การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้บริษัทรถยนต์ตั้งปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ รูปแบบการตลาดหลายๆ อย่างต้องเปลี่ยนไป เพื่อลดการพบปะของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวรถ หรือ กิจกรรมการขายที่ต้องหันมาพึ่งพาช่องทางออนไลน์มากขึ้น
แม้ว่าออนไลน์ ก่อนหน้านี้จะเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีบทบาทต่อธุรกิจ ต่อการซื้อขายสินค้ามากขึ้น แต่สำหรับตลาดรถยนต์อาจจะยังไม่เห็นผลมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และมีรายละเอียดมาก ทำให้ผู้บริโภคนิยมที่จะสัมผัสกับของจริงก่อนตัดสินใจซื้อ
แต่ความจำเป็นของสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้หลายๆ บริษัทหันมาเน้นด้านนี้มากขึ้น และหลายรายยืนยันว่าได้รับการตอบรับที่ดี เช่น มาสด้า ที่เปิดตัว ซีเอ็กซ์-30 เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมาทางช่องทางออนไลน์ และเปิดรับจองลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ “สกาย บุ๊คกิ้ง”
ซีเอ็กซ์-30 จึงเป็นโมเดลแรกที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบครบวงจรมากที่สุดตั้งแต่การเปิดตัว การรับ-ส่งข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ และการจองซื้อรถ
ชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาจองที่โชว์รูม เพียงเข้าไปหาข้อมูลและรายละเอียดผ่านทางเว็บไซต์ และสามารถจองผ่านระบบออนไลน์ได้เลย
และตั้งแต่เริ่มต้นถึงขณะนี้ก็พบว่าช่องทางออนไลน์ประสบความสำเร็จอย่างดี สามารถสร้างการรับรู้จนเกิดกระแสตอบรับอย่างรวดเร็ว ได้รับความสนใจจากลูกค้า มียอดขายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดมียอดจองมากกว่า 2,000 คัน โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ เอสพี ซึ่งเป็นรุ่นท็อป มีสัดส่วนการจองสูงกว่า 80% ทั้งนี้มาสด้าได้เริ่มทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าไปแล้วกว่า 1,000 คัน และยืนยันว่าแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่จะมีรถส่งมอบให้กับลูกค้าได้เพียงพอ
"สถานการณ์โรคระบาดความรุนแรงระดับวิกฤตเช่นนี้ ทุกธุรกิจต่างเฝ้าระวังและวางแผนเพื่อรับมือกันแบบวันต่อวัน อีกทั้งการดำเนินธุรกิจแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ในเวลานี้ ส่งผลให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือหลักในการประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไป โดยเฉพาะมาสด้าให้ความสำคัญ ศึกษา และพัฒนาระบบออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ผู้จำหน่าย พันธมิตรทางธุรกิจ"
ทางด้านฟอร์ด ก็ผุดกิจกรรม “ฟอร์ด มอเตอร์โชว์ ไลฟ์” หรือมหกรรมขายรถฟอร์ด ออนไลน์ทั่วประเทศครั้งแรก
วิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะเป็นการจัดครั้งแรก แต่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมาก มียอดเข้าชมการถ่ายทอดสดกว่า 1.5 ล้านวิว ทั้งช่องทาง ยูทูบ และเฟซบุ๊คของฟอร์ด ในช่วง 2 วันของการจัดงาน
สำหรับรูปแบบการจัดงาน ฟอร์ดใช้ ฟอร์ด ที เอส ออโต้เซลส์ บางบัวทอง ตัวแทนจำหน่ายเป็นศูนย์กลางจัดงาน และถ่ายทอดสดบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีดารา ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ และเจ้าของรถฟอร์ด มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ตลอด 2 วัน ซึ่งช่วยสร้างสีสันและกระตุ้นการมีส่วนร่วมกับลูกค้าในช่วงที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการใช้เวลาอยู่ที่บ้าน และเน้นการรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
“ความสำเร็จของแคมเปญฟอร์ด มอเตอร์ โชว์ ไลฟ์ ครั้งนี้ นอกจากเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าแล้ว เราได้ส่งต่อกลยุทธ์ด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งไปยังตัวแทนจำหน่ายให้พร้อมต่อยอดพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้สามารถในการสื่อสารออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มช่องทางสื่อสารกับลูกค้าได้ตรงจุดและรวดเร็ว เพิ่มความสะดวกแก่ทั้งลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าใหม่ ให้เข้าถึงแบรนด์ฟอร์ดได้ง่ายขึ้น” วิชิตกล่าว
ทั้งนี้ก่อนการจัดงาน ฟอร์ด ระบุว่า แนวคิดการจัดกิจกรรมนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่งาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์ โชว์ ประกาศเลื่อนงานออกไปจากกำหนดเดิมคือปลายเดือน มี.ค.
และไม่ได้คาดหวังกับยอดขายจากงานนี้มากนัก แต่ต้องการสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้กับตัวแทนจำหน่าย การเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และการมีข้อมูลในการติดตามลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ ในอนาคตให้มากขึ้น