“ธรรมนัส” ตัวแปรล้ม “ประยุทธ์” ดีล(ไม่)ลับ?
ดูเหมือนกระแสร้อนทางการเมือง ยังคง “โฟกัส” ไม่ไกลจากความพยามยามโค่นล้ม “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ของพลพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคฝ่ายค้าน เพื่อสานฝันชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ท่ามกลางการเคลื่อนไหวอย่างแหลมคมและคมชัด ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ในฐานะ “ตัวแปรสำคัญ” ที่จะทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่รอดครบเทอมหรือไม่ หรือจะล่มกลางคัน ทำเอาคอการเมืองจ้องตาไม่กระพริบ เพราะคลับคล้ายว่ามีสัญญาณสอดรับกัน?
อะไรไม่สำคัญเท่ากับ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยใหม่หมาด ตอบคอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ค่อนข้างน่าคิด ถึงสาเหตุที่ต้องการลาออกจากหัวหน้าพรรค (กรรมการบริหารพรรค 15 คนชิงลาออกก่อน จนเท่ากับว่า ต้องหลุดจากหัวหน้าพรรคตามระเบียบพรรค)
โดยเฉพาะ ตอบคอมเมนต์ ที่ถามว่า “ไปยอมเป็นลูกน้องร้อยเอกเพื่ออะไร” พล.อ.วิชญ์ ตอบว่า “ในพรรคการเมือง ไม่มีใครเป็นลูกน้องใครครับ ผมเข้ามาช่วยทำงานตามคำเชิญของเขา ด้วยคิดผิดว่า เขาจะทำเพื่อประชาชนครับ และประเทศชาติครับ ต้องขอโทษทุกท่านที่ผมมองคนผิดไปครับ”
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น มีคอมเมนต์ว่า “สนับสนุนเผด็จการนั้นหรือ ทำเพื่อประชาชน” พล.อ.วิชญ์ ระบุ “ผมสนับสนุนใครครับ การที่ผมไม่สนับสนุนการล้มรัฐบาล เนื่องจากอีกไม่นานก็หมดวาระต้องเกิดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลล้มไปตอนนี้ประชาชนได้รับผลดีอย่างไรครับ โครงการต่างๆที่ทำต้องหยุดชะงัก พรรคการเมืองต่างๆเตรียมตัวไม่ทัน ท่านอยากได้นายกฯคนนอกหรือครับ หมดวาระตามระบบเลือกตั้งตามกระบวนการไม่ดีกว่าหรือครับ
ปัจจุบันมีเผด็จการอยู่ตรงไหนครับ การที่ประเทศจะดีขึ้นเริ่มที่ตัวเราก่อน ทำหน้าที่ของแต่ละคนให้ดี ยุติความขัดแย้งเลิกแบ่งแยกฝักฝ่ายมีจิตใจเมตตาต่อกัน โตๆกันแล้วควรจะตระหนักว่า ทุกคนเกิดมาอายุไม่ถึงร้อยปี ช่วยกันคิดดีทำดีต่อตนเองครอบครัวคนรอบข้างกันเถอะครับ ขอบคุณมากสำหรับความเห็นผมไม่ปิดคอมเมนต์เนื่องจากเปิดกว้างรับฟังทุกความเห็นจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกันครับ” แต่ต่อมาพล.อ.วิชญ์ก็ลบข้อความ
อย่างไรก็ตาม นัยว่า ปมขัดแย้งภายในพรรคที่นำไปสู่การ “แตกหัก” ระหว่าง พล.อ.วิชญ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส คือ ส.ส.กลุ่มธรรมนัส อ้างว่าไม่พอใจพฤติการณ์ของ พล.อ.วิชญ์ ที่ชอบใช้อำนาจแบบทหาร และให้บุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องในพรรค และยังมีเรื่องเงินบริจาคเข้าพรรค
อีกประเด็น คือเรื่องกรรมการบริหารพรรคจะเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรค ทำให้ พล.อ.วิชญ์ ไม่พอใจ
ขณะเดียวกัน เมื่อเรื่องถึงหู “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กรณี “บิ๊กน้อย” คุมเกมในพรรคเศรษฐกิจไทย จึงบอกกับพล.อ.วิชญ์ ว่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ ก็ออกมา...”
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวผ่านรายการ “เนชั่นอินไซด์” ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ตอนหนึ่งถึงปัญหาภายในพรรคว่า
“พรรคเศรษฐกิจไทยก่อตั้งโดยผม ผมทำโครงสร้างพรรคมาเป็นปีแล้ว การขับเคลื่อนของพรรค ถึงเวลาหนึ่งผมถูกขับออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ ผมชวนส.ส. 21 คนออกมา มี 3 คนไปพรรคภูมิใจไทย ที่เหลือ 18 คน ก็มาอยู่ในครอบครัวเศรษฐกิจไทย ถึงวันหนึ่ง “ผู้ใหญ่บางท่าน” อยากให้ พล.อ.วิชญ์ มานั่ง (หัวหน้าพรรค) ก็ไม่คัดค้าน วิถีการเป็นลูกผู้ชายทหาร กับการเมืองไม่เหมือนกัน ต่างกันฟ้ากับดิน ท่านอาจไม่สบายใจหลายๆ เรื่อง ผมไม่โกรธที่ท่านออกมาให้สัมภาษณ์ คนเป็นนักการเมืองมีหลายมิติ ไม่ได้มีมิติเดียว
ตอนผมอยู่ต่างประเทศ ก็คิด เมื่อกลับมาจะหาเวลาเคลียร์ แต่มันสายไปแล้วที่จะนั่งคุยกัน สมาชิกพรรคเห็นว่า หากปล่อยไว้จะเกิดปัญหา เลยตัดสินใจลาออกจากกรรมการบริหารพรรค
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นจึงถูกผูกโยงทันที ว่า หาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรองนายกฯ ไม่มี พล.อ.วิชญ์ เป็นมือไม้คุม ส.ส.-คุมเกม ในพรรคเศรษฐกิจไทย ตามความคาดหมายแต่ต้น ก็อาจส่งผลต่อเก้าอี้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เนื่องจาก “เสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” ที่จะผ่านกฎหมายสำคัญ และรับมือกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อยู่ในภาวะ “เสียงปริ่มน้ำ” นั่นเอง
อย่าลืมว่า ร.อ.ธรรมนัส ถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับ “ลุงตู่” มาตั้งแต่ถูกกล่าวหาว่า มี “ดีลลับ” กับคนแดนไกล เพื่อล้ม “ลุงตู่” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯรัฐบาลประยุทธ์ ครั้งก่อน ต่อมาถูกปลดพ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ถูกออกจาก เลขาธิการพรรคฯ กระทั่งถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก่อนมาเป็นเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย
จากนั้นก็มีกระแสข่าวมาตลอดว่า “พรรคเพื่อไทย” หวังอาศัยเสียง ส.ส. จากพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 16 เสียง และกลุ่มพรรคเล็กประมาณ 10 เสียง เพื่อล้ม “บิ๊กตู่” ด้วยการโหวตไม่รับกฎหมายสำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ. 2566 และ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ที่สำคัญ สิ่งที่น่าติดตามอย่างยิ่งคือ สถานะ “เหนือการควบคุม” ของ ร.อ.ธรรมนัส หลังยึดพรรคเศรษฐกิจไทยเอาไว้ในกำมือ และแสดงตัวชัดเจนว่า จะกลับไปร่วมมือกับ “นายเก่า”
ถ้าจับกระแสจากการเดินทางไปสิงคโปร์ที่เชื่อกันว่า ไปพบ “นายเก่า” หรือ?การโพสต์เฟซบุ๊กยินดีกับความสำเร็จในสนาม กทม. กับ “ครอบครัวของเรา” แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค แต่คำนี้มีแค่ พรรคเพื่อไทย ที่ใช้คำว่า “ครอบครัวเพื่อไทย” ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส ก็เริ่มใช้คำว่า “ครอบครัวเศรษฐกิจไทย” ตามแล้วด้วย
ส่วนดีลกับ “นายเก่า” ถูกจับตามอง สองทางเลือกในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ ร.อ.ธรรมนัส ทำพรรคเศรษฐกิจไทยต่อ เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลสมัยหน้า หรือ ยุบพรรคเศรษฐกิจไทย แล้วยกส.ส.ไปรวมกับพรรคเพื่อไทย โดยมีตำแหน่งสำคัญ อย่าง รองหัวหน้าพรรค รองรับเอาไว้แล้ว
อย่าลืมสายสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ” กับ ร.อ.ธรรมนัส นอกจากจะเป็นนักเรียนเตรียมทหารมาด้วยกัน “ทักษิณ” รุ่น 10 ส่วน ร.อ.ธรรมนัส รุ่น 25 และแม้จะรุ่นห่างกัน แต่ก็ยังถือว่า เป็น “พี่น้อง” ได้ช่วง “ทักษิณ” ตั้งพรรคไทยรักไทย ร.อ.ธรรมนัสเดินตาม เสธ.ไอซ์ หรือ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต เพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ของ “ทักษิณ” เข้ามาช่วยงานในรัฐบาลทักษิณ
ด้านการทำงานการเมือง ปี 2555 ร.อ.ธรรมนัสเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เตรียมสร้างฐานการเมืองที่พะเยา และลงสมัครสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้ง 4 ก.พ.2557 (เลือกตั้งโมฆะ)
ปี 2561 เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ขอร้องให้ ร.อ.ธรรมนัส มาช่วยงาน “พลังประชารัฐ” ในภาคเหนือ เขาจึงลาออกจากเพื่อไทยมาอยู่ร่วมชายคา “3 ป.”
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลก หาก ร.อ.ธรรมนัส จะจับมือกับแกนนำพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล หรือ ไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ยังถือว่า ร.อ.ธรรมนัส กำลังเนื้อหอมสุดๆ สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการ “ล้มรัฐบาลลุงตู่” ประกอบกับ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะ “หัวหน้ากลุ่ม 16” ก็มีการเคลื่อนไหวรับประทานอาหารกับ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคามและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม เพื่อตรวจสอบโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก(อีอีซี) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะใช้เสียงเหล่านี้ล้มรัฐบาล
ยิ่งกว่านั้น ร.อ.ธรรมนัส ยังมีท่าทีข่มขู่รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลอย่างฮึกเหิม โดยผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเศรษฐกิจไทยยังเป็นตัวแปรสำคัญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เสียงของเรามีทั้งหมด 18 เสียง เป็นส.ส.อยู่ในสภา 16 เสียง เป็นเสียงที่มีความสำคัญและเสียงในมือตนไม่ได้มีเพียงแค่ 16 เสียง หากฟังนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ให้สัมภาษณ์ก็จะชัดเจนว่า ตนมีเสียงจากที่อื่นอีกเยอะ ดังนั้นรัฐมนตรีแต่ละคน หลายคนก็ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติบ้านเมืองเยอะ พึงระวังตัวด้วย ยืนยันว่า ผมมีมากกว่า 16 เสียง
เมื่อถามว่ามีมากกว่า 40 เสียง หมายถึงกลุ่มเศรษฐกิจไทยและกลุ่ม 16 ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “อย่าลืมว่า ผมมีพี่น้องเยอะ ที่นั่งอยู่ฝ่ายรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านนั้นไม่ต้องพูดถึง”
ถามอีกว่า หมายถึงพี่น้องในพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “ใช่ ส่วนที่โพสต์ในเพจของตนว่า ขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของผม ที่ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หลายคน ผมพูดเรื่องจริง ทั้งพรรคพลังประชารัฐและกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ รวมถึงยังมีอีกหลายพรรคที่เป็นครอบครัวผม ไม่อยากพูดมาก”
นั่นแสดงให้เห็นว่า ร.อ.ธรรมนัส พร้อมล้มรัฐบาล ด้วยเสียงที่มากกว่าที่มีอยู่ในมือ บวกกลุ่ม 16 ซึ่งอาจรวมถึงงูเห่าในพรรคพลังประชารัฐของ “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่”?
ที่น่าสังเกต ร.อ.ธรรมนัส ใช้คำว่า “ครอบครัว” เหมือนพรรคเพื่อไทย
แน่นอน ถ้าบวกกับตัวเลขอื่นที่ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า มีมากกว่านี้ ที่อยู่ในครอบครัวตัวเอง ถือเป็นตัวเลขที่ใช้ล้มรัฐบาล “ลุงตู่” ได้เลย อยู่ที่จังหวะโอกาส หรือ จะมีใครที่เดินเกมเป็นอย่างอื่นเท่านั้น
นอกจากนี้ ประเด็นที่ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน ก็คือ ท่าทีของ “บิ๊กป้อม” หลังจากนี้จะเป็นไปในแนวทางไหน รวมทั้งสายสัมพันธ์กับร.อ.ธรรมนัส จะยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิมหรือไม่
เพราะถ้าย้อนกลับไป “บิ๊กน้อย” ไม่ใช่น้องรักคนแรก ที่ต้องแตกหักกับ ร.อ.ธรรมนัส หากแต่ยังรวมถึง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ด้วย
สำหรับ “บิ๊กตู่” เป็นที่รู้กันว่า ขาดสะบั้นกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อกบฏศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวก่อน
ขณะกับ “บิ๊กป๊อก” ร.อ.ธรรมนัส คือตัวตั้งตัวตีในการเดินเกมกดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อโยกเก้าอี้ รมว.มหาดไทยของ “บิ๊กป๊อก” มาให้ “บิ๊กป้อม”
จนว่ากันว่า ทั้ง “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” กับร.อ.ธรรมนัส เดินเป็น “เส้นขนาน” ทางการเมืองกันแล้วก็ว่าได้
ประเด็นก็คือ เวลานี้ถือว่า ร.อ.ธรรมนัส มีปัญหากับน้องรักของ “บิ๊กป้อม” ถึง 3 คน หากยังเลือกเก็บเอาไว้ข้างตัวอีก แสดงว่า ร.อ.ธรรมนัส ต้องสร้างประโยชน์อะไรให้ “บิ๊กป้อม” ได้อย่างมาก ถึงกล้าแลกกับความเป็นพี่เป็นน้อง?
ยิ่งกว่านั้น หากข่าวลือที่ว่า ร.อ.ธรรมนัส หักกับ “บิ๊กน้อย” เรื่องจุดยืนพรรค กรณี สนับสนุน-ไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” ตลอดจนต้องการล้ม “บิ๊กตู่” ในสภา อย่างที่ “บิ๊กน้อย” ก็พูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน “บิ๊กป้อม” ยังอุ้ม ร.อ.ธรรมนัส ใช้งานต่อไป ก็อาจถูกมองว่า เป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดหรือไม่
โดยเฉพาะที่จะถูกโยงทันควันก็คือ เป้าหมาย “นายกฯคนนอก” หรือไม่ อย่างที่เคยเป็นกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้?
รวมทั้งยังเป็นเครื่องพิสูจน์คำว่า “ความตายเท่านั้นที่แยก 3 ป.ได้” เป็นแค่วาทกรรมกลบเกลื่อนความขัดแย้งภายใน หรือไม่
ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อนำมาวิเคราะห์กับปฏิทินการเมือง ที่ “รัฐบาลลุงตู่” กำลังจะเผชิญกับเรื่องสำคัญ ก็นับว่าน่าจับตามอง
นั่นคือ 1-2 มิ.ย. ที่ประชุมสภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 วงเงินกว่า 3.18 ล้านล้านบาท
จากนั้นคาดว่า วันที่ 9-10 มิ.ย. จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระ 2-3
ช่วงปลายเดือนมิถุนายน คาดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ที่คาดว่ากระบวนการตรวจสอบญัตติ รายชื่อ ความถูกต้อง แล้วจะบรรจุญัตติอภิปรายกันในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม
รวมถึงช่วงเดือนสิงหาคมจะมีเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร
ทั้งนี้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ถือเป็นตัวตัดสินการอยู่รอดหรือไม่ ของรัฐบาล “ลุงตู่” เลยทีเดียว
โดยเฉพาะ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 หากไม่ผ่าน มีทางออกแค่ 2 ทางเท่านั้น คือ ลาออก หรือ ยุบสภา
และแน่นอน กลุ่มธรรมนัส และพันธมิตรอย่างกลุ่ม 16 รวมทั้งครอบครัวธรรมนัสจากหลายพรรค(ตามที่กล่าวอ้าง) จะเป็น “ตัวแปรสำคัญ”
เว้นเสียแต่ สถานการณ์บีบให้ต้อง “ยุบสภา” ก่อนที่จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ เท่านั้นเอง เรื่องนี้ถ้าหากมีการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ประเมินเสียงสนับสนุนรัฐบาลแล้ว “สุ่มเสี่ยง” โอกาสที่จะยุบสภา ก็ไม่น่าจะเกินความคาดหมายเช่นกัน
แต่เหนืออื่นใด ก็ยังถือว่า เป็นผลมาจาก “กลุ่มธรรมนัส” และพันธมิตร กลุ่ม 16 กดดัน อยู่ดี หรือว่าไม่จริง!?