Royal Enfield พร้อมผลิตรถในไทย ต้นปีหน้า
หลังทำตลาด 4 ปี ขายรถรวม 7,000 คัน เร่งเปิดสโตร์เพิ่ม ดันยอดขายโตเร็ว
รอยัล เอนฟิลด์ บริษัทรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของอินเดีย ที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยเมื่อปี 2559 และสามารถสร้างยอดขายได้น่าพอใจ อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดของรถที่มีต้นกำเนิดจากอังกฤษรายนี้ คือ การสร้างฐานการผลิตในไทย และใช้เป็นการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตามช่วงนี้โลก และไทย ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจต่างๆ ไม่สะดวกนัก และตลาดอยู่ในภาวะถดถอย แต่ล่าสุดผู้บริหารรอยัล เอนฟิลด์ แถลงแผนธุรกิจข้ามประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ ในยุคนิว นอร์มอล และยืนยันว่าทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไป
โดยผู้ร่วมแถลงประกอบด้วย “สิทธัตถะ ลาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเคอร์ มอเตอร์ส ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของรอยัล เอนฟิลด์, “วิโนด เค ดาสารี่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รอยัล เอนฟิลด์ และ “วิมัล ซุมบ์ลี” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
สิทธัตถะ กล่าวว่า กลยุทธ์หลักในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงไทย สิ่งที่รอยัลเอนฟิลด์ดำเนินการก็คือ การนำรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในอินเดียมาปรับใช้ แต่ที่สำคัญก็คือเป้าหมายการขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดรถขนาดกลาง
สิทธัตถะ ลาล
แนวทางทางการดำเนินธุรกิจที่สำคัญคือ หลักการ "Less is More-inch-wide" และ "Mile-deep approach" ซึ่งเป็นการมองในเชิงลึก ขณะที่ตัวสินค้าจะเน้นที่การออกแบบ ต้องมีรูปทรงที่สวยงาม มีความคลาสสิกเพื่อให้ผู้ใช้มีความสุข สนุกสนาน ตอบสนองการพักผ่อน และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการขับขี่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ใช้ทั่วโลกคือการร่วมมือกับนักคัสตอมรถทั่วโลก เพื่อสร้างเอกลักษณ์
ด้านการขาย จะต้องมีเครือข่ายการขาย และการบริการที่มีความพร้อม และจะต้องสะท้อนความเป็นแบรนด์ออกมาให้ได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่รอยัล เอนฟิลด์ ใช้ทั่วโลก
"เรายังมีวิธีการมองจากภาพรวมของตลาดใหม่ โดยการสร้างความสนใจและความต้องการในเมืองหลักที่มีศักยภาพ จากนั้นจึงกระจายไปยังเมืองรองเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ"
ในส่วนของประเทศไทย บริษัทเริ่มต้นธุรกิจด้วยการดำเนินการแค่ 1 สโตร์ ในช่วง 3 ปีแรก แต่ใช้เวลาดังกล่าวในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับทั้งลูกค้าและธุรกิจ รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย และหลังจากมีความพร้อมเพียงพอ บริษัทก็เร่งขยายเครือข่ายอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้เปิดบริการแล้วทั้งสิ้น 26 แห่ง และมีแผนที่เพิ่มอีก 10 แห่ง เป็น 36 แห่ง ภายในไตรมาสแรกปี 2564 ส่วนในเอเชียแปซิฟิก บริษัทก็ขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น 50%
"การขยายเครือข่ายเป็นแนวทางที่ใช้กับตลาดต่างประเทศ และมีผลทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปีนี้ภูมิภาคเอเชียแซฟิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่สำคัญ รอยัล เอนฟิลด์มีผลการดำเนินงานที่เติบโต 96%"
สิทธัตถะ กล่าวว่า เครือข่ายที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ เช่น กรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักในประเทศไทย จาการ์ตาร์ในอินโดนีเซีย โซล เกาหลีใต้ เมลเบิร์น ออสเตรเลีย โฮจิมินห์ และฮานอย เวียดนาม มะนิลา ฟิลิปปินส์ และพนมเปญ กัมพูชา
ด้านวิโนด กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายในการดำเนินธุรกิจระดับโลกก็คือการสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ในแต่ละตลาด และรูปแบบการทำงานที่ต่างกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะชอบมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่กว่า เร็วกว่า ซับซ้อนกว่า และแพงกว่า จึงทำให้เกิดช่องว่างสำหรับมอเตอร์ไซค์ขนาดกลางที่มีทุกอย่างครบครัน ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่คนเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กเป็นหลัก กลุ่มคนที่ชื่นชอบการขับขี่มัก มองหามอเตอร์ไซค์สำหรับความสนุกและการพักผ่อน แต่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้
"เรามั่นใจว่าเราสามารถเป็นคำตอบให้กับทุกตลาดด้วยมอเตอร์ไซค์รอยัล เอนฟิลด์ เพราะเราผสานขนาดที่ตอบโจทย์ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาเข้ากับความซับซ้อนและงานที่พิถีพิถันแบบที่ตอบโจทย์ตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว”
ในส่วนประเทศไทย พบว่าลูกค้าตอบรับดีตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาทำตลาด จุดเด่นคือรูปแบบของรถที่มีเอกลักษณ์และปรับแต่งได้ง่าย
วิมัล ปีแรกของการทำตลาดในไทยมียอดขาย 889 คัน และปีที่ 4 เพิ่มขึ้นเป็น 3,146 คัน ทำให้ขณะนี้มีฐานประชากรรอยัล เอนฟิลด์ในไทยแล้วมากกว่า 7,000 คัน และปัจจุบันรอยัล เอนฟิลด์ มีส่วนแบ่งตลาด 5.5% ในกลุ่มมอเตอร์ไซค์ขนาดกลางเครื่องยนต์ 250-750 ซีซี และการมีแผนเปิดสโตร์เพิ่มจะยิ่งทำให้การเติบโตของยอดขายเร็วขึ้น
ส่วนการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดรวมช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. ติดลบ 22% แต่เริ่มฟื้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. และเชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับแผนการประกอบในไทย รอยัล เอนฟิลด์ ยืนยันว่าจะได้เห็นในช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2564 แน่นอน ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2564 แน่นอน