เฟดยุคใหม่… แม้จะแซ่บแต่สุดเสี่ยง
ถือเป็นสุนทรพจน์ที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในรอบปี สำหรับเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด
ที่ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาเฟด แคนซัสซิตี้ ที่เมืองแจ็คสันโฮล ในรูปแบบ New Normal เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยขอสรุปภาพรวมจากสัมมนานี้ว่า ผมมองเจย์ พาวเวล แม้จะได้สร้างความสร้างความคึกคักผ่านตัวช่วยในส่วนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงกว่าเดิมอีกให้กับเศรษฐกิจ แต่ก็กลับจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับเฟดและเศรษฐกิจเช่นกัน ดังนี้
โดยในงานสัมมนาแจ็คสันโฮลครั้งนี้ กล่าวแบบง่ายๆ ถือว่าเฟดจัดว่าแซ่บ หรือ สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจ เนื่องจาก
หนึ่ง เฟดได้เปลี่ยนจากวัตถุประสงค์ที่บริหารจัดการเศรษฐกิจเพื่อให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่เหมาะสม มาเป็นการทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด โดยพาวเวลได้ใช้คำว่าเพื่อให้มีการจ้างงานที่สูงสุด
ผมคิดว่าพาวเวลน่าจะเป็นประธานเฟดท่านแรกในประวัติศาสตร์ของเฟดที่มีมาเกือบ 100 ปี ที่กล้าพูดแบบแมนๆเช่นนี้ รวมถึงน่าจะเป็นนายธนาคารกลางของประเทศหลักในโลกเพียงท่านเดียว ณ ตอนนี้ ที่กล้าพูดเช่นนี้เช่นเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า พาวเวลเชื่อว่าเส้นโค้งฟิลลิปส์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานซึ่งมีความผกผันกัน ได้หมดไปจากโลกนี้ไปแล้ว
สอง เฟดเปลี่ยนแนวทางการประเมินอัตราเงินเป้าหมาย โดยหันมาใช้ระดับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยแทนระดับอัตราเงินเฟ้อ ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง เป็นตัวเปรียบเทียบกับเป้าหมายร้อยละ 2 ตรงนี้ ทำให้เฟดยิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ยากขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะอัตราเงินเฟ้อเดิมต่ำมากๆมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว
ซึ่งพาวเวลเน้นว่าไม่ใช่ว่าจะนำมาคิดคำนวณแบบคณิตศาสตร์เป๊ะๆ แต่ว่าจะใช้วิจารณญาณในการประเมิน ตรงนี้ เฟดถือว่าก็สามารถที่จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแม้ระดับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะเกินร้อยละ 2 ก็ตามที ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กล่าวได้ว่า พาวเวลน่าจะเป็นประธานเฟดท่านแรกในประวัติศาสตร์เฟดยุคใหม่ รวมถึงน่าจะเป็นนายธนาคารกลางของประเทศหลักในโลกที่กล้าหันมาใช้รูปแบบอัตราเงินเฟ้อในลักษณะเช่นนี้
สาม เฟดจะไม่หันไปใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบติดลบ เนื่องจากประสบการณ์ของเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆก่อนหน้า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่านโยบายดังกล่าวดีจริงหรือไม่
อย่างไรก็ดี หากเราย้อนกลับไปในอดีตถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่เชื่อกันว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว หรือ This time is differentล้วนแล้วแต่จบไม่สวยแทบทั้งสิ้น
เริ่มตั้งแต่สมัยยุคต้นปี 1990 ที่บ้านเราเปิดเสรีทางการเงินให้ภาคเอกชนสามารถกู้เงินจากต่างประเทศแบบเสรีได้ ก็จบด้วยวิกฤตต้มยำกุ้ง มาถึงปี 1998 ที่เชื่อกันว่าเทคโนโลยีในสหรัฐได้ก้าวมาถึงจุดใหม่ที่สามารถจะเปลี่ยนโลกได้ ก็นำมาซึ่งวิกฤตฟองสบู่ด็อตคอมในสหรัฐปี 2000
จากนั้นปี 2003-2007 ที่อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ยุคใหม่ ที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์และระบบการจัดการเศรษฐกิจที่ดีของเฟดอย่างอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายหรือ Inflation Targeting ก็ปิดฉากด้วยวิกฤตซับไพร์มในปี 2008
มาถึงปี 2020 ที่พาวเวลเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น เฟดก็เหมือนจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเหตุผล ดังนี้
ผมมองว่าพาวเวล ถือว่าเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนมุมมอง ว่าตัวแปรใดจะมีผลต่อทิศทางเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกที่จะใช้โหมดการวิเคราะห์แบบใดที่มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานตรงตามกรอบเป้าหมาย
ทั้งนี้ ที่ผมมองว่า พาวเวลมีความยืดหยุ่นในเรื่องนี้ เนื่องจากเขามีการพูดถึงข้อด้อยสำหรับวิธีการที่ใช้สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของอดีตประธานเฟด ในยุคพอล โวลค์เกอร์ และอลัน กรีนสแปน ว่ามีจุดด้อยอย่างไร ในงานแจ็คสัน โฮล เมื่อปีก่อนหน้าว่า ยุคของนายโวลค์เกอร์นั้น เน้นให้เฟดมุ่งดำเนินนโยบายให้อัตราการว่างงานของสหรัฐใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ และให้อัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบไม่พิจารณาบริบทอื่นๆ ซึ่งล่าสุด เพิ่งมารู้ว่าอัตราการว่างงานตามธรรมชาติในยุคนั้นหรือแม้แต่ในยุคนี้ อาจจะไม่ใช่อัตราที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจก็เป็นได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าหากมองย้อนหลัง นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นเชื่อหรือศรัทธาแนวคิดอัตราการว่างงานตามธรรมชาติมากจนเกินไป
ผมว่าตรงนี้ ถือว่าเข้ารูปแบบเดิมๆที่คิดว่า This time is different โดยเฟดภายใต้การนำของพาวเวล อาจจะจบการบริหารเศรษฐกิจสหรัฐแบบไม่สวย เหมือนในอดีตตั้งแต่ 30 ปีย้อนหลัง ครั้งแล้วครั้งเล่าเรื่อยมาดังกล่าวข้างต้น โดยการที่พาวเวลเชื่อว่าเส้นโค้งฟิลลิปส์ได้หมดความสำคัญลงแล้ว อาจจะนำมาซึ่งการขึ้นมาของระดับอัตราเงินเฟ้อแบบที่ควบคุมไม่ได้ หรืออาจจะนำมาซึ่งฟองสบู่ของราคาหลักทรัพย์ที่จะอาจจะแตกในอนาคต
จากที่ผมเกริ่นไว้ว่า ความเชื่อว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอย่างที่พาวเวลรู้สึกอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่วิกฤตในอนาคตได้อีก เหมือนดังเช่นทุกครั้งในอดีต