ดัน“บิ๊กป้อม” ผู้จัดการรัฐบาล
ประเด็นร้อน ที่รัฐบาลแพ้โหวตให้ฝ่ายค้าน ในการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 9 ว่าด้วยการทำหน้าที่และอำนาจของประธานสภาฯ
ฉายภาพชัดถึงปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” ของรัฐบาล ที่ประมาทไม่ได้
เป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลกำลังเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยผ่าน อาจจะกระทบถึงการผลักดันประเด็นใดๆ ในสภาฯ และพ่ายเกมของฝ่ายค้านที่กำลังใช้ทุกจังหวะและสถานการณ์ตรวจสอบและขยายแผล
มิหนำซ้ำ สถานการณ์ “10 พรรคเล็ก” เคลื่อนไหวต่อรองตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ก็เป็นปัญหาทับซ้อนเข้ามาอีก
แนวทางแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ เบื้องต้นคือ ตั้งทีมวิปรัฐบาล เพื่อกระชับพื้นที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลให้อยู่ในระเบียบ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ 13 ส.ค.62 ได้อนุมัติให้ตั้งวิปรัฐบาล จำนวนมากถึง “61 คน” ยังไม่รวมที่ปรึกษาอีก 6 คน ซึ่งมีระดับรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย
คำนวณคร่าวๆ วิป 1 คน ต้องประกบ ส.ส. 2-3 คน หรือแทบจะตัวต่อตัว
แต่เท่านี้ยังไม่พอ เพราะนี่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องเสียงโหวตในสภาฯ และการทำความเข้าใจกฎกติกา รวมถึงความรู้ความเข้าใจงานสภาฯ โดยเฉพาะ ส.ส.ใหม่ เพราะในเชิง “ยุทธศาสตร์การเมือง” การบริหารจัดการผลประโยชน์(นัก)การเมือง ถือเป็นเรื่องใหญ่กว่า เห็นได้จากความสับสนอลหม่านในช่วงจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา
ปัญหานี้ พรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐ จึงต้องหา “ผู้มีบารมี” เข้ามาช่วย โดยเตรียมผลักดัน “ผู้สนับสนุนพรรคอย่างไม่เป็นทางการ” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาเป็นหัวขบวน ในตำแหน่ง “ประธานยุทธศาสตร์พรรค” เพื่อขับเคลื่อนการเมืองเต็มตัว คาดกันว่าภายใน ส.ค.นี้
จะว่าเป็นแล้ว วงในการเมือง ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ภารกิจเบื้องหลังของ “บิ๊กป้อม” ในฐานะพี่ใหญ่ คสช.ในการขับเคลื่อนการเมือง และบริหารจัดการ ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ แผ่ไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล ในห้วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ฉะนั้น การวางตัว “บิ๊กป้อม”ให้มีสถานะทางการเมือง จึงไม่เกินความคาดหมาย บทบาทนี้จะเปรียบได้กับ“ผู้จัดการรัฐบาล” ทำหน้าที่บริหารจัดการนักการเมืองโดยตรง รวมทั้งการดูแลทุกข์ร้อนของ ส.ส.ไม่เฉพาะพลังประชารัฐ แต่รวมไปทุกพรรคร่วมรัฐบาล ทุกเรื่อง ที่ไม่ต้องไปถึงมือ-ถึงตัวนายกฯ
ที่สำคัญเมื่อ“พี่ใหญ่”เสียสละมาอยู่แนวหน้า นายกฯลุงตู่ก็ลอยลำไม่จำเป็นต้องรีบตอบรับนั่งเก้าอี้ “ผู้นำพรรค”ให้เปลืองตัว
โดย... นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์