นาวารา ลุยได้แค่ไหน ...ต้องลองให้รู้
นิสสัน มีแผนจัดกิจกรรมลองขับ นาวารา ไมเนอร์เชนจ์ กลางเดือนมกราคมนี้ แต่ติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เสียก่อน ทำให้ต้องเลื่อนออกไป แต่วันนี้ผมมีการลองขับในรูปแบบที่หลายคนก็คงอยากรู้ว่า มันทำได้ดีแค่ไหน
บ้านเราปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และการกระทำของพวกเราเอง ที่ใช้ชีวิตอย่างไม่เข้าใจธรรมชาติ ก่อสร้างสิ่งกีดขวางหรือปิดกั้นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร ถนน หรือแม้แต่การถมคูคลองในยุคที่หันหลังให้กับเรือ
ปัจจุบันหลายคนที่ใช้รถ จึงมองหารถที่สามารถใช้งานในสภาพเส้นทางที่ไม่คาดคิดได้ และปิกอัพ ถือเป็นหนึ่งในรถที่ใกล้เคียงกับความต้องการนี้ และวันนี้ผมจะนำ "นาวารา ไมเนอร์เชนจ์" มาฝากกัน
นาวารา ไมเนอร์เชนจ์ เปิดตัวปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน ดุดัน ได้แนวคิดมาจากรุ่นใหญ่อย่าง “ไตตัน” ที่จำหน่ายในต่างประเทศ ทั้งรูปทรงของกระจังหน้า ขนาดใหญ่ ไฟหน้าแบบ Quad-eye แอลอีดี 4 ดวง ไฟส่องสว่างเวลากลางวันและไฟท้ายแอลอีดี ไลท์ ไกด์ แบบเส้นเดียว ซุ้มล้อ เพิ่มความดุดัน ฝาปิดท้ายกระบะแบบผ่อนแรง ไม่ต้องออกแรงฮึดกันอีกต่อไปใช้แค่ 2 นิ้ว ก็ยกขึ้นได้ และกันชนท้ายทำแบบ 2 สเต็ป เอื้อต่อการปีนขึ้นปีนลง
ช่วงล่างเดิม แต่ปรับแต่งใหม่ เครื่องยนต์มีให้เลือก 3 รุ่น โดยมีเครื่องยนต์ใหม่ คือ "ดีเซล 2.3 ลิตร ทวินเทอร์โบ" ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร
นอกจากนี้ก็ยังเพิ่มรุ่นย่อยเข้ามาอย่าง "Pro-4X" ขับเคคลื่อน 4 ล้อ ที่มีหน้าตาดุดัน ถูกใจคออฟโรด และ "Pro-2X" สำหรับขับทางเรียบที่มีใจชื่นชอบหน้าตาแบบออฟโรด
แต่หากใครที่ไม่ได้ชอบหน้าตาแบบ Pro-4X แต่อยากได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ นิสสัน ก็มี นาวารา "วีแอล" เป็นอีกทางเลือก การตกแต่งภายนอกต่างออกไป แต่ในห้องโดยสารเพิ่มการปรับเบาะด้วยไฟฟ้า ขณะที่ Pro-4X เป็นแมนนวล
ราคาต่างกัน 2 หมื่นบาท Pro-4X อยู่ที่ 1,149 ล้านบาท ส่วน วีแอล 1.129 ล้านบาท ใครชอบแบบไหนก็เลือกเอา
ทั้ง 2 รุ่นนี้ ขับในรูปแบบออฟโรดแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ผมเคยรายงานไปแล้วกับการขับในสนามจำลองที่โหดพอควร ทั้งเนินชัน เนินเอียง ลงบ่อ ลุยน้ำ ซึ่งทั้ง 2 ตัว ตอบสนองได้ดีพอ
ส่วนการลองขับครั้งนี้ เรื่องของเรื่อง เพราะก่อนหน้านี้ในการเปิดตัว วิศวกรอธิบายรายละเอียดของรถข้ามน้ำข้ามทะเลจากญี่ปุ่น เพราะการเดินทางมาไทยช่วงนี้ไม่สะดวกว่า นาวารา สามารถลุยน้ำได้ประมาณ 450 มม. แต่ว่าในบ้านเรารถปิกอัพเขาเคลมกันระดับ 700-800 มม. ดังนั้นก็คิดว่านาวาราก็น่าจะลุยได้ไม่แพ้กัน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อจำกัดในการนำเสนอข้อมูลของที่ญี่ปุ่นหรืออย่างไร
ทางที่จะรู้ได้คือ ต้องลองครับ เพราะจริงๆ แล้วความสามารถในการลุยน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะบ้านเรามีปัญหาเรื่องน้ำท่วมกันบ่อย รวมถึงหลายๆ คนก็ตั้งใจที่จะใช้รถในเส้นทางดังกล่าว เช่น การช่วยเหลือ การกู้ภัย
และไหนๆ ก็ลองแล้ว เอาไปทั้ง 2 รุ่น คือ Pro-4X และ วีแอล ซึ่งทั้ง 2 รุ่น ใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวกัน เกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด เช่นกัน และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเช่นเดียวกัน
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้งานไม่ยาก มีปุ่มให้ปรับเปลี่ยนที่แผนคอนโซลกลาง สามารถเปลี่ยนระหว่างการขับเคลื่อน 2 ล้อ (2H) กับ 4 ล้อ (4H) ได้ในระหว่างขับขี่ แต่ถ้าจะเปลี่ยนระหว่าง 2H/4H กับ โหมด 4 ล้อความเร็วต่ำ (4Lo) ต้องจอดก่อน จากนั้นปลดเป็นเกียร์ว่าง (N) ซึ่งก็ไม่ยุ่งยากอะไร ใช้เวลาไม่นาน
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาพร้อม "ระบบป้องกันการลื่นไถล (B-LSD)" ที่จะส่งแรงไปยังล้อที่ลื่นไถล กระจายแรงขับขี่ไปที่ล้อแต่ละข้างเมื่อขับขี่ในโหมด 4H และ "ระบบล็อคเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า" เพื่อช่วยเสริมกำลังในการขับขี่ที่่ต้องการแรงบิดสูง เมื่อเลือกโหมด 4L
มาลองลุยกันครับ เส้นทางนี้แยกตัวออกจากถนนใหญ่เข้าไปในเส้นทางดินสักพักก็เจอเป้าหมาย ไม่ชักช้า จอดรถ เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนเป็น 4L จากนั้นปิดแอร์ เพื่อป้องกันความเสียหายของพัดลม รวมถึงเครื่องยนต์หากพัดลมตีน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง เพราะเห็นอยู่ว่าระดับน้ำมันขึ้นมาถึงแน่ เพราะลึกสุดที่วัดกันไว้คือ "900 มม." หย่อน 1 เมตรไปนิดเดียวเท่านั้น
ค่อยๆ ปักหัวลงลำธาร ตลิ่งชันทีเดียว แต่ไม่มีปัญหาอะไร แม้จะมองไม่เห็นทาง เพราะระบบกล้องด้านหน้าทำงานอัตโนมัติ ทำให้มองเห็นผ่านจอมิเตอร์แทน
ทางลงชันพอควร ซึ่งก็ทำให้รู้ว่า มุมปะทะ มุมจากของนาวาราใช้ได้ หน้าไม่ทิ่มลงไปในหินในดินใต้น้ำ เช่นเดียวกับกระบะท้่ายก็ไม่ขุดดินริมตลิ่งลงมาด้วย
เมื่อตั้งลำได้แล้วก็ค่อยๆ ขับไปเรื่อยๆ ไม่ยากอะไร กำลังเครื่องยนต์เหลือเฟือ แค่รักษารอบเครื่องยนต์ให้นิ่งๆ ระะดับ 1,500 รอบ บวกลบ ก็สามารถฝ่าเส้นทางนี้ไปไม่ยาก โดยเกียร์ก็ใช้ D นี่แหละครับ
อีกอย่างก็คือ รักษาความเร็วให้คงที่ที่สุด เพื่อไม่ให้ไปสร้างคลื่นหน้ารถ หรือช่วงที่ขับทวนน้ำ จะได้ไม่ทำให้น้ำเข้ามายังห้องเครื่องมากเกินไป รวมถึงป้องกันไม่ให้ล้อไปตะกุยพื้นใต้ลำธารจนทำให้เป็นร่องลึก อาจะทำให้รถติดค้างกลางน้ำได้ แค่นั้น
ขับกันระยะทางและเวลาพอควรทั้ง Pro-4X และ VL ซึ่งผ่านไปได้สบายๆ ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้น แม้ว่าจะมีน้ำเข้ามาในพื้นห้องโดยสารเท้าจมน้ำกันไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ก็แค่เมื่อปีนกลับขึ้นไปบนตลิ่งแล้ว จัดการเปิดประตูให้น้ำไหลออกไปเสียงดังโจ๊กๆ เท่านั้นเอง
สรุปได้ว่า นาวารา ลุยน้ำระดับ 900 มม. ได้สบายครับ กำลังเครื่องยนต์เหลือเฟือ และไม่ดับกลางทาง ระบบขับเคลื่อนทำได้ดี
แต่สำหรับใครที่จะลุยน้ำจริงๆ ฝากไว้นิดว่า ต้องดูสภาพของน้ำด้วย ถ้านิ่ง หรือไหลไม่แรงนัก ก็ลุยได้ แต่ถ้าน้ำเชี่ยวอย่าเอารถไปขวางไปลุยครับ เพราะมันจะพัดให้เสียหลักล่องลอยไปกับกระแสน้ำ อันตรายมากครับ
เพราะต่อให้รถหนักแค่ไหน แต่เมื่ออยู่ในน้ำ ถ้าน้ำยังไม่เข้ามาในห้องโดยสาร มันก็เหมือนกับป็นอ่าง เป็นกาละมัง ที่ลอยน้ำได้นั่นเอง