CPF เลิกใช้ถ่านหินปี 2565 เดินหน้าใช้เชื้อเพลิงสะอาด ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
CPF ยกเลิกใช้ถ่านหินในปี 2565 สำหรับกิจการในประเทศไทย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) มุ่งมั่นใช้เชื้อเพลิงสะอาด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ยกเลิกใช้ถ่านหินในปี 2565 สำหรับกิจการในประเทศไทย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) มุ่งมั่นใช้เชื้อเพลิงสะอาด ทั้งจากพลังงานชีวมวล (Biomass) พลังงานชีวภาพ (Biogas) ในกระบวนการผลิต พร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างฐานการผลิตอาหารมั่นคงและการบริโภคอย่างยั่งยืน
นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สำนักวิศวกรรมกลาง ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินโครงการ "CPF Coal Free 2022" มีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตทั้งหมด สำหรับกิจการในประเทศไทย ในปี 2565 และทดแทนด้วยพลังงานชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ปัจจุบันโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกของบริษัทฯทั้งหมด 12 แห่ง ได้ยกเลิกการใช้ถ่านหิน โดยใช้พลังงานชีวมวลทดแทนถ่านหินในการผลิตไอน้ำแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการในโรงงานอาหารสัตว์น้ำ 2 แห่ง และโรงงานแปรสภาพขนเป็ด-ไก่ท้ายบ้าน 1 แห่ง คาดว่าโดยภาพรวมจะสามารถยกเลิกการใช้ถ่านหินได้ตามเป้าหมาย ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
"ซีพีเอฟ เดินหน้าธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งการหยุดใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน จะช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดูแลสิ่งแวดล้อม บรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน สู่เป้าหมายองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)" นายพีรพงศ์ กล่าว
CPF มีเป้าหมายขับเคลื่อนสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Organization) กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยการผลิตลง 25% ในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558 ภายใต้กลไกสำคัญ คือ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของพลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบัน มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายพีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2565 บริษัท ฯ เดินหน้าส่งเสริมโครงการฟาร์มและโรงงานต้นแบบที่ใช้พลังงานหมุนเวียน อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบันดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) บนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงานไปแล้ว 23 แห่ง โซลาร์ ฟาร์ม (Solar Farm) 4 แห่ง และโซลาร์ ลอยน้ำ (Solar Floating) 2 แห่ง
ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในระยะที่สาม โดยจะติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป โซลาร์ ฟาร์ม และโซลาร์ ลอยน้ำ อีกไม่น้อยกว่า 60 แห่ง คาดว่าหลังจากดำเนินการทั้ง 3 ระยะเสร็จสิ้นในปี 2566 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 43 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้า 62 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 26,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ปีละ 2.8 ล้านต้น
ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย (Climate Change Water and Waste Working Group) เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนให้มีการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว สร้างฐานการผลิตอาหารมั่นคงและการบริโภคอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นเลิศ เพื่อสร้างผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า