SDC:ประชาคมธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

SDC:ประชาคมธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

จากผลการประเมินด้านความยั่งยืนของ RobecoSAM หน่วยงานสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ผู้รับหน้าที่ประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทที่โดดเด่นด้านความยั่งยืน

ให้เข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ได้คัดเลือก 20 บริษัทจดทะเบียนไทย เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ประจำปี 2562 ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BTS, CPALL, CPF, CPN, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU

ในปีนี้ มีบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินจำนวน 36 แห่ง มีบริษัทที่ตอบรับเข้าร่วมการประเมิน จำนวน 28 แห่ง และมีบริษัทที่ไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมการประเมินอยู่ 8 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22

ทั้งนี้ การได้เข้าเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ จะพิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทตอบแบบสอบถามในด้านความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการ ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ส่วนที่มีผลต่อการประเมิน คือ ผลงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นตามที่ได้ดำเนินการ กับการจัดทำข้อมูลที่ตอบแบบสอบถามได้อย่างตรงจุดตามเกณฑ์ที่ผู้ประเมินตั้งไว้ โดยทั้งสองปัจจัย อาจจะมีสหสัมพันธ์ (Correlation) ที่มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเที่ยงตรงในการนำเสนอข้อมูลของบริษัทที่เข้าร่วมรับการประเมิน และเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสมต่อการวัดผลด้านความยั่งยืนของหน่วยงานผู้ประเมิน ที่ครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (Material Topics) และสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม

สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ ที่มิได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับการประเมิน อันเนื่องมาจากเกณฑ์เชิงปริมาณ คือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ยังสามารถที่จะพัฒนายกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้วยตนเอง โดยนำเอาเกณฑ์เชิงคุณภาพ คือ ประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญของกิจการและสอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมที่ตนสังกัด มาใช้วัดผลและเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงาน (Benchmarking) กับองค์กรข้างเคียง หรือกับบรรทัดฐาน (Norm) ในอุตสาหกรรม

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืนที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีตัวชี้วัดการรายงานที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และไม่ซับซ้อน เหมาะกับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม โดยสามในสี่ของกิจการที่มีรายได้สูงสุดของโลก 250 แห่ง ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้ GRI Standards เป็นมาตรฐานอ้างอิง

และจากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 14,010 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 56,180 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 33,306 ฉบับ และมี 237 องค์กรในประเทศไทย ที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 651 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2562)

เจตนารมณ์ของ GRI ในการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนากระบวนการรายงานแห่งความยั่งยืนขึ้นในองค์กร โดยยึดหลักการของบริบทความยั่งยืน (Sustainability Context) หลักความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Inclusiveness) หลักการสารัตถภาพ (Materiality) และหลักความครบถ้วนสมบูรณ์ (Completeness) สำหรับใช้ในการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อการดำเนินการและขอบเขตในการดำเนินการ รวมทั้งแนวการบริหารจัดการกับประเด็นที่นำมาดำเนินการ ตลอดจนคุณภาพของข้อสนเทศที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

พูดอย่างง่าย ก็คือ GRI ต้องการมุ่งเน้นให้กิจการสามารถพัฒนากระบวนการรายงาน (Reporting) ขึ้นในองค์กร มิใช่การจัดทำเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เพราะหลักการสำคัญของ GRI คือ การบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงานอย่างแท้จริง

นั่นหมายความว่า กิจการที่ต้องการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (Material Topics) เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร หรือนำไปสู่การได้รับการพิจารณาประเมินว่าเป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนและสามารถเข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ในอนาคต (โดยผ่านเกณฑ์มูลค่าตลาด) สามารถใช้ข้อแนะนำในมาตรฐาน GRI ในการพัฒนากระบวนการรายงานแห่งความยั่งยืนขึ้นในองค์กร ด้วย 4 หลักการข้างต้น

ในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ GRI Training & Data Partner ได้จัดตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) ขึ้น เพื่อช่วยองค์กรในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ด้วยการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร พัฒนากิจการสู่ความยั่งยืนจากคุณค่าที่เกิดจากการใช้กระบวนการรายงานเป็นเครื่องมือดำเนินการ

องค์กรที่สนใจ สามารถเข้าร่วมมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ภายใต้ Sustainability Disclosure Community ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ SDC มีกิจการชั้นนำจำนวน 102 แห่ง ที่เข้าร่วมเป็นองค์กรสมาชิกในปัจจุบัน