ภารกิจหน้าที่“ผู้นำ”ทำสิ่งที่ใช่และถูกต้อง
ในที่สุดประธานกรรมการ ธปท.ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า "กิตติรัตน์ ณ ระนอง” แม้ว่าคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการ ธปท.จะมีมติเสนอชื่อเป็นประธานกรรมการ ธปท. ไปตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2567
และปลายเดือนเดียวกันชื่อดังกล่าวได้เสนอไปถึง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระหว่างนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ส่งชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติ
ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ธปท.กระทั่งได้ข้อสรุปว่าขาดคุณสมบัติและดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.ไม่ได้
ที่ผ่านมามีการคัดค้านจากอดีตผู้ว่าการ ธปท.และนักเศรษฐศาสตร์และประชาชนลงกันลงชื่อกว่า 50,000 คน แสดงความเป็นห่วงว่า “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ที่เคยเป็นประธานที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 234 / 2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยกังวลถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ เกรงว่าจะเกิดการครอบงำได้หากมีประธานบอร์ดที่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองมาก่อน
แน่นอนว่า “แบงก์ชาติ”ควรมีอิสระทางการเมือง และเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ประธานบอร์ดก็ควรอิสระทางการเมือง คณะกรรมการกฤษฎีกาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ ร่วมกัน พิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้วจึงมติออกมาเท่ากับว่าต้องนับหนึ่งใหม่ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ธปท.จะเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมได้ 2 รายชื่อ และกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 รายชื่อ จากนั้นคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการ ธปท.ก็จะต้องเริ่มต้นทำงานกันอีกครั้ง
คำถามที่ตามมาก็คือในเมื่อทั้งกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ต่างก็รับรู้กติกาที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ และต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่แล้ว ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่ารายชื่อที่จะต้องไปคัดสรรมาของทั้ง 2 หน่วยงานเพื่อเสนอให้คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการ ธปท.พิจารณา ก็ไม่ควรจะต้องให้มีปัญหาคุณสมบัติ ทำให้การพิจารณาล่าช้าและยืดเยื้อ เพราะต้องเลือกคนที่คุณสมบัติที่ถูกต้องและทำหน้าที่ได้ดีเหมาะสมจนต้องเสนอชื่อเข้าสู่การคัดเลือก ไม่ใช่เสนอรายชื่อ “คนอยากได้แต่ไม่ถูกต้อง” ผู้ที่มีอำนาจควรจะทำสิ่งที่ใช่และถูกต้อง ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นวนลูปไม่จบ