่พอใจของผู้โดยสาร
ครับ โดยรวมของการขับทางเรียบที่นี่ ขับง่าย สนุกกับอัตราเร่ง และการยึดเกาะถนน โดยช่วงเส้นทางเล็กๆ โค้งเยอะๆ ให้อารมณ์สปอร์ตในการขับขี่ที่ชัดเจน อาจจะมีจุดที่อยากได้เพิ่มเล็กน้อย คือพวงมาลัยที่เป็นแบบไฮดรอลิค มีระยะฟรีอยู่บ้าง ทำให้ช่วงการขับทางตรง ต้องขยับมือกันบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นช่วงทางโค้งทางเขา ระยะฟรีไม่เป็นปัญหา ขับได้สนุก และโดยรวมน้ำหนักพวงมาลัย ดีครับ