นโยบายการค้าที่ย้อนยุคของประธานาธิบดีทรัมป์

นโยบายการค้าที่ย้อนยุคของประธานาธิบดีทรัมป์

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2567 ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศที่จะเสนอนาย Scott Bessent ให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะมองได้ว่า เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และจะเป็นผู้ที่จะร่วมขับเคลื่อนนโยบายหลักด้านเศรษฐกิจที่ได้หาเสียงเอาไว้อย่างจริงจัง

คือ การเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้ามาขายในสหรัฐในอัตราสูงถึง 60% สำหรับสินค้าจากประเทศจีน และ 10-20% สำหรับสินค้าจากประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ทั้งหมด

นาย Bessent เป็นที่รู้จักและยอมรับในกลุ่มนักธุรกิจและนักการเงิน เป็นเศรษฐีพันล้านเพราะเป็นเจ้าของกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund) ชื่อว่า Key Square Group ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Gorge Soros

เพราะนาย Bessent เคยรับตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (Chief Financial Officer หรือ CFO) ของกองทุนของ George Soros มาก่อนหน้า ดังนั้น หลังจากที่ประกาศเป็นข่าวออกมา ตลาดทุนจึงตอบรับด้วยดี โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐปรับตัวสูงขึ้น

จากการประเมินของผมนั้น ดูเสมือนว่าตลาดเงินและตลาดทุนสหรัฐจะมองในแง่ดีว่า นาย Bessent น่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ช่วยให้เศรษฐกิจและผลการประกอบการขยายตัว เช่น การลดภาษีรายได้นิติบุคคลและภาษีรายได้บุคคล

ตลอดจน มาตรการลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ (deregulation) และการผ่อนคลายข้อบังคับต่างๆ ซึ่งจะส่งเสริมให้สหรัฐสามารถผลิตและส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้มากขึ้น 

ในขณะเดียวกัน ตลาดก็คงคาดหวังว่า มาตรการที่จะให้ผลในทางลบกับธุรกิจและการเพิ่มต้นทุนของการทำการค้า เช่น มาตรการเก็บภาษีศุลกากรที่กล่าวข้างต้นนั้น Bessent ก็อาจจะทำดังที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ คือ การปรับขึ้นภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ในการหาเสียงนั้น จะเป็นเพียงคำขู่เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับสหรัฐเท่านั้น 

แปลว่า ในทางปฏิบัติ การเพิ่มขึ้นของภาษีศุลกากรก็คงไม่ได้เพิ่มมากนัก กล่าวโดยสรุปคือ ตลาดเงิน-ตลาดทุนกำลังพยายามมองว่านาย Bessent จะสามารถทำนโยบายที่เป็นผลดีต่อตลาดให้เกิดขึ้นได้จริง ในขณะที่นโยบายซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับตลาดนั้นจะทำอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดผลลบกับตลาดมากนัก

แต่ผมค่อนข้างจะเป็นห่วงว่า การมองโลกในแง่ดีดังกล่าวนั้น จะเป็นการมองข้ามภัยอันตรายที่ใหญ่หลวงของการนำเอาการปรับขึ้นภาษีศุลกากรมาเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

การได้มาซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของนาย Bessent นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงแรงลงมือเขียนบทความลงใน Fox News (ที่ประธานาธิบดีทรัมป์อ่านเป็นประจำ) เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยกล่าวถึงรัฐมนตรีคลังคนแรกของสหรัฐ คือ Alexander Hamilton ที่รับตำแหน่งในช่วงปี 2332-2338 และได้ผลักดันการเก็บภาษีศุลกากรในช่วงนั้นในอัตราสูงคือ 30-60% 

ทั้งนี้ เมื่อกว่า 230 ปีที่ผ่านมานั้น สหรัฐยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องพึ่งพารายได้จากภาษีการค้าเป็นหลัก แตกต่างจากปัจจุบันที่พึ่งพาภาษีรายได้ของบุคคลและนิติบุคคลเป็นหลัก กล่าวคือ นโยบายของทรัมป์นั้นย้อนยุคไปกว่า 200 ปีและจะเป็นนโยบายที่อาจทำลายระบบการค้าเสรีที่ดำเนินมานานกว่า 70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สหรัฐนั้นพูดได้ว่า รับรู้ถึงข้อดีของระบบการค้าเสรี เพราะได้ยอมรับว่า ในปี 2473 ที่สหรัฐออกกฎหมายกีดกันการค้าที่เรียกว่า Smooth Hawley Tariff Act ซึ่งให้อำนาจสหรัฐปรับภาษีศุลกากรขึ้นไปถึง 60% นั้น มีส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างรุนแรง และทำให้ฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจและนำโลกไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 

ด้วยเหตุนี้ หลังสงครามโลก สหรัฐจึงเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่การขับเคลื่อนการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี (หลายฝ่าย) ให้ลดภาษีศุลกากรลงตลอดเวลา 70 ปีระหว่างปี 2490-2560 ทำให้ภาษีศุลกากรเฉลี่ยทั่วโลกลดลงจาก 22% เหลือเพียง 5% ในปัจจุบัน

สหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วใช้หลักการในการเปิดเสรีการค้า ที่สำคัญคือการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (most favored nation treatment) แปลว่า ในกรณีที่ประเทศ ก ขอให้ประเทศ ข ลดภาษีสินค้า A และประเทศ ข ยินยอม

โดยขอให้ประเทศ ก ลดภาษีสินค้า B เป็นการตอบแทน ข้อตกลงดังกล่าวคือ ประเทศ ก และ ข จะลดภาษีสินค้า A และ B ให้กันและกันเพียงเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องลดให้กับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้มีส่วนในการเจรจาดังกล่าว 

จะเห็นได้ว่า เมื่อใดที่ประเทศจับกลุ่มกันเจรจาลดภาษีศุลกากรในลักษณะดังกล่าว ผลที่ตามมาคือการลดลงของภาษีศุลกากรทั่วโลก เป็นนับพันรายการสินค้าอย่างรวดเร็ว ทำให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกตลอดเวลา 70 กว่าปีที่ผ่านมา

สหรัฐและประเทศพัฒนาแล้ว ยังให้สิทธิพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาดังกล่าว คือการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี (special and differential treatment)

แปลว่า ในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันนั้น ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าและสามารถให้ผลตอบแทนที่ด้อยกว่า 

แนวทางหนึ่งคือ ระบบสิทธิพิเศษทั่วไปด้านภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences หรือ GSP) ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรให้กับสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถแข่งขันให้ดีขึ้น เป็นการช่วยส่งเสริมการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา เข้าสู่ตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว เป็นต้น

แนวคิดดังกล่าวนั้น เป็นส่วนประกอบสำคัญภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก (WTO) ซึ่งนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ จะทำให้ WTO ต้องปิดตัวเองลงไปโดยปริยาย และโลกกำลังจะถดถอยไปประมาณ 200 ปีครับ.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร