ภาษาอังกฤษคนไทยจาก ABC สู่ AEC

ภาษาอังกฤษคนไทยจาก ABC สู่ AEC

สุภาษิตฝรั่งเศสกล่าวให้เราได้คิดว่า “A man who knows two languages is worth two men

- คนที่เชี่ยวชาญสองภาษามีคุณค่าเท่ากับคนสองคน” หรือคนที่เก่งหลายภาษาก็เหมือนกับบ้านที่มีประตูเข้าออกหลายทาง จะเข้าทางไหน จะออกทางใดก็สะดวก คนยุคปัจจุบันต้องเก่งอย่างน้อย 2 ภาษา เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกเหนือภาษาแม่แล้ว ควรรู้ภาษาอาเซียนเพิ่มอีกหนึ่งภาษาเป็นทางเลือก และอีกภาษาต้องเก่งชนิดไฟต์บังคับก็คือภาษาอังกฤษ เพราะกว่า 80% ของข้อมูลถูกบันทึกเป็นภาษาอังกฤษ และกว่า 70% ของภาษาที่ใช้ในธุรกิจก็เป็นภาษาอังกฤษ นิตยสารทางวิชาการและวิชาชีพสำคัญของโลกต่างตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงถือเป็นภาษาที่จำเป็นในการเข้าถึงแทบทุกศาสตร์ และนับวันว่าจะมีความสำคัญและขยายขอบข่ายของการใช้ให้กว้างไกลออกไปมากยิ่งขึ้น

พอหันมามองไทย ประตูแห่งโอกาสนับวันถูกปิดลงไปเรื่อยๆ สวนทางกับม่านแห่งอาเซียนที่กำลังจะเปิดกว้างออก ทั้งๆ ที่กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 ระบุว่า “ภาษาที่ใช้ในการทํางานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ” (The working language ofASEAN shall be English) แต่ภาษาอังกฤษคนไทยนับวันจะแย่ลงทุกปี โดยพิจารณาจากรายงานดัชนีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ของสำนักงานจัดอันดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ EF (Education First) จากประชากร 910,000 คน ในประเทศที่มิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ 70 ประเทศ ปรากฏว่า ไทยถูกจัดไว้ในอันดับที่ 62 ในประเทศอาเซียน เราชนะแค่ประเทศกัมพูชาเท่านั้น ผลทดสอบดังกล่าวบ่งชี้ถึงอนาคตของเด็กไทยในบริบทอาเซียน (AEC) ว่าภาษาอังกฤษของคนไทยยังอยู่ในระดับ ABC อยู่ กล่าวคือ เป็นเพียงระดับเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นนำไปใช้งานได้คล่อง ถือว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับกำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์ และระยะเวลาที่เราทุ่มเทไป

อีกอนฮี ประธานกรรมการบริษัท SAMSUNG เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า “ถ้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็อย่ามาสมัครในบริษัทนี้เลย” ภาษาอังกฤษจึงถือเป็นอาวุธที่มีประโยชน์มากในสนามแข่งขันของการหางาน ทุกองค์กรต่างเรียกร้องผลทดสอบภาษาอังกฤษในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะผลคะแนน TOEIC ถือเป็นตัวกรองหลัก ช่วยให้เราผ่านด่านแรกของสมัครงานในรอบเอกสาร รอบต่อมาเป็นรอบสัมภาษณ์ หลายบริษัทต่างสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ และเพื่อจะสอบในขั้นตอนนี้ให้ผ่าน จำต้องฝึกฝนที่จะพูด สื่อความต้องการของตนเองออกมาให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด

ภาษาอังกฤษคือภาษาแห่งโอกาส นอกเหนือจากจะได้รับโอกาสให้ได้ทำงานในบริษัทดีๆ แล้ว โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นก็มีมากกว่า และคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีจะได้รับค่าจ้างมากขึ้น ดังนั้น เพื่อความสำเร็จในการฝึกฝน หนทางไปสู่จุดหมายต้องเริ่มจาก 4 ต ได้แก่

1.ตั้งเป้า กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เป้าหมายกระตุ้นให้เราเกิดแรงบันดาลใจ เมื่อเราเห็นว่าบริษัทต่างๆ ในยุค AEC ต่างต้องการผลการสอบโทอิคเป็นเครื่องยืนยันการมีศักยภาพทางภาษาอังกฤษ เราก็ต้องเริ่มตั้งเป้าก่อนว่า เราต้องพิชิตคะแนนโทอิคให้ได้ 700, 800 หรือ 900 บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยต่างก็กำหนดคะแนนโทอิคไว้ต่างกัน ทั้งสายการบินต่างๆ ปูนซีเมนต์ไทย หรือบริษัทต่างชาติอื่นๆ

2.ตั้งต้น เป็นขั้นตอนของการลงมือปฏิบัติ สร้างวินัยในการเรียนและทบทวนให้เป็นไปตามแผน แต่การที่จะได้คะแนนโทอิคตามเป้าที่ตั้งไว้นั้น ไม่ง่าย เราต้องตั้งต้นฝึกฝนอย่างหนักทั้งทักษะการฟัง และการอ่าน ซึ่งมีศัพท์และไวยากรณ์เป็นตัวกำกับ ฝึกทุกวัน ทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ

3.ตั้งใจ พุทธศาสนาสอนว่า ใจเป็นหัวหน้า ใจสำคัญที่สุด ทุกสิ่งจะสำเร็จได้ด้วยใจ เราต้องมีเป้าหมายเป็นตัวนำทาง อย่าคิดว่ายากลำบาก แต่ถึงคราวที่เราจะต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อทำงานภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปให้ได้ เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก แต่มีอาเซียนและโลกล้อมรอบเราอยู่

4.ตั้งมั่น คิดถึงความสำเร็จของเรา โดยเอาความขยันหมั่นเพียรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ การฝึกฝนนำมาซึ่งความสมบูรณ์แบบ อย่ามองเห็นเป็นอุปสรรคไปเสียทุกอย่าง แต่ให้เราเอาอุปสรรคมาเป็นอุปกรณ์ในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง

เหมือนดั่ง คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ซีอีโอแห่งอมตนคร กำชับเหล่าลูกหลานไทยว่า ภาษาอังกฤษคือกุญแจแห่งความสำเร็จ ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจใหญ่ซึ่งต้องพบปะกับนักลงทุนชาวต่างชาติอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคทางภาษา จึงตั้งเป้าหมายว่า “จะต้องพูดภาษาอังกฤษให้ได้” เมื่อทราบเป้าหมายที่ชัดเจนของตนแล้ว ก็ตั้งต้นฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยความตั้งใจมาเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งมั่นมุมานะเรียนรู้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน จนสามารถพูดได้อย่างคล่อง (Fluency) และถูกต้อง (Accuracy)

มาวันนี้ นโยบายของรัฐบาลเรื่อง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ทางโรงเรียนจะต้องร่าวมกันคิด พากันสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อเกิดการต่อยอดทางความคิด ซึ่งสิงคโปร์เคยทำสำเร็จมาแล้ว โดยใช้แผนการเรียนน้อยได้มาก กล่าวคือ เรียนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ 4 ด้านได้แก่ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา มิใช่เรียนไปทุกอย่าง เด็กแบกตำราเรียนจนหลังแอ่น จนเป็นเหตุให้เด็กเกิดอาการเครียดจากการเรียนกันถ้วนทั่ว

ภาษาเป็นสิ่งสะสม ทั้งศัพท์ สำนวน สำเนียง และประโยคในรูปแบบต่างๆ เก็บรวบรวมเรียนรู้ทุกวัน เหมือนดั่งเหรียญค่อยๆ หย่อนลงไปในกระปุก สักวันหนึ่งเหรียญก็จะเต็มกระปุก สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ในการฝึกฝนภาษาอังกฤษนั้น เราจะต้อง อย่าอาย  มีใจรัก เป็นนักฟัง นักอ่านที่ดี มีความขยันหมั่นเพียร และไม่ท้อต่อการฝึกฝน ถนนสายนี้ไม่มีทางลัด หากมุ่งมั่นตั้งใจ ก้าวไปทีละก้าวอย่างมั่นคง เป้าหมายที่เคยคิดว่ายาวไกลเกินกว่าที่จะก้าวถึง จะค่อยๆ ปรากฏต่อหน้าเรา

ถึงวันนั้น..วันที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาถึง เราท่านทั้งหลายก็พร้อมที่จะต่อสู้ในเวทีอาเซียนได้อย่างไม่เกรงกลัว นำพาความได้เปรียบมาสู่ตนและประเทศชาติต่อไป

---------------------

ผศ.บุญเลิศ วงศ์พรม

มหาวิทยาลัยศรีปทุม