บูรณาการองค์ความรู้เพื่อ พัฒนาแอพ 'Home isolation'
ระบบ Home Isolation เป็นมิติใหม่ของการแพทย์ทางไกลในบ้านเรา
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีไอทีจำนวนมากเข้ามาใช้งาน โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งใช้ติดตามคนไข้ จัดระบบจองวัคซีน เก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อ นำเทคโนโลยีไอโอที หรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานในโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสนาม ตลอดจนนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้เพื่อพยากรณ์ ทั้งเรื่องแนวทางรักษาพยาบาลตลอดจนการคิดค้นวัคซีนและยา
โดยได้เห็นการพัฒนาแอพพลิเคชัน และระบบต่างๆ มากมาย บางระบบก็ประสบความสำเร็จแต่บางระบบไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างต่อเนื่อง ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ระบบเหล่านี้โดยเฉพาะที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเอไอมาช่วยงานด้านการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด?
ผมไปอ่านบทความของ MIT Technology Review ที่ออกมาเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ แล้วระบุว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือด้านไอทีหลายร้อยระบบที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเอไอ นำมาช่วยแก้ปัญหาการแพทย์ต่างๆ เรื่องโควิด-19 แต่เกือบทั้งหมดไม่สามารถช่วยได้มากนัก
ส่วนหนึ่งระบุว่าเป็นเพราะข้อมูลทางการแพทย์ ที่รวบรวมมาอาจยังน้อยไป และไม่ดีพอที่จะทำให้การพยากรณ์ต่างๆ ทำได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนที่ไม่สามารถจะผิดพลาดได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ นักเทคโนโลยีที่พัฒนาระบบไอทีเหล่านี้ส่วนใหญ่ขาดองค์ความรู้ทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ดีพอ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำงานร่วมมือกับบุคลากรการแพทย์มากขึ้นกว่านี้ จึงจะทำให้ระบบสามารถใช้งานได้จริง
บทความนี้สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของการพัฒนาระบบไอทีต่างๆ ที่นักพัฒนาอาจขาดความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาชีพอื่น และพัฒนาระบบโดยเอาเทคโนโลยีเป็นตัวนำ เมื่อพัฒนาระบบเสร็จแล้วไม่สามารถตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้แท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทุกระบบไอที ที่กว่าจะพัฒนาขึ้นมาและให้ใช้งานได้จริงต้องใช้เวลานาน และผ่านการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญก่อน
แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 เป็นช่วงเวลาเร่งด่วนที่ไม่สามารถรอการพัฒนาระบบไอทีในรูปแบบเดิมๆ ได้ จึงไม่แปลกใจที่อาจพบว่า หลายระบบที่ทำขึ้นมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบไอทีต่อการใช้งานกับโควิด-19 รูปแบบหนึ่งที่เห็นว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก คือ ระบบที่ถูกพัฒนามาจากมหาวิทยาลัยที่มีสาขาการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีบุคลากรทั้งสองด้านที่ได้เคยทำงานร่วมกันมาก่อนเป็นเวลานาน และสามารถบูรณาการสร้างระบบไอทีที่สามารถใช้งานได้จริงออกมา
สัปดาห์นี้ ผมได้ประชุมร่วมมหาวิทยาลัยสองแห่ง ที่ผมเป็นกรรมการสภาอยู่ทั้งมหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าสองแห่งต่างทำระบบไอทีเข้ามาช่วยดูแล ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวในที่พักอาศัย (Home Isolation) หรือสถานที่กักตัวในชุมชน (Community Isolation) ใช้แอพเป็นสื่อกลางดูแลผู้ป่วยจากระยะไกล จุดเด่นพัฒนาแอพเหล่านี้เป็นการพัฒนาร่วมกันของบุคลากรหลายคณะ และนำมาใช้งานจริง เนื่องจากมีการทดสอบระบบจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และได้ทดลองกับผู้ป่วยจริง
ตัวอย่างกรณีของมหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาแอพชื่อ weSAFE@Home ใช้งานง่าย สื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบไลน์ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องลงโปรแกรมเพิ่ม เป็นระบบที่ออกแบบโดยแพทย์ผ่านการทดสอบทางคลินิกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และใช้งานจริงแล้ว ทั้งยังนำผลใช้งานมาปรับปรุงต่อเนื่อง ต่อยอดจากแพลตฟอร์มกินอยู่ดี ( www.กินอยู่ดี.com ) ระบบดูแลสุขภาพ Holistic Care สำหรับเมือง Smart City ทำให้สามารถต่อยอดไปสู่ระบบ Smart Living และ Public Care ในการดูแลอย่างต่อเนื่องได้ทันที
ปัจจุบัน แอพพลิเคชั่น weSAFE@Home ถูกนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา และกำลังขยายไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลแถบภาคตะวันออก
ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Home Isolation ที่ให้ผู้ป่วยติดต่อกับแพทย์ได้ผ่านแอพพลิเคชันบนมือถือเช่นเดียวกัน ระบบนี้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัย
การพัฒนาระบบไอทีเป็นการทำงานร่วมกันของบุคลากรหลายคณะวิชา ทำให้ได้เห็นแอพที่นำมาใช้งานได้จริง โดยเฉพาะระบบ Home Isolation เป็นมิติใหม่ของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในบ้านเรา ซึ่งคาดว่าจะได้ผลพอควร และอาจกลายเป็นก้าวสำคัญช่วยแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบไอทีที่ดูแลผู้ป่วยรักษาตัวในที่พักอาศัยอย่างใกล้ชิดจนรักษาตัวหายจากโควิด-19 ได้