กลับมาจัดที่ไทยอีกครั้ง "งานประชุมการดูแลสุขภาพอัจฉริยะไต้หวัน-ไทย ประจำปี 2565"
กลับมาไทยอีกครั้งหลังโควิด "งานประชุมการดูแลสุขภาพอัจฉริยะไต้หวัน-ไทย ประจำปี 2565" จัดโดยโรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน มุ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยมีบุคลากรสาธารณสุขไทยเข้าร่วมกว่า 250 คน
ปัจจุบันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการรักษาแบบแม่นยำได้กลายเป็นเทรนด์ระดับโลก การแพทย์อัจฉริยะ หรือ Smart Healthcare ถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะเรื่องการรักษาแบบแม่นยำ และเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมที่ประเทศไทยกำลังผลักดันเป็นอย่างมาก และเป็นศักยภาพทางการตลาดที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยประสบการณ์ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการรักษาแบบแม่นยำอันยาวนานของ ไต้หวัน
โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน จึงได้จัด "งานประชุมการดูแลสุขภาพอัจฉริยะไต้หวัน-ไทย ประจำปี 2565" ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว ซึ่งนอกจากการบรรยายแล้ว ยังได้เชิญผู้ประกอบการด้านการแพทย์อัจฉริยะจากไต้หวันทั้งหมด 15 รายเข้าร่วมด้วย โดยงานประชุมในครั้งนี้ มีบุคลากรสาธารณสุขไทยมาเข้าร่วมกว่า 250 คน นับเป็นงานประชุมด้านการแพทย์อัจฉริยะระดับประเทศไทยที่จัดขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19
สำหรับงานประชุมดังกล่าว โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน จัดอย่างต่อเนื่องในปี 2561 และ 2562 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีในทุกครั้ง กระทั่งปี 2563 ที่เกิดวิกฤติโควิด19 จึงได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยเน้นเนื้อหาไปที่เรื่องการป้องกันโรคระบาดด้วยระบบอัจฉริยะ ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มเบาบางลง โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียนจึงได้กลับมาจัดงานที่ประเทศไทยอีกครั้ง โดยเน้นเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการรักษาแบบแม่นยำ และเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม
โดยงานประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.นีน่า เกาเสี่ยวหลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ภารกิจทางการแพทย์ต่างประเทศ โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน, ดร.โซ่ว-ฮั่น จวง ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, รองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ดร.ธีรพร สถิรอังกูร ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ด้านการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข, ดร. จื้อ-หลง หลิน ผู้รักษาการประธาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโลหะแห่งไต้หวัน และนายอวี้-จุน หลิน หัวหน้าส่วนสินค้าและอุตสาหกรรมเคมี สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมไต้หวัน เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ดร.โซ่ว-ฮั่น จวง ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลังวิกฤติโควิด-19 การแพทย์อัจฉริยะ การรักษาแบบแม่นยำ และเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม เป็นกลยุทธ์และนโยบายทางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานประชุมฯ ในครั้งนี้จะช่วยกระชับความความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไต้หวันและไทยมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือในเชิงธุรกิจในลำดับถัดไป
นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวขอบคุณ โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน ที่ได้พยายามผลักดันงานประชุมทางการแพทย์ในไทย โดยในปัจจุบันการ แพทย์อัจฉริยะ ได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างแพร่หลาย หวังว่างานในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมงานจะสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านการแพทย์อัจฉริยะจาก ไต้หวัน ได้มากยิ่งขึ้น
ดร.ธีรพร สถิรอังกูร ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ด้านการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หวังว่าหลังจากที่ไต้หวันได้ปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แล้ว หัวหน้ากรมพยาบาลจะสามารถเดินทางไปแลกเปลี่ยนและศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการดูแลรักษาได้มากยิ่งขึ้น
หัวข้อหลักในงานประชุมครั้งนี้คือ "พลิกโฉม New Normal-การรักษาแบบแม่นยำและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ" ซึ่งได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการใช้ Big Data และ เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษา อีกทั้งช่วยพัฒนาการรักษาแบบแม่นยำ และเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม นอกจากนี้ ภายในงานได้เชิญผู้ประกอบการ 15 ราย มาแบ่งปันการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการรักษาแบบแม่นยำ รวมถึงสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายในงาน อาทิ เทคโนโลยี 5G, โซลูชัน AI, แพลตฟอร์มวิเคราะห์ภาพ, โซลูชันการแพทย์ทางไกล, หอผู้ป่วยอัจฉริยะ เป็นต้น นับเป็นการผสานรวมเทคโนโลยี และการแพทย์ไว้ด้วยกัน ผู้เข้าร่วมงานได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างคึกคัก ซึ่งช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ทั้งฝั่งไทยและ ไต้หวัน