ทรัมป์ vs. ไบเดน:ใครจะเข้าวิน?
แล้วก็เข้ามาสู่โค้ง 7 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ ถ้าพูดถึงกลยุทธ์หาเสียงของทั้งคู่ จะพบว่าเปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร ดังต่อไปนี้
เริ่มจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง จุดอ่อนหลักของทรัมป์ คือ โควิด -19 ซึ่งยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าไหร่ เหมือนว่าจำนวนผู้ติดโควิดในสหรัฐ พบว่ากลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนเกือบจะแตะหลักแสนต่อวัน ซึ่งตรงนี้ เป็นจุดที่ทรัมป์เหมือนขว้างงูไม่พ้นคอ จากการที่ทรัมป์ถนัดการหาเสียงในเวทีใหญ่ตามรัฐต่างๆท่ามกลางผู้คนที่มาฟังแบบเยอะๆ ทว่าการที่โควิดกลับมาพุ่งแรง ทำให้การรณรงค์หาเสียงแบบที่เน้นเวทีหลัก กลับให้พลังหรือโมเมนตัมแบบจำกัดเพราะคนก็ยังรู้สึกว่าโควิด-19 เป็นตัวถ่วงที่จะส่งต่อการเชียร์ทรัมป์ไปให้กับคนรู้จัก หรือแม้แต่จะตัดสินใจเลือกทรัมป์ก็ตาม
กลยุทธ์ของทรัมป์ก่อนวันเลือกตั้งสำหรับโควิด ดูจะเปลี่ยนไปมาก โดยเขาเหมือนจะกล้าออกมายอมรับว่าไม่สามารถควบคุมได้ ผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาว ในทำนองว่าโควิดเป็นสิ่งที่ทั้งในยุโรปและหลายๆประเทศไม่สามารถควบคุมได้ โดยในเมื่อทรัมป์ไม่สามารถจัดการโควิดได้ดี ก็หันกลับลำเปลี่ยนมายอมรับว่าควบคุมไม่ได้ไปเลย โดยใช้เหตุผลที่แม้แต่ยุโรปก็ยังมีสถานการณ์ที่แย่ลงมาประกอบ รวมถึงโยนไปให้หมอรับผิดชอบในส่วนที่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไว้จำนวนให้มากเข้าไว้ เพื่อหวังหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง เรียกว่าออกไปทางให้พ้นตัวเขาเองไว้ก่อน
นอกจากนี้ ในส่วนกลยุทธ์หลักในการตัดแต้มไบเดน มีอยู่ 3 ส่วน คือ
1.โจมตี ฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของโจ ไบเดน ว่าไปรับเงินจากจีนและยูเครน โดยการใช้ตำแหน่งรองประธานาธิบดีของไบเดนในสมัยโอบามา เป็นเครื่องต่อรองในการเปิดทางทำธุรกิจให้กับบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามที่จะเปิดไฟล์ลับที่ทรัมป์อ้างว่าเป็นหลักฐานเด็ดในการมัดตัวไบเดน
2.การโจมตีนโยบายของไบเดนที่จะทำให้เขาเสียคะแนนเสียง อย่างการเลิก Shale Oil ในสหรัฐ ที่ไบเดนเคยหาเสียงว่าจะยกเลิก หรือ กระทั่งการโจมตีว่าพลังงานลมโดยการใช้กังหันขนาดใหญ่ซึ่งไบเดนมีนโยบายพลังงานสะอาดเป็นนโยบายหลัก จะส่งผลทำให้นกตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายอย่างที่ทรัมป์โจมตีไบเดนดูน่าเชื่อถือ ทว่าหลายอย่างก็ดูเป็นการพูดแบบฟังแล้วออกจะขำขัน
3.การหาเสียงโฟกัสไปที่รัฐ Swing State ซึ่งดูแล้วไบเดนมีคะแนนเสียงลดลง อาทิ เพนซิลเวเนีย และ ฟลอริดา โดยล่าสุด ทรัมป์ปราศรัยในหลายจุดที่เพนซิลเวเนีย โดยย้ำเรื่อง Shale Oil ในพื้นที่ซึ่งมีการทำ Shale Oil รวมถึงเดินทางมาลงคะแนนเสียงล่วงหน้าที่ฟลอริดา
ท้ายสุด ทรัมป์ยังเน้นหาเสียงกับประชาชนในพื้นที่ชนบทในส่วนชานเมืองทั่วประเทศ ด้วยสโลแกน ”Law and Order” ที่กล่าวว่าหากไบเดนเข้ามาเป็นผู้นำ ความวุ่นวายจากการใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีการใช้กฎหมายที่เด็ดขาด
หันมาทาง โจ ไบเดน บ้าง กลยุทธ์ของไบเดนในโค้งสุดท้าย คือ ผิดพลาดให้น้อยที่สุด เนื่องจากมองว่าเขามีโอกาสจะชนะทรัมป์ จากคะแนนที่ยังเป็นต่อในหลายโพล อย่างไรก็ดี ไบเดน ก็ไม่ประมาทเช่นกัน ด้วยการส่งบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ปราศรัยช่วยเขาในรัฐที่ดูแล้วคะแนนเสียงลดลง อาทิ เพนซิลเวเนีย ซึ่งโอบามาได้มาปราศัยใหญ่ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีคนผิวดำอยู่เป็นจำนวนมาก
แล้วก็มาถึงคำถามว่าใครน่าจะชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมลองใช้ผลโพลของเจ้าที่เคยทายว่าทรัมป์จะชนะฮิลลารี คลินตันเมื่อ 4 ปีก่อน ณ วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา แล้วนำจำนวนคะแนนที่ทรัมป์เคยเร่งคะแนนเสียงในรัฐต่างๆจากช่วงเวลา 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน มาบวกเข้าไป ปรากฎว่าไบเดนก็ยังมีโอกาสที่จะชนะมากกว่าอยู่ โดยน่าจะมีโอกาสชนะราว 2 ใน 3 ส่วนทรัมป์มีโอกาสประมาณ 1ใน 3
โดยมีอยู่ 4 รัฐ ที่ยังสูสีมาก ได้แก่ ฟลอริดา มิชิแกน วิสคอนซิน และ มินเนโซต้า โดยที่ไบเดนจะชนะทรัมป์ หากเพียงแค่ขอให้ชนะที่ฟลอริดาเท่านั้นพอ หรือ หากแพ้ฟลอริดา ขอชนะที่ มิชิแกน วิสคอนซิน หรือ มินเนโซต้า เพียง 2 ใน 3 รัฐนี้
ในขณะที่ทรัมป์ หากจะชนะไบเดน ต้องชนะที่ฟลอริดา และ ต้องชนะ 2 ใน 3 รัฐ ดังนี้: มิชิแกน วิสคอนซิน หรือ มินเนโซต้า ด้วย
ในขณะที่การเลือกตั้งวุฒิสภา ผมมองว่าทั้งสองพรรคน่าจะมีโอกาสใกล้เคียงกันว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งสหรัฐในครั้งนี้ โอกาสที่ไบเดน หรือ ทรัมป์จะชนะแบบไร้ข้อกังขา น่าจะยังมีน้อยกว่าผลออกมาแบบสูสีจนต้องนับคะแนนใหม่และฟ้องร้องกันโดยให้ศาลสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด โดยที่ทรัมป์มีคะแนนโหวตในศาลสูงสุดเยอะกว่า ทว่าไบเดนก็เตรียมใช้กลยุทธ์ Pack the Court หรือขยายจำนวนที่นั่งของศาลสูงสุดหลังเลือกตั้งเช่นกันครับ