'หุ้นวอลล์สตรีท' ร่วงแรง ผิดหวัง 'พาวเวลล์ลดดอกเบี้ยช้า' กังวลการเลือกครม.ของทรัมป์
ดัชนีหลักของวอลล์สตรีท ปิดตลาดในวันศุกร์ลดลง โดย S&P 500 และ Nasdaq ร่วงลงมากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ช้าลง และนักลงทุนผิดหวังต่อการเลือกคณะรัฐมนตรีของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่
KEY
POINTS
- ยอดขายปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนตุลาคม สูงกว่าที่คาด
- ดัชนีรายสัปดาห์ร่วงลง
- ผู้ผลิตวัคซีนและอาหารบรรจุหีบห่อลดลงหลังการแต่งตั้ง RFK Jr.
- Applied Materials ลดลงหลังจากการคาดการณ์รายได้ ไตรมาส 1 ต่ำกว่าที่คาด
- วันศุกร์ดัชนีหลักลดลง: Dow 0.70%, S&P 500 1.32%, Nasdaq 2.24%
ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจอโรม พาวเวลล์ ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ย.) ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ตลาดงานที่มั่นคง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นเหตุผลที่ธนาคารกลางสามารถระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตได้
ซีเอ็มอี เฟดวอต์ช (CME FedWatch) ที่สำรวจความคิดเห็นของนักลงทุน พบว่า ผู้ค้าในตลาดเพิ่มการเดิมพันว่าเฟดจะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ซึ่งโอกาสที จะไม่ลดมีประมาณ 42% เทียบกับ 14% เมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ พวกเขายังปรับลดความคาดหวังเกี่ยวกับการผ่อนคลายนโยบายในปีหน้าอีกด้วย
มุมมองนี้ได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อวันศุกร์ (15 พ.ย.) ที่แสดงให้เห็นว่า ยอดขายปลีกของสหรัฐในเดือนตุลาคมเพิ่ม ขึ้นเล็กน้อยที่ 0.4% มากกว่าที่คาดไว้ ราคาสินค้านำเข้าฟื้นตัว และข้อมูลที่เผยแพร่ในวันพุธ (13 พ.ย.) และพฤหัสบดียังแสดงให้เห็นถึงอัตราเงินเฟ้อยังหนืด
อดัม ริช รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Vaughan Nelson ในเมืองฮูสตัน กล่าวว่า “ในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา เรามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายอย่าง ไม่ใช่แค่จากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังมาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาดไว้ และพาวเวลล์พูดถึงความไม่จำเป็นที่ต้องเร่งรีบลดอัตราดอกเบี้ย”
“ตลาดลดความคาดหวังลงอย่างมาก ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลง และตลาดก็กำลังปรับตัวใหม่หลังจากปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูงจากที่เคยพอใจต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐ”
การเทขายหุ้นในวันศุกร์ในวันสิ้นสุดสัปดาห์ ตลาดเปลี่ยนความสนใจจากชัยชนะในการเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ ไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดต่อไป
ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนี S&P 500 ลดลง 2.08% ในขณะที่ ดัชนี Nasdaq ลดลง 3.15% ซึ่งถือเป็นการร่วงลงรายสัปดาห์ครั้ง ใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน ดัชนี Dow ลดลง 1.24% ในสัปดาห์นี้
“ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นในวันนี้ ผู้คนต่างเทขายทำกำไร เพราะเป็นเดือนที่ดี หุ้นสหรัฐ มีผลงานดีในเดือนนี้ แต่ยังไม่ใช่การเทขายทำกำไรทั้งหมด” จอห์น ออกัสติน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของธนาคารฮันติงตัน เนชั่นแนล กล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงแรงซื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มสาธารณูปโภค “ซึ่งบ่งชี้ถึงการหมุนเวียนการขึ้นลงมากกว่า”
หุ้นของบริษัทผลิตวัคซีนและบริษัทอาหารบรรจุหีบห่อลดลงเช่นกัน หลังจากที่ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะเสนอชื่อโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ผู้ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนและวิพากษ์วิจารณ์อาหารแปรรูปพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์
วันศุกร์ ดัชนี Nasdaq ร่วงลงมากสุด
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 305.87 จุด หรือ 0.70% สู่ระดับ 43,444.99
ดัชนี S&P 500 ลดลง 78.55 จุด หรือ 1.32% สู่ระดับ 5,870.62
ดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 427.53 จุด หรือ 2.24% สู่ระดับ 18,680.12
ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 2000 ปิดตลาดลดลง 1.4% ถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นวันที่สี่
หุ้นของบริษัทด้านการป้องกันประเทศและผู้รับเหมางาน รัฐบาลก็ร่วงลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับทรัมป์เมื่อต้นสัปดาห์ที่เสนอตั้ง “อีลอน มัสก์” ให้ดำรงตำแหน่ง “กระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล” ซึ่งเป็นกระทรวงที่จะตั้งขึ้นใหม่
หุ้นไอทีลดลงมากสุด
ในบรรดา 11 อุตสาหกรรมหลักของ S&P 500 ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหุ้นที่ร่วงลงมากที่สุดในวันนี้ โดยร่วงลง 2.5%
นอกจากนี้ ดัชนี Philadelphia SE Semiconductor ลดลง 3.4% โดย Applied Materials ร่วงลง 9.2% หลังจากที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ผลิตชิปของสหรัฐ คาดการณ์รายได้ไตรมาสแรกต่ำกว่าที่ วอลล์สตรีท ประมาณการหุ้นของ Moderna ร่วงลง 7.3% และหุ้น Pfizer ร่วงลง 4.7% ส่งผลต่อกลุ่มการดูแลสุขภาพปิดตลาดลดลง 1.88% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ห้าติดต่อกันที่หุ้นร่วงลง
ดัชนีกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปิดตลาดลดลง 0.8% ก็ได้รับผลกระทบจากข่าวการเสนอชื่อครม.ทรัมป์เช่นกัน โดยหุ้นที่ร่วงลงมากที่สุด ได้แก่ Monster Beverage ร่วงลง 7%, Lamb Weston ร่วงลง 6% และ Keurig Dr Pepper ร่วงลง 5% สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนเมษายน
นอกจากนี้ ตามรายงานของ อดัม ริช ระบุว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มความผันผวนในวันศุกร์ นั่นคือ การหมดอายุของหุ้นและออปชั่นดัชนี
ด้านเบรนท์ โคชูบา ผู้ก่อตั้งบริษัท SpotGamma ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน กล่าวว่า ความอ่อนแอของตลาดหุ้นในวันศุกร์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่นักลงทุนไม่ได้เตรียมตัวรับการย่อตัวลงของตลาด
ดัชนีความผันผวน CBOE (.VIX) ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อมาตรวัดความกลัวของวอลล์สตรีท พุ่งแตะระดับ 17.55 เมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับ ตั้งแต่วันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ดัชนีได้ปรับลดลงมาปิดที่ระดับ 16.14
อ้างอิง: Reuters