เหม็นไหม้

เหม็นไหม้

โบราณว่า “โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” หมายความว่าต่อให้ถูกโจรปลุกเข้ามาปล้นขนเอาทรัพย์สินไปจนหมด ก็ยังเหลือบ้านเรือนที่อยู่อาศัยพอได้ซุกหัวนอน แต่ถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ก็พาลถูกไฟไหม้จนไม่เหลืออะไรไปด้วย

แต่เชื่อไหมครับว่าในขณะที่มีคำกล่าวถึงว่า ไฟไหม้ร้ายแรงกว่าโจรปล้นทรัพย์สิน แต่ในชีวิตจริงของผู้คนรอบตัวเราส่วนมาก มักจะอยู่กันในลักษณะของความกลัวโจรผู้ร้ายมากกว่าไฟไหม้

เช่น เราจะเห็นว่าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ติดเหล็กดัดเอาไว้ตามประตูและหน้าต่าง ซึ่งเมื่อถึงเวลาไฟไหม้ผู้คนจึงมักจะตายคากองไฟเป็นประจำ และแม้จะมีกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่า อาคารต่างๆ ต้องติดตั้งบันไดหนีไฟ แต่ก็มีน้อยแห่งมากที่จะใช้งานได้จริง บางอาคารตรงประตูทางออกไปบันไดหนีไฟ ล็อกเอาไว้อย่างแน่นหนา ซึ่งเมื่อถึงเวลาฉุกเฉินขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่สามารถหนีออกตามช่องทางดังกล่าวได้

หรือแม้แต่ปัจจุบันนี้ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น เจ้าของบ้านหลายแห่งก็มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด เพื่อเอาไว้ตรวจสอบและเตือนภัยเมื่อมีผู้บุกรุก แต่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของคนทั่วไป แทบจะไม่มีใครติดตั้งระบบน้ำฉีด เมื่อมีกลุ่มควันหรือมีเปลวไฟเกิดขึ้นเลย จะมีก็ตามอาคารขนาดใหญ่ หรือตามโรงแรมขนาดใหญ่เสียเป็นส่วนมาก

แม้แต่รถยนต์ที่แล่นกันเต็มท้องถนน คงมีน้อยกว่าร้อยละ ๐.๑ ที่มีเครื่องมือดับเพลิงติดอยู่ในรถ อีกทั้งไม่มีหน่วยงานใดมาให้ความรู้ เกี่ยวกับวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัย เมื่อต้องดับไฟที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีเชื้อเพลิงสำหรับขับเคลื่อนที่แตกต่างกันออกไป เช่นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไม่ว่าจะเบนซินหรือดีเซล ก็ต้องการเครื่องมือและวิธีการสำหรับดับไฟเฉพาะตัว

แน่นอนว่าต้องแตกต่างไปจากรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซธรรมชาติอัดก็ตาม ซึ่งหากใช้เครื่องดับเพลิงผิดประเภท และดับด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่สามารถดับไฟที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังอาจจะทำให้ไฟไหม้ลุกลามขยายวงไปได้อีกด้วย

ยิ่งหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริดที่มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เครื่องมือและวิธีการดับเพลิงก็ยิ่งแตกต่างออกไป มิเช่นนั้นแบตเตอรี่โดยเฉพาะประเภทลิเธียมนั้น หากได้รับความร้อนสูงมาก และมีออกซิเจนไหลเข้าไปถึงได้ ก็อาจจะเกิดการระเบิดขึ้นได้เช่นกัน

ในรถยนต์ทุกประเภทล้วนมีวัสดุและสารเคมีต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่ไวไฟและติดไฟง่ายอยู่มากมาย ดังนั้นคนใช้รถยนต์ทุกคนจึงต้องเรียนรู้ถึงจุดอ่อนเหล่านั้น ต้องหมั่นสังเกตถึงความผิดปรกติของอุปกรณ์หรือวัสดุเหล่านั้น การสังเกตหรือตรวจตรานั้นก็ทำได้หลายทางด้วยกัน 

อย่างแรกก็คือการตรวจอุปกรณ์ต่างๆ ตามปรกติ และเมื่อรถยนต์ผ่านการใช้งานไปนานๆ หรือเมื่อรถยนต์เก่ามากขึ้นก็ต้องตรวจให้ถี่ขึ้น และในขณะขับรถต้องคอยสังเกตมาตรวัดต่างๆ ที่ปรากฏบนหน้าปัดรถเสมอ หากพบความผิดปรกติในอุปกรณ์ที่อาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้ หรือในอุปกรณ์ที่มีความร้อนสูงจัดเกินขีดปรกติ หรือเมื่อได้กลิ่นเหม็นไหม้จากจุดใดจุดหนึ่งในตัวรถ กรณีเช่นนี้ต้องรีบหยุดรถและตรวจหาสาเหตุทันที

เมื่อได้กลิ่นเหม็นไหม้เกิดขึ้นในตัวรถ ให้พยายามแยกแยะให้ได้ว่ากลิ่นเหม็นไหม้นั้น มันมีกลิ่นในลักษณะใด เช่น กลิ่นเหมือนพลาสติกไหม้ กรณีเช่นนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่รถยนต์จะเกิดไฟไหม้ขึ้นมา เพราะกลิ่นพลาสติกไหม้ส่วนใหญ่จะเกิดจากฉนวนของสายไฟในรถไหม้ หรือละลายจากการโดนความร้อน หรือจากไฟฟ้าลัดวงจร ยิ่งรถยนต์ในปัจจุบันนี้มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดกลิ่นคล้ายพลาสติกไหม้ไฟก็มีสูงมากตามไปด้วย ประการถัดมาต้องพยายามสังเกตว่ากลิ่นเหม็นไหม้ที่เราได้รับนั้น มันมาจากภายในรถยนต์ของเราเอง หรือมาจากนอกรถ เพราะบางครั้งกลิ่นเหม็นไหม้ดังกล่าวนั้น อาจจะเกิดจากการเผาขยะข้างทาง แล้วมีกลิ่นลอยเข้ามาเท่านั้นก็เป็นได้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ

กลิ่นเหม็นไหม้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ กลิ่นเหม็นไหม้หรือกลิ่นของเชื้อเพลิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นน้ำมันเบนซิน, กลิ่นน้ำมันดีเซล หรือกลิ่นก๊าซ หากได้กลิ่นเหล่านี้ในขณะขับรถยนต์อยู่ ต้องรีบจอดรถเพื่อหาสาเหตุ และทำการแก้ไขโดยเร็ว กลิ่นอีกชนิดหนึ่งที่แม้จะเกี่ยวข้องการเกิดไฟไหม้น้อย แต่ก็เป็นกลิ่นที่อันตรายต่อผู้อยู่ในรถมาก ในขณะเดียวกันคนใช้รถมักจะเพิกเฉยต่อกลิ่นชนิดนี้

กลิ่นที่ว่าคือกลิ่นควันจากท่อไอเสีย ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะเป็นต้นเหตุของการเกิดไฟไหม้ แต่หากปล่อยให้กลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสารได้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่เกิดจากท่อไอเสียรถของเราเอง หรือกลิ่นที่มาจากรถคันอื่นก็ตาม กลิ่นดังกล่าวจะมีส่วนผสมของก๊าซที่ทำให้ผู้ได้รับกลิ่นเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน อันเป็นผลทำให้เกิดอาการหลับใน หรือหลับตายแบบที่เรียกว่าไหลตายเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นหากรถยนต์ที่ใช้อยู่ มีกลิ่นไอเสียเข้าห้องโดยสารได้ ต้องรีบนำไปแก้ไขโดยเร็ว

อีกอย่างหนึ่งที่ีอันตรายมาก  คือกลิ่นเหม็นไหม้แบบที่เรียกกันว่ากลิ่นเหม็นเอียนๆ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการไหม้ที่แผ่นคลัทช์ หรือผ้าเบรกไหม้ ซึ่งหากเป็นกรณีเกิดการไหม้ที่แผ่นคลัทช์ อันตรายที่เกิดขึ้นจะมีไม่มากนัก แต่หากเกิดจากผ้าเบรกไหม้ นอกจากจะทำให้ไม่สามารถเบรกได้ตามปรกติ หรือที่เรียกกันว่าเกิดอาการเบรกแตก หรือเบรกเฝด หรือเวเปอร์ล็อกเกิดขึ้นแล้ว ความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีระหว่างผ้าเบรกและจานเบรก ยังจะทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นที่บริเวณดุมล้อแล้วลุกลามไปทั้งคันได้ เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีสารหล่อลื่นจำพวกจาระบี ซึ่งเมื่อโดนความร้อนจะละลายไหลออกมาและติดไฟได้

กลิ่นเหม็นไหม้จากผ้าเบรกนี้ มักจะเกิดจากรถยนต์ที่ขับลงตามภูเขาต่างๆ และผู้ขับขาดความชำนาญ จึงใช้เบรกต่อเนื่องกัน ทำให้ผ้าเบรก, น้ำมันเบรก และจานเบรกเกิดความร้อน จึงมีคำแนะนำเสมอมาว่า เมื่อขับรถยนต์ลงจากภูเขาที่สูงชัน อย่าใช้เบรกต่อเนื่องหรือเลียเบรก ให้ใช้เบรกจากเครื่องยนต์ช่วยชะลอความเร็ว 

และหากเป็นไปได้ให้เปิดกระจกขับรถ เพื่อที่จะได้รับรู้กลิ่นและจอดพักรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้ทันท่วงทีครับ