เบนซ์ ย้ำไทยเดินแผน Electric Only ผนึกรัฐ ดัน อีวี
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ย้ำพร้อมสนองนโยบาย ผลักดันสังคมพลังงานสะอาด พร้อมเดินแผนผลิต ทำตลาด อีวี ยกระดับบุคลากร ต่อยอดเทคโนโลยี ไฟฟ้า
โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายระดับโลกของบริษัทแม่ “เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี” เยอรมนี ที่ประกาศแผนชัดเจนว่าจะก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวภายในทศวรรษนี้ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ปราศจากมลพิษ
โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังเปลี่ยนจากกลยุทธ์ “ไฟฟ้ามาก่อน” (electric first) เป็น “ไฟฟ้าเท่านั้น” (electric only) โดยตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป รถยนต์ใหม่ที่จะเปิดตัวจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ภายใต้โครงสร้างรถยนต์ใหม่ 3 แบบ ได้แก่
- MB.EA
- AMG.EA
- VAN.EA
สำหรับประเทศไทย เมอร์เซเดส-เบนซ์ เลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 7 ที่ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่และโรงงานประกอบรถยนต์ เพราะเรามั่นใจในศักยภาพของตลาด และเล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยี
รวมไปถึงความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐในการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ
นอกจากนี้ยังเห็นว่าแรงงานไทยก็เป็นแรงงานที่มีฝีมือ การตั้งโรงงานประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่ในไทยด้วยมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะมาตรฐานการทดสอบแบตเตอรี่ในระดับสูงสุด จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เติบโตรุดหน้า ตอบรับเทรนด์ e-mobility ของโลก
สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ กับประเทศไทย มีความสัมพันธ์มายาวนาน เริ่มตั้งแต่การเริ่มมีรถคันแรกเข้ามาทำตลาดในปี 2448
จากนั้นแต่งตั้งบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2493 รวมถึงการเปิดสายการผลิต
โดยในปี 2559 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกอบรถยนต์ในไทยครบ 100,000 คัน จากนั้นได้ริเริ่มให้มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้การดูแลของบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TESM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่ได้รับอนุญาตจากเมอร์เซเดส-เบนซ์แต่เพียงผู้เดียว
โดยโรงงานแห่งนี้ มีความพร้อมในการผลิตแบตเตอรี่ทั้งสำหรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น C-Class, E-Class และ GLC รวมถึงรุ่น S 580 e ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์รุ่น EQS (อีคิวเอส) ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% คันแรกจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่มีแผนจะประกอบในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้
โฟลเกอร์ กล่าวว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนยานยนต์สมัยใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและมลพิษต่ำ โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง
รวมถึงมองไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ การส่งมอบโอกาสทางด้านความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับแรงงานชาวไทย ซึ่งสามารถนำไปวิจัยต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ต่อไปได้
“ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากนโยบายและมาตรการที่จูงใจให้เกิดการลงทุน ทั้งในแง่ของการสนับสนุนผู้ผลิต การกระตุ้นความต้องการยาานยนต์ไฟฟ้า แผนขยายสถานีชาร์จ การสร้างโครงข่ายสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และการวางแผนดำเนินงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน”