โควิดมาใหม่ ธุรกิจจะไปทางไหน
การระบาดในครั้งนี้ ยิ่งเป็นตัวเร่งเร้าให้ภาคธุรกิจ ต้องหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัล เป็นช่องทางในการติดต่อ ทำธุรกรรม นำเสนอสินค้าและบริการ
ผลพวงจากสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ ทำให้ธุรกิจจำต้องมีการปรับองคาพยพเพื่อความอยู่รอด โดยไม่สามารถนั่งรอให้สถานการณ์คลี่คลายไปตามธรรมชาติ
การระบาดในครั้งนี้ ยิ่งเป็นตัวเร่งเร้าให้ภาคธุรกิจ ต้องหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัล เป็นช่องทางในการติดต่อ ทำธุรกรรม นำเสนอสินค้าและบริการ มากยิ่งขึ้นไปอีก
จากการสำรวจบทบาทของคณะกรรมการบริษัท โดยการ์ตเนอร์ กรุ๊ป พบว่าเจ็ดในสิบของคณะกรรมการบริษัท เร่งให้มีการดำเนินความริเริ่มทางธุรกิจดิจิทัลจากความตื่นตัวต่อภาวะชะงักงันที่เกิดจากสถานการณ์โควิด
ดิจิทัลจะช่วยสร้างเสถียรภาพพิสัยไกล (Remote-stabilize) ให้องค์กรได้มีความผสมผสานลงตัวระหว่างธุรกิจในแบบที่ต้องพบปะบุคคล (In-person) และแบบที่ไม่จำเป็นต้องพบปะซึ่งหน้า (Remote) ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในช่วงแรกเริ่มของการระบาด ทำให้องค์กรมีความสามารถในการจัดวางทรัพยากรที่ตอบสนองต่อความจำเป็นฉุกเฉินทางสังคม และยังสามารถใช้เป็นแบบแผนในการขยายผลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต
การปรับธุรกิจให้รองรับดิจิทัล เพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างทันท่วงที ประกอบด้วย 5 ช่องทาง เริ่มจากช่องทางเร่งด่วน (Fast Lane) ด้วยการทำเรื่องดิจิทัลที่ริเริ่มไว้ช่วงล็อกดาวน์ให้เสร็จสิ้นหรือนำไปต่อยอดขยายผล เช่น พื้นที่ทำงานระยะไกล/ผสมผสาน การปฏิบัติงานระยะไกล ช่องทางการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทางดิจิทัล ช่องทางเติบโต (Growth Lane) ด้วยการคว้าโอกาสที่มากับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกฎระเบียบ เช่น การคิดค่าบริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล การพัฒนาสินค้าและบริการทางดิจิทัลที่กฎหมายรองรับ ช่องทางแก้ไข (Fix-it Lane) จากการเห็นข้อพกพร่องที่ปรากฏในช่วงสถานการณ์ เช่น ระบบงานที่อุ้ยอ้ายเทอะทะ ความไม่สอดคล้องในสายอุปทานที่ไม่สามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงสถานการณ์ ช่องทางเดินเบา (Slow Lane) ด้วยการชะลอหรือทยอยดำเนินงานดิจิทัลบางเรื่องที่ได้ให้น้ำหนักความสำคัญไว้ก่อนเกิดสถานการณ์ เพื่อเปิดทางสำหรับการดำเนินงานที่มีความจำเป็นมากกว่า และทางออก (Exit) สำหรับยุติหรือยกเลิกการดำเนินงานทางดิจิทัลบางเรื่อง เพื่อดึงงบประมาณและทรัพยากรกลับมาใช้ในความริเริ่มอื่น
ขณะที่การปรับธุรกิจให้รองรับดิจิทัล ด้วยการสร้างสมรรถภาพระยะยาว ประกอบด้วย ลูกค้าสารพัน (Everything customer) ที่คาดหวังการปฏิสัมพันธ์ทั้งในช่องทางดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและในช่องทางที่เห็นหน้าไปลามาไหว้แบบเดิม แรงงานที่ปรับตัวได้ (Adaptable workforce) ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะทีมงานดิจิทัลหรือไอที แต่เป็นแรงงานที่ใฝ่รู้ปรับฝีไม้ลายมือให้เข้ากับทุกความต้องการได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถทำงานผสานเวลาทั้งในสำนักงานและจากระยะไกลได้ สถานประกอบการไม่อิงขนาด (Any-scale operations) สามารถปรับขนาดหรือเปลี่ยนแนวโดยไม่กระทบจำนวนหัวพนักงาน สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รวมถึงกระบวนงานที่สามารถทำได้ในหลายสถานที่ตั้ง ทั้งในระยะไกล หรือโดยหุ้นส่วนดำเนินการ รากฐานเทคโนโลยีที่ถอดประกอบได้ (Composable technology foundation) เป็นแกนเทคโนโลยีและข้อมูลสมัยใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ลดต้นทุนทั่วทั้งกิจการ แต่ยังคงไว้ซึ่งความปราดเปรียว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หรือรับมือกับความท้าทายในระดับภัยพิบัติได้ การเติบโตตรงวิสัย (Right-scoped growth) กิจการควรมีความพร้อมต่อการซักถามและปรับขอบเขตการดำเนินงานหรือให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ภาครัฐในอนาคต ทั้งการเติบโตในแบบค่อยเป็นค่อยไปและการเปลี่ยนในแบบพลิกผันคุณค่าที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าโดยรวม
ธุรกิจที่รอดพ้นจากวิกฤตการณ์โควิด จำต้องดำเนินการปรับองค์กรเพื่อให้มีความเป็นดิจิทัลธรรมชาติ (Digital Nature) สามารถรองรับธุรกรรมที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน รวมถึงเพิ่มเติมขีดสมรรถภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาพนักงานให้มีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลให้สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างราบรื่น