ไทยขานรับโลกดัน “นโยบายการค้า” หนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ไทยขานรับโลกดัน “นโยบายการค้า” หนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

การค้าและการลงทุนเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ส่งต่อให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลกดีขึ้น

ในทางกลับกันหากนโยบายการค้าและการลงทุนไม่สมเหตุผลผลและเป็นต้นเหตุของการทำให้โลกร้อนจนกลายเป็นโลกเดือดนั้นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการปรับรูปร่างของนโยบายการค้าเสียใหม่ โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนจาก ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 60% เกิดจากภาคพลังงาน

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บรรยายพิเศษในงาน “GC Sustainable Living Symposium 2024 : GEN S GATHERING ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก” รวมพลังสำคัญของคนหัวใจรักษ์โลก จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดในแผนพลังงานแห่งชาติว่าภายในปีพ.ศ. 2605จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0  นอกจากนี้ ยังกำหนดจะใช้กลไกภาษีคาร์บอนเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาด 

นอกจากนี้ยังมีกลไกกองทุนESG  (กองทุนลดหย่อนภาษีที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ESG ไทย และ/หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond))เพื่อสร้างการรับรู้ในภาคธุรกิจให้เป็นวงกว้างถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็จะสามารถสร้างแบรนด์ให้ธุรกิจเข้าถึงตลาดยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการค้าและธุรกิจเท่านั้น ในต่างประเทศภาคธุรกิจและการลงทุนกำลังมองหาแหล่งลงทุนที่มีภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้

แนวทางของรัฐบาลไทยถือว่าสอดคล้องกับทิศทางองค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่กำลังขับเคลื่อนให้นโยบายการค้าสามารถมีบทบาทสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดระดับโลก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่คณะผู้บรรยายระดับสูงให้ความสำคัญในสัปดาห์การค้าและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7-11 ต.ค. ที่เจนีวา

เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีเอลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก กล่าวว่า ความจำเป็นในการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2030 เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะขณะนี้คือช่วงเวลาสำคัญที่นโยบายการค้าได้กลายมาเป็นตัวเร่งที่สำคัญสำหรับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

“การปรับความไม่สมดุลของอัตราภาษีศุลกากรปัจจุบัน ที่เหมือนไปเน้นการสนับสนุนสินค้าที่มีคาร์บอนสูงแทนที่จะอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะทำให้การผลิตพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนที่ต่ำลงแต่เพิ่มการเข้าถึงได้มากขึ้น” 

จะเห็นว่า การดำเนินการตามนโยบายการค้าสามารถนำไปใช้ในการปรับมาตรฐานและกระบวนการรับรองต่างๆ ที่สอดคล้องกัน เพื่อให้แน่ใจว่ากรอบนโยบายการค้าที่ว่านี้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรมากมายแต่เผชิญกับความเสี่ยงด้านการจัดการเพราะต้องเผชิญกับต้นทุนการเงินที่สูง

อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลงอย่างรวดเร็วและไม่ควรเพิ่มขึ้นอีก นำไปสู่ความสำคัญของพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ ความจำเป็นในการมีนโยบายการค้าที่ส่งเสริมการทำเหมืองอย่างรับผิดชอบ ปกป้องชุมชนในท้องถิ่น และให้แน่ใจว่าทรัพยากรเหล่านี้จะถูกแบ่งปันไปทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

เซเลสเต้ ซาอูโล เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศควรเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว 

“ความพยายามร่วมกันระหว่างประเทศในการแบ่งปันข้อมูลสภาพอากาศ อำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนเทคโนโลยี และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อสภาพอากาศจะมีความสำคัญ” 

ฟรานเชสโก ลา คาเมรา ผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการปรับนโยบายการค้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด  

อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศของโลก แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลก แต่ตลาดก็ยังคงออกแบบโมเดลทางการค้าต่างๆมาเพื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ดี

"ขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทันที รวมถึงการลดภาษีศุลกากรสำหรับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และกำหนดมาตรฐานสากลสำหรับสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะหากเราไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและใช้พลังงานอย่างรวดเร็ว COP สองครั้งถัดไปจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะรักษาเป้าหมาย 1.5°C ให้คงอยู่”

บรูซ กอสเปอร์ รองประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) กล่าวย้ำถึงจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการค้า การพัฒนา และสภาพอากาศ โดยเฉพาะในเอเชียว่า การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานที่ผลิตจากคาร์บอนต้องอาศัย “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อสังคมและเศรษฐกิจ   

“ความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อลดอุปสรรคต่อสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม ความจำเป็นของห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น และความสำคัญของการแบ่งปันความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการลงทุนสีเขียว”

ในการประชุม คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม WTO  ญี่ปุ่นได้เสนอข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยเน้นที่การอำนวยความสะดวกในการอภิปรายเกี่ยวกับวิธีการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่รวมอยู่ในผลิตภัณฑ์หรือบริการที่กำหนด 

ความพยายามของไทยและองค์การWTO กำลังไปในทิศทางเดียวกันคือส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อให้พลังของการเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จ ซึ่งต้องอาศัย“นโยบายการค้า”เป็นกลไกสำคัญ 

ไทยขานรับโลกดัน “นโยบายการค้า” หนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน