ธนาคารไม่มีสาขา(Internet-only Bank) มุมมองกฎหมายต่างประเทศ

ธนาคารไม่มีสาขา(Internet-only Bank)  มุมมองกฎหมายต่างประเทศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารของประเทศเกาหลีใต้เอง ก็พึ่งพา เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางด้านการเงิน

 หรือฟินเทค (FinTech) มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน จากการที่หลายธนาคารของประเทศเกาหลีใต้ มีแนวทางชัดเจนในการที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยปรับใช้กับบริการของธนาคารทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร Shinhan, Woori, KEB Hana และ KB Kookmin ที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้

นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ที่น่าสนใจในประเทศเกาหลีใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ การเริ่มต้นให้บริการของธนาคาร ในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ Internet-only bank ในปี 2560 โดย K-bank ที่ดำเนินกิจการโดยบริษัท KT telecom ในช่วงต้นปี (หลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ จากหน่วยงานทางด้านการเงินของประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2559) และตามมาด้วยการลงสู่สนามการให้บริการในลักษณะธนาคารที่ไม่มีสาขาของ Kakao bank ในเวลาต่อมา ที่ดำเนินกิจการโดยบริษัท Kakao ในเดือน ก.ค.ปีเดียวกัน การดำเนินกิจการของธนาคารที่ไม่มีสาขา เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางของประเทศเกาหลีใต้เองในการให้การสนับสนุนนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ ผ่านทางการแก้ไขกรอบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจในลักษณะของ ธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ Internet-only bank ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สถิติที่น่าสนใจ เกี่ยวกับธนาคารที่ไม่มีสาขาในประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังการเปิดให้บริการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขาของ Kakao bank นั้น ปรากฏว่าภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีจำนวนผู้ใช้งานที่เปิดบัญชีกับ Kakao bank มากถึง 300,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนที่สถาบันการเงิน หรือธนาคารของประเทศเกาหลีใต้แบบดั้งเดิมนั้นทำได้ ตลอดระยะเวลาเป็นปี และจำนวนผู้ใช้งานที่เปิดบัญชีกับ Kakao bank ยังเพิ่มขึ้นถึงจำนวน 3.9 ล้านคนในเดือนก.ย.ปีเดียวกัน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สินเชื่อผู้บริโภค (Consumer credit loan) ของ Kakao bank ก็มีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงมากเทียบกับมูลค่าสินเชื่อในภาพรวมทั้งหมดของประเทศเกาหลีใต้

ประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้เอง ยังได้ออกมากล่าวต่อสื่อมวลชนว่า การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (deregulation) สำหรับธนาคารที่ไม่มีสาขานั้น สามารถนำไปสู่การเติบโตของนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการเงิน และนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความน่าสนใจ ให้พิจารณากันต่อไปว่า ธนาคารที่ไม่มีสาขา จะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร และเติบโตไปมากน้อยแค่ไหน

แล้วประเทศเกาหลีใต้ทำอย่างไร ถึงสนับสนุนให้เกิดขึ้นซึ่งธนาคารที่ไม่มีสาขา ได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จในแง่ของยอดผู้ใช้งาน และมูลค่าของธุรกรรม?

การที่จะตอบคำถามนั้น อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศเกาหลีใต้นั้น ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันกันระหว่าง ธนาคารที่ไม่มีสาขากับธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม โดยกฎเกณฑ์ที่มีการแก้ไขนั้นได้อนุญาตให้ธนาคารที่ไม่มีสาขานี้ สามารถประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมได้ เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต หรือธุรกิจประกันภัย เป็นต้น และยังมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ในส่วนอื่น ยกตัวอย่างเช่น การผ่อนปรนข้อกำหนดเกี่ยวกับการยืนยัน หรือระบุตัวตนที่ต้องทำต่อหน้า (face-to-face identification) ในการเปิดบัญชีธนาคาร ทั้งมีการอนุญาตให้มีการใช้วิธีการในการระบุตัวตนแบบอื่นๆ เช่น การใช้สำเนาบัตรประชาชน การใช้วีดิโอคอล การใช้ข้อมูลที่มีอยู่กับธนาคารในบัญชีธนาคารที่มีอยู่แล้วเดิม เป็นต้น [i]

ในเดือน ก.ย.2561 สภาของประเทศเกาหลีใต้ก็ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทที่ไม่ใช่บริษัททางด้านการเงิน (non-financial companies) ในธุรกิจประเภท ธนาคารที่ไม่มีสาขาดังกล่าว โดยเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทที่ไม่ใช่บริษัททางด้านการเงินเป็น 34 % ซึ่งแตกต่างจากหลักการที่กำหนดไว้ใน the Banking Act ของประเทศเกาหลีใต้ที่กำหนดไว้ว่า บริษัทที่ไม่ใช่บริษัททางด้านการเงินนั้นไม่สามารถถือหุ้นเป็นสัดส่วนมากกว่า 4% ได้ (มาตรา 16-2 ของ the Banking Act[ii]) แต่อย่างไรก็มีข้อยกเว้น เช่น กลุ่มแชบ็อล (Chaebol) (บริษัทขนาดใหญ่ที่หุ้นส่วนใหญ่ถูกถือครองโดยคนในครอบครัว) ไม่สามารถที่จะเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของได้ภายใต้หลักการที่กำหนดไว้ ซึ่งร่างกฎหมายข้างต้นมีวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ ธนาคารประเภทดังกล่าวนี้นั้น สามารถเพิ่มทุนได้ง่ายมากขึ้น

สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารประเภทนี้ ประสบกับปัญหาในการระดมทุนจากการขายหุ้นออกใหม่ ซึ่งเหตุผลหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากกฎหมาย the Banking Act ของประเทศเกาหลีใต้เองที่กำหนดเกี่ยวกับข้อจำกัดความเป็นเจ้าของในกิจการธนาคารที่ไม่มีสาขา สำหรับธุรกิจประเภทที่ไม่ใช่ธุรกิจ หรือบริษัททางด้านการเงิน

ทั้งนี้หน่วยงาน FSC ของประเทศเกาหลีใต้ ยังได้ออกมาแถลงเมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมาว่า มีแผนในการชวนให้ผู้เล่นหน้าใหม่ เข้ามาดำกิจการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขาให้มากขึ้น ในปีถึงสองปีที่จะถึงนี้

หากมองแนวโน้มในประเทศอื่นๆ บริษัท NAVER ที่เราอาจจะคุ้นชินว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ LINE แอพลิเคชั่นยอดนิยม ก็มีแผนที่จะเริ่มธุรกิจธนาคารที่ไม่มีสาขาเช่นเดียวกันในประเทศไต้หวัน แม้ว่าทางบริษัท NAVER เองจะออกมากล่าวว่าทางบริษัทไม่มีแผนในการที่จะประกอบธุรกิจเช่นเดียวกันนี้ ในประเทศเกาหลีใต้ก็ตาม

ซึ่งอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วกรอบกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศไต้หวันนั้น ให้มีการดำเนินการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือInternet-only bank ได้หรือไม่?

ก็ต้องบอกว่าประเทศไต้หวันเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบทางด้านการเงินของประเทศไต้หวัน หรือ Financial Supervisory Commission (FSC) ก็ออกมาสนับสนุน ธนาคารที่ไม่มีสาขาดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการส่งเสริมนวัตกรรม และการเข้าถึงบริการทางด้านการเงิน โดย FSC ของประเทศไต้หวันเองก็มีการประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขาออกมาตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2561 เช่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ข้อกำหนดเกี่ยวกับในเรื่องของผู้ก่อการ ที่กำหนดไว้ว่าเบื้องต้นว่าหนึ่งในผู้ก่อการจะต้องเป็นธนาคาร หรือ บริษัทโฮลดิ้งที่เกี่ยวกับการเงิน (Financial holding companies) เป็นต้น[iii]

กล่าวโดยสรุป ธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ Internet-only bank นั้น นับว่าเป็นการประกอบธุรกิจในรูปแบบใหม่ ในยุคที่มีเทคโนโลยีมีการพัฒนาไป และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการประกอบธุรกิจของหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตาดูว่าในประเทศไทย แนวโน้มของการประกอบธุรกิจในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ internet-only bank ดังกล่าวจะเป็นอย่างไร

โดย... 

อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์ 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์