"เสือโคร่ง"ตัวสุดท้ายของโลก
ภาพเสือโคร่งลายพาดกลอนที่ถูกตัดหัว และตัดลำตัวเป็น 3 ท่อน ของขบวนค้าซากสัตว์ป่ารายใหญ่ย่านพื้นที่นนทบุรี
แม้จะเกิดขึ้นเมื่อช่วง 1 ปีก่อน แต่เชื่อว่าภาพนี้ยังคงติดตาของคนจำนวนมาก
วันนี้การแกะรอยของขบวนการค้าสัตว์ป่าของไทยที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ในความเป็นจริงยังคงจับได้เพียงแค่ปลาซิวปลาสร้อยเท่านั้น
สวนทางกับการทำงานอย่างหนักของกลุ่มนักอนุรักษ์เสือโคร่งและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวนมาก ที่ต้องคอยติดตามพฤติกรรมประชากร การกระจายพันธุ์ และการคุ้มครองเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง- ทุ่งใหญ่นเรศวร ให้รอดจากเงื้อมมือของพรานใจโหดมาร่วมสิบปี
" ประเมินว่าในป่าธรรมชาติของไทยจะมีเสือโคร่งราว 250 ตัว โดยเฉพาะในป่าตะวันตกพบว่าประชากรค่อนข้างคงที่ โดยในแต่ละปีกล้องดักถ่ายสามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้ 30 ตัว คิดความหนาแน่นประมาณ 2-3 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร และมีเสือราว 125 ตัว"
ศักดิสิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกถึงโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกที่ทำมาแล้ว 6 ปี
เขาบอกว่า ตอนนี้ยังมีข่าวดีว่าพบเสือโคร่งเต็มวัยกระจายพื้นที่หากินเข้าในป่าใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และป่าคลองลาน ที่เราพบว่ามีครอบครัวเสือจากห้วยขาแข้งเข้าไปอาศัยอยู่ 11 ตัวนี้ บ่งชี้ได้อย่างดีว่าป่าที่นี่ยังสมบูรณ์ และมีเหยื่อ เช่น กวาง หมูป่าที่เพียงพอสำหรับพวกมัน
หากถามว่าสถานการณ์แบบนี้ยังน่าเป็นห่วงหรือไม่ ศักดิ์สิทธิ์ บอกว่า ตราบใดที่ยังรักษาบ้าน หรือป่าไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ และสามารถป้องกันนักล่าสัตว์ เชื่อว่าอนาคตของเสือโคร่งในป่าธรรมชาติก็ยังมีโอกาสรอดได้
" แต่ในทางกลับกันถ้าบ้านของพวกมันถูกทำลาย ระบบนิเวศน์ของเหยื่อเสียสมดุล และการจัดการสัตว์ป่าที่ขาดการมองแบบองค์รวม เสือโคร่งในป่าธรรมชาติก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ แม้ว่าปัจจุบันเสือโคร่งในกรงเลี้ยงจะมีมาก แต่พวกมันไม่ใช่เสือที่เกิดในป่า" ศักดิ์สิทธิ์ บอก
ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เองได้เกิดกระแสตื่นตัวในระดับโลกขึ้น หลังจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการประเมินว่าบนโลกนี้ยังมีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่ใน 13 ประเทศ ราว 3,200 ตัวเท่านั้นซึ่งในจำนวนนี้น่ายินดีว่าไทยที่ติด 1 ใน 5 ของโลก ที่มีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่มากสุดถึง 250 ตัวด้วย
กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันทั้ง 13 ประเทศรวมทั้งไทย ได้วางมาตรการและแผนอนุรักษ์เสือโคร่งให้ชาติต่างๆ นำไปปฏิบัติ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลกโดยมีเป้าหมายฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอีกเท่าตัวในธรรมชาติ
ดังนั้น จึงยังมองเห็นแสงสว่างว่าในวันอนุรักษ์เสือโคร่ง 29 ก.ค.ของทุกๆ ปี และเรื่อยไปนับสิบปี ร้อยปี ลูกหลานเราคงไม่เห็นเพียงเสือโคร่งตัวสุดท้าย ที่อยู่ในภาพวาดหรือกรงเลี้ยงเท่านั้น!!!