ชนะเหมือนแพ้ แพ้แต่เริ่มชนะ
ลุ้นกันตลอดวันเมื่อวานนี้ พอผลเลือกตั้งมาเลเซียออกมา ก็ไม่ได้ "สูสีคู่คี่" เหมือนที่โพลล์ทั้งหลายพยากรณ์เอาไว้
แต่แม้จะไม่เกิด "สึนามิการเมือง" ก็เป็นคลื่นใหญ่ที่ทำให้ผู้กุมอำนาจเดิมอย่าง นายกฯ นาจิบ ราซัค หัวหน้าพรรคอัมโน ที่กุมอำนาจประเทศนี้มา 56 ปี แสดงความกังวลว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวานนี้สะท้อนถึง "ความแตกแยกในประเทศ" อย่างชัดเจน
จำเป็นต้องมีการสร้าง "ความปรองดอง" และ "สมานฉันท์" กันครั้งใหญ่ เพราะว่าสังคมมาเลเซียกำลังแบ่งค่ายแบ่งฝ่ายกันหนักหน่วงยิ่งขึ้น (ไม่ต่างอะไรกับประเทศไทยเท่าใดนัก) ผลเลือกตั้งให้พรรคร่วมรัฐบาล Barisan Nasional (BN) ทั้งหมด 133 ที่นั่ง ในสภาที่มี 222 ที่นั่ง
ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน Pakatan Rakyat (PR) สามารถชนะได้ 89 ที่นั่ง
สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล ถือว่าลดลงจากการเลือกตั้งเมื่อสี่ปีก่อนเล็กน้อย ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถอ้างได้ว่านี่เป็นผลการเลือกตั้งที่ดีที่สุด ตั้งแต่ลงแข่งขันในสนามระดับชาติ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเลิกสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาล
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ รัฐบาลสามารถยึดที่นั่งในรัฐเคดาห์ใกล้ชายแดนไทยกลับไปเป็นของตนได้
ขณะที่ฝ่ายค้านยังสามารถชนะใจของรัฐสำคัญทางเหนือ (ใกล้ชายแดนใต้ของไทย) อย่างเช่น ปีนัง สลังงอร์ และ กลันตัน ได้อย่างเหนียวแน่น
การที่มีผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงถึงร้อยละ 80 ครั้งนี้ถือว่าไม่ธรรมดา สะท้อนถึงความตื่นตัวของประชาชนคนมาเลซียอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีมากถึง 2.5 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งประเทศ 13.3 ล้าน
ทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้งเมื่อเย็นวันอาทิตย์ อันวาร์ อิบราฮิม แห่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ประกาศทางทวิตเตอร์ว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นแล้ว และเตือนว่ารัฐบาลอย่าได้ “ปล้นชัยชนะ” ของฝ่ายค้านเป็นอันขาด
ขณะเดียวกัน นายกฯ นาจิบ ราซัค ก็ใช้โซเชียลมีเดียยืนยันว่า ฝ่ายรัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
อันวาร์ ประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลออกมาแล้ว ยืนยันว่ามีการโกงกินกันอย่างกว้างขวาง และคณะกรรมการการเลือกตั้งล้มเหลวในการทำหน้าที่ของตน
นายกฯ นาจิบ ยอมรับว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ (ที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลกลับมาเป็นรัฐบาลสมัยที่ 13 ติดต่อกัน) ทำให้เห็นชัดถึงความแบ่งแยกของชุมชนคนจีนกับมาเลย์ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
คนจีน ส่วนใหญ่ เทคะแนนให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขณะที่ คนมาเลย์ ยังให้ความไว้วางใจพรรคร่วมรัฐบาล
นายกฯ นาจิบ เรียกแนวโน้มครั้งนี้ว่า เป็น “สึนามิสัญชาติจีน” ที่ซัดถาโถมใส่พรรคร่วมรัฐบาล
แม้ว่าจะยึดคืนฐานที่มั่นในรัฐเคดาห์ คืนจากฝ่ายค้าน แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็รักษารัฐเประ ได้อย่างหืดขึ้นคอ...ชนะฝ่ายค้านเพียงสามที่นั่งเท่านั้น
การที่ พรรคร่วมรัฐบาล BN ได้ 133 ที่นั่ง เท่ากับลดไปจากเดิมที่มี 140 ที่นั่ง ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน PR ที่เคยมีที่นั่ง 75 ที่นั่งในสภา มาคราวนี้เพิ่มเป็น 89 ที่นั่ง
แม้ว่าจะไม่ใช่ “สึนามิ” ในภาพรวม แต่ก็เป็นคลื่นใหญ่มากพอ ที่จะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างหนักหน่วงทีเดียว
เพราะว่าเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถได้ที่นั่งถึงสองในสาม (หรือเกิน 167 ที่นั่ง) ก็ไม่อาจผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ผ่านสภาได้ง่ายดาย
เป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองแล้ว ที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถได้ที่นั่งสองในสาม
ข้อกล่าวหาแรก คือ หมึกดำ ที่ผู้ใช้สิทธิจุ่มที่นิ้วเพื่อไม่ให้เวียนเทียนรอบสองนั้น เดิมรัฐบาลบอกว่าจะอยู่ได้หลายวัน แต่ผู้เลือกตั้งบางคนฟ้องว่าเพียงผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงหมึกดำนั้นก็หายไปแล้ว ไม่สามารถป้องกันการใช้สิทธิซ้ำสองได้
เสียงเล่าลือมากมายว่ารัฐบาลใช้เครื่องบินขนผู้มีสิทธิจากเขตเลือกตั้งที่ตนชนะแน่ๆ ไปในเขตที่สูสีหรือกลัวจะแพ้
รัฐบาลปฏิเสธข่าวนี้ อ้างว่าคนที่ทำเป็นผู้สนับสนุนไม่ใช่รัฐบาลทำเอง
อีกข้อกล่าวหาหนึ่ง คือ การที่ “คนต่างด้าว” บางคน ได้รับเอกสารที่แสดงสิทธิให้เลือกตั้งได้ ซึ่งหมายถึง “คนสองสัญชาติ” ใกล้ชายแดนไทย ที่อาจจะเข้าข่ายความน่าสงสัยว่ามีการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อช่วยรัฐบาล
ทั้งหมดนี้ รัฐบาลของ นายกฯ นาจิบ ยืนยันว่า ไม่จริง ไม่เกี่ยว และไม่ได้ทำ ขณะที่ฝ่ายค้านยืนยันว่าเป็นกลเม็ดโกงเลือกตั้งของฝ่ายผู้มีอำนาจ
ที่แน่ชัด ก็คือ การที่สื่อสารมวลชนอิสระถูกกดดันและกลั่นแกล้ง ในการรายงานข่าวช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นรอยด่างของการเมืองมาเลเซียมาช้านาน
สรุปว่า ผลเลือกตั้งมาเลเซียครั้งนี้ ฝ่ายค้านได้คะแนนดีขึ้น แต่ไม่มากพอที่จะคว่ำพรรคร่วมรัฐบาลที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน
ขณะที่ กลไกรัฐ สามารถทำให้รัฐบาลครองอำนาจต่อไปอีกหนึ่งสมัย
กระแสความต้องการความเปลี่ยนแปลงของคนมาเลเซียไม่แรงพอ ที่จะสร้าง “สึนามิการเมือง” ได้ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นแห่งความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นการจัดการกับคอร์รัปชัน การเล่นเส้นเล่นสาย และการสกัดกั้นเลือดใหม่เข้าสู่เวทีการเมือง
คะแนนเสียงในสภา อาจจะเข้าข้างรัฐบาลอีกวาระหนึ่ง แต่เสียงเรียกร้องต่อความเปลี่ยนแปลง เป็นกระแสที่แรงขึ้นกว่าเดิม...อย่างไม่ต้องสงสัย