ซูซูกิ สวิฟท์ อีโคคาร์ แรงดี คุมง่าย

ซูซูกิ สวิฟท์ อีโคคาร์ แรงดี คุมง่าย

อีโค คาร์ เฟส 1 เปิดตัวกันไปครบถ้วนแล้ว ปิดท้ายโดยโตโยต้า ยาริส ที่ก็ถือว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่น่าพอใจ

ไม่ถึง 1 เดือน ยอดจองได้ประมาณ 8,000 คัน

ตลาดรถอีโค คาร์ ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ในยุคที่ตลาดรถยนต์เริ่มถดถอย โดยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ 4 ยี่ห้อยกเว้นโตโยต้าที่เพิ่งเปิดตัวเดือนต.ค. ขายรวมกันได้ 1.36 แสนคัน มากกว่าปีที่แล้ว 39% ผู้นำตลาดยังเป็น นิสสัน ตามด้วย มิตซูบิชิ ส่วน ซูซูกิ อยู่อันดับ 3 มียอดรวม 2.85 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 219%

ซูซูกิ เป็นค่ายเดียวที่ทำตลาดรถรูปแบบเดียวคือ แฮทช์แบ็ค ขณะที่อีก 3 ค่ายนั้นมีทั้งแฮทช์แบค และ ซีดาน ส่วนขณะนี้มีเพิ่มอีกหนึ่งค่ายที่ทำตลาดเฉพาะแฮทช์แบ็ค ก็คือ โตโยต้า

จะว่าไปแล้วสำหรับ ยาริส ในด้านของตัวสินค้าเรียกว่าเป็นคู่แข่งกันโดยตรงกับสวิฟท์ เพราะนอกจากจะเป็นรถแบบแฮทช์แบ็คเหมือนกันแล้ว ทั้ง 2 ตัว ยังมีพื้นฐานมาจาก บี-คาร์ หรือ ซับคอมแพค เหมือนกันอีกด้วย ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ ในเรื่องของความกว้างขวาง

ยอดขายของ ซูซูกิ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะเปิดตัวมานานแล้วก็ตาม แต่ว่าช่วงนี้เมื่อแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากตลาดหดตัว และมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด อย่างยาริส ซูซูกิ ก็ต้องสร้างความเคลื่อนไหวให้กับสวิฟท์บ้างเช่นกัน

ซูซูกิ ออกรถรุ่นสีพิเศษออกมา คือ สีเขียว หรือ Energy Green เป็นรุ่นที่จะผลิตออกมาจำนวนจำกัด และจะผลิตออกมารุ่นเดียว คือ GLX ซึ่งเป็นท็อปสุด ราคา 5.59 แสนบาท

ผมเองห่างหายการขับซูซูกิไปนาน และคราวนี้ ซูซูกิ จัดทริปทดสอบข้ามประเทศ จากหนองคายไปวังเวียง ลาว ซึ่งเป็นเมืองที่ผมเคยผ่านมา 1 ครั้ง เมื่อครั้งที่ขับมาสด้า บีที 50 ไปหลวงพระบาง ก็เรียกความสนใจได้ไม่น้อย เพราะเคยผ่านเส้นทางนี้มาแล้ว และอยากที่จะรู้ว่าเมื่อต้องนั่งหลังพวงมาลัย สวิฟท์ จะเป็นอย่างไร

เพราะว่าเส้นทางนี้จะทดสอบได้หลากหลาย มีทั้งทางราบ เส้นทางที่ต้องผ่านภูเขาประมาณ 60 กิโลเมตร และโดยรวมเป็นเส้นทางแบบ 2 เลนสวนทาง ผิวถนนไม่ดีนัก ปริมาณรถอาจจะไม่มาก แต่เจอแต่ละครั้ง ไม่ธรรมดา ประมาณว่าแซงบนเนิน แซงในทางโค้ง ทำเอาต้องหักพวงมาลัยสวิฟท์หลบลงไหล่ทาง

หลายช่วงก็เป็นหลุมเป็นบ่อ การขับแบบต้องเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน เพื่อหลบหลีก เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นการทดสอบไปในตัวว่าการเปลี่ยนช่องทางไปมา ช่วงล่างของสวิฟท์ทำได้ดี ยังสามารถควบคุมรถได้อย่างน่าพอใจ

ความแม่นยำของพวงมาลัย เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งครับ การขับแบบนี้ หากพวงมาลัยไม่แม่นยำ เหนื่อยแน่ครับ เพราะการหักพวงมาลัยไปซ้ายทีก่อนดึงกลับขวาทันที หรือหักขวาดึงซ้ายทันที หากพวงมาลัยขาดความแม่นยำ อาจจะทำให้รถเสียหลักได้

เส้นทางบนภูเขา ขับได้สนุกครับ แม้ว่าเส้นทางอย่างที่ผมบอกว่าหลุมมีร่องต้องหักหลบบ้างและก็ยังมีเม็ดกรวดบางช่วง แต่สวิฟท์สามารถสนุกกับโค้งได้ มองทางไปไกลๆ มองทะลุโค้ง จากนั้นหักพวงมาลัย เท้าแตะคันเร่ง หรือเติมแบบนุ่มๆ รถวาดตัวขนานกับขอบถนนไปนิ่งๆ จะไม่นิ่งก็มีแต่คนในรถ กับสัมภาระที่กลิ้งไปกลิ้งมา

ทำได้ดีครับ สำหรับช่วงล่างของ สวิฟท์ ที่ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง ด้านหลัง ทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริง

ระบบเบรกหน้าดิสก์ หลัง ดรัม เสริมตัวช่วยมา ก็คือ เอบีเอส และ อีบีดี หรือระบบกระจายแรงเบรก ซึ่งการทำงานของเบรกก็ทำได้ดี เพราะต้องใช้เบรกหลายครั้ง ทั้งทางตรง และในโค้งเมื่อเจอกับที่สวนมากลางโค้ง ถือว่าการทรงตัวของรถขณะเบรกทำได้ดี ไม่มีอาการร่อน และอาการประเภทหน้าทิ่มก็ไม่ค่อยมี

เครื่องยนต์ขนาด 1,242 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 91 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 118 นิวตันเมตร ที่ 4,800 รอบ/นาที กับเกียร์ซีวีที ตอบสนองการใช้งานได้เพียงพอ จำได้ว่าเมื่อครั้งทดสอบพื้นราบ คือ จากกรุงเทพฯ วิ่งเข้าไปทางหนองหญ้าปล้องไปโผล่หัวหิน สิ้นสุดที่ปราณบุรี ผมเคยชมการทำงานของเครื่องยนต์ที่แรงพอตัว การขับขี่ในระดับ 150 กม./ชม. ทำได้สบายๆ

มาเที่ยวนี้ขับขี่บนเขาเป็นหลัก ที่ต้องมีการผ่อน และเติมคันเร่งสลับกันไปมาบ่อยครั้ง โดยต้องแบกน้ำหนักรถ 975 กิโลกรัม บวกชายหนุ่มอีก 3 คน พร้อมกระเป๋าสัมภาระย่อมๆ สวิฟท์ทำหน้าที่ได้ดี การเดินทางไม่มีจังหวะสะดุด

โดยรวมแล้ว สวิฟท์ เป็น อีโค คาร์ ที่ค่อนข้างสมดุลในตัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ การควบคุมรถ หรือว่าความสะดวกสบาย เป็นตัวเลือกในตลาดอีโค คาร์ ที่หากใครรู้สึกชื่นชอบอยู่แล้ว ก็ซื้อได้เลยครับ