'BYD' ผลิตครบ 10,000 คัน โรงงานประเทศไทย
หลังจากเปิดสายการผลิตโรงงาน บีวายดีในประเทศไทยที่โรงงานในนิคมอุตสาหกกรรม ดับบลิวเอชเอ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ล่าสุด บีวายดีฉลองการผลิตครบ 10,000 คัน
บีวายดี (BYD) ระบุว่า โรงงาน บีวายดีประเทศไทย สามารถผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทยได้ครบ 10,000 คัน
"ถือเป็นปรากฏการณ์ในฐานะแบรนด์ยนตรกรรมจากประเทศจีนที่สามารถผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดประเทศไทยครบ 10,000 คันได้เร็วที่สุดหลังเปิดดำเนินการเพียง 4 เดือน นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในโอกาสครบรอบ 30 ปีของบีวายดี"
ทั้งนี้โรงงานบีวายดีประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงสุด (capacity) 150,000 คัน/ปี โดยเปิดสายการผลิต BYD DOLPHIN, BYD ATTO 3 และ BYD SEALION 6 โดยรถยนต์พลังงานใหม่คันที่ 10,000 คือ BYD SEALION 6 DM-i Plug-in Hybrid
สำหรับโรงงานบีวายดีในประเทศไทย ถือเป็นการเปิดสายการผลิตนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก และเป็นโรงงานขนาดใหญ่ด้วยพื้นที่รวมประมาณ 600 ไร่ ซึ่งบีวายดีวางตำแหน่งให้โรงงานแห่งนี้เป็นฮับการผลิตและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน
โดยบีวายดีมีแผนลงทุนรวม 9 โครงการทั้งโรงงานประกอบรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วน การเชื่อม การทำสี นอกจากนี้ยังประกอบแบตเตอรี และชื้นส่วนสำคัญอื่นๆ เช่นระบบส่งกำลังอีกด้วย โดยมีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบัน บีวายดี เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยมีธุรกิจใน 400 เมือง 88 ประเทศ มีสำนักงานบีวายดีรวม 44 สาขา และในกลุ่มธุรกิจรถยนต์ปี 2566 สามารถสร้างยอดจำหน่ายได้รวม 3.02 ล้านคัน
สำหรับประเทศไทย บีวายดีเปิดตัวรถรุ่นแรกคือ แอทโต 3 วันที่ 11 เมษายน 2565 และระบุว่าการเข้ามาสร้างโรงงานในไทยใช้เวลาในการก่อสร้างโรงงาน 16 เดือน ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก และโรงงานแห่งนี้เมื่อเปิดเต็มรูปแบบจะก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10,000 ตำแหน่ง
รวมถึงมีแผนร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น ยกระดับการพัฒนาบุคคลากร ร่วมกันส่งเสริมธุรกิจของบีวายดี และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก้าวสู่ทิศทางใหม่ ทั้งเทคโนโลยี และพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ บีวายดี เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ ที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวีระยะเร่งด่วนจากภาครัฐ หรือ EV 3.0 และจะต้องผลิตรถในประเทศชดเชยการนำเข้าในช่วงการใช้สิทธิที่ผ่านมา
ทั้งนี้รัฐกำหนดการผลิตชดเชยหากเริ่มต้นผลิตปี 2567 จะต้องผลิตคืน 1 เท่า แต่ถ้าเริ่มต้นผลิตปี 2568 จะต้องผลิต 1.5 เท่าของจำนวนที่นำเข้ามาใช้สิทธิ์