แนวทางการยกระดับ "SME Digital Literacy"
ในวันที่โลกเปลี่ยนผ่านจากยุค Analog เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว การพึ่งพาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยี Digital skill
ยิ่งในธุรกิจทั้งในภาคการผลิต การค้าและการบริการทุกวันนี้ ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ และการทำงานที่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้เทคโนโลยีจำเป็นต่อธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดคำว่า Digital Literacy คำศัพท์ใหม่แห่งยุคซึ่งเป็นทักษะจำเป็นของธุรกิจยุคใหม่
ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล Digital Literacy เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ศักยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการ SME
นิยาม ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล Digital Literacy
Digital Literacy หมายถึง ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี จัดเป็นทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถงานดิจิทัลในด้านอื่น ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ คือ
ใช้ (Use) หมายถึง ความคล่องแคล่วทางเทคนิคที่จำเป็นในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
เข้าใจ (Understand) คือ ชุดของทักษะที่จะช่วยให้เข้าใจบริบทและประเมินสื่อดิจิทัล เพื่อให้ตัดสินใจเกี่ยวกับอะไรที่ทำและพบบนโลกออนไลน์ เพราะเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ตมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และส่งผลต้องพฤติกรรมและมุมมองของผู้ใช้อย่างมาก ทำให้ความเข้าใจมีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมีวิจารณญาณในการใช้งาน
สร้าง (Create) คือ ความสามารถในการผลิตเนื้อหาและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีที่หลากหลาย
เข้าถึง (Access) คือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การค้นหาข้อมูลผ่าน Search engine รู้จักช่องทางการค้นหา ซึ่งนี่เป็นฐานรากในการพัฒนาของผู้ใช้งาน
ผลการศึกษาวิจัย SME Digital Literacy ของผู้ประกอบธุรกิจ SME ในประเทศไทย
จากการวิจัย ได้วิเคราะห์ระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของสถานประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็กในประเทศไทยจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 2,014 ตัวอย่าง กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย และเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง และผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่
การบริการอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่ การผลิต การขายปลีกหรือขายส่ง พบว่าสามารถแบ่งกลุ่มสถานประกอบการ ออกตามระดับความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจ (องค์ประกอบของ cognitive และ soft skill domain) และทักษะด้านดิจิทัล (องค์ประกอบของ digital skill, digital business strategy และ cybersecurity domain) ได้เป็น 4 clusters ตามระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ 4 ระดับเรียงลำดับจากน้อยไปมาก ตั้งแต่ระดับ Digital Infant, Digital Followers, Digital Adopters และ Digital Expert
โดยผลการศึกษาระหว่างระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลกับระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านดัชนีชี้วัดที่โครงการวิจัยนำเสนอนี้ สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
- ผู้ประกอบธุรกิจ SME ในไทย 40% ของกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มมือใหม่ (Digital Infant) ที่มีระดับทักษะความรู้แบบลองผิดลองถูก และยังไม่สามารถใช้ทักษะดังกล่าวได้ในระดับพื้นฐาน มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่ค่อนข้างต่ำ
- ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม Digital Expert มีสัดส่วนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มากยิ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม Digital Infant อย่างมากที่ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติก็ตาม
- ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม Digital Infant ควรถูกฝึกฝนให้มีความคิดเชิงวิเคราะห์ ตรรกะเหตุและผล และการเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงให้ความรู้พื้นฐานด้านการประกอบธุรกิจ และมุ่งเน้นสอนทักษะด้านการใช้งาน software พื้นฐานเท่านั้น
- ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม Digital Expert ควรมุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องการใช้ software เฉพาะทาง และมุ่งเน้นให้บูรณาการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ หรือการบริหารช่องทางขายแบบ omnichannel ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล จนนำมาสู่ช่องว่างของความมั่งคั่งที่สูงมากขึ้นในอนาคต ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการ ดังนี้
การส่งเสริมทักษะไม่ควรทำแบบเหมารวม แต่ควรมีโครงการเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ
การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล ควรทำอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ โดยควรเริ่มต้นจากการมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความครอบคลุม มีความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลที่เหมาะสมในระดับราคาที่ย่อมเยา ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มล้าหลังด้านดิจิทัล (Digital Infant) สามารถเริ่มเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลได้
ควรเริ่มส่งเสริมการใช้ซอฟท์แวร์พื้นฐานในการประกอบกลุ่ม Digital Infant ให้กลายเป็นกลุ่มผู้ตามด้านดิจิทัล (digital followers) แล้ว จึงส่งเสริมซอฟท์แวร์เฉพาะทางในการประกอบธุรกิจ จนเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เรียกว่ากลุ่มประยุกต์ใช้ดิจิทัล (digital adopters) และสุดท้าย คือ จนทำให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัล (digital front-runners) ในที่สุด
การประยุกต์ใช้ดิจิทัลต้องมุ่งเป้าที่การเพิ่มยอดขายเป็นลำดับแรก เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจยอมรับ และมีความมั่นใจในการประยุกต์ใช้ดิจิทัล แล้วจึงค่อยส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อลดต้นทุน เพิ่มอัตราการทำกำไร และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินทุน
ที่มา บทสรุป “SME Digital Literacy กับระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทย” สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ (PIER Research)