ใครร่วมขบวน 'มวลมหาประชาชน'?
9 ธ.ค. 2556 ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องถูกจารึก ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เพราะนอกจากจะเป็นวันประกาศยุบสภาของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ 9 ธ.ค. ยังเป็นวันที่ประชาชนเรือนล้านที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เรียกว่า “มวลมหาประชาชน” ตบเท้าเดิน 9 เส้นทางมุ่งหน้ายึดทำเนียบรัฐบาลศูนย์กลางการบริหารประเทศ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 หรือนับถอยหลังจากนี้อีกประมาณ 50 วัน ซึ่งแน่นอนว่า กปปส. คัดค้าน ด้วยเหตุผลว่าการเลือกตั้งควรจะเกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิรูปประเทศโดยสภาประชาชนเท่านั้น
การถกเถียงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการเลือกตั้งควรจะเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยมีการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย หรือการปฏิรูปประเทศควรเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
...แน่นอนว่า การปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ ในอดีตที่ผ่านมามีความพยายามในการปฏิรูปประเทศมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยึดติดกับรูปแบบและตัวบุคคลที่จะเข้ามาร่วมปฏิรูปมากกว่าผลลัพธ์ที่จับต้องได้ และแทบจะไม่มีการตั้งคำถามเลยว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการปฏิรูปคืออะไร?
ในขบวนของ มวลมหาประชาชน ที่มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เต็มไปด้วยโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปประเทศ เช่นเดียวกับการชุมนุมประท้วงรัฐบาลในรอบหลายปีที่ผ่านมา การรวมตัวของประชาชนเกิดจากการไม่พอใจผู้กุมอำนาจรัฐ
ไม่ใช่คนที่รัฐบาลจะทำความเข้าใจได้ด้วยเหตุผลตื้นๆ ว่า เป็นแฟนประจำ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ หรือเป็นคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณ
เสียงตะโกนของมวลชนที่หลากหลาย อาจทำให้เราเข้าใจโจทย์การปฏิรูปประเทศชัดเจนขึ้น ว่าต้องแก้ปัญหาใดบ้าง เพราะตลอดเส้นทางมีทั้งคนที่ไม่พอใจการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา มีนักวิชาการที่ไม่พอใจนโยบายประชานิยม ที่ใช้เงินหลายแสนล้านบาท ภาคเอกชนที่ทนไม่ไหวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนที่หงุดหงิดกับการถูกรีดไถถูกเรียกสินบน เกษตรกรที่เดือดร้อนจากราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ข้าราชการที่ถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม ชาวบ้านที่ชักหน้าไม่ถึงหลังเพราะค่าครองชีพพุ่งสูง คนชนบทที่ถูกแย่งชิงทรัพยากร ฯลฯ ปัญหาหลายอย่างฝังลึกในเชิงโครงสร้าง ต้องใช้ทั้งความพยายาม เวลา และทรัพยากรในการแก้ไข
...ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอสเซท พลัส จำกัด ให้โจทย์ในการปฏิรูป ที่สังคมจะต้องร่วมกันตอบ 3 ข้อ คือ 1. เราจะช่วยเหลือคนดีแต่ไม่ได้ดี ได้อย่างไร 2. เราจะปกป้องคนดีที่ถูกปฏิบัติไม่ดี ได้อย่างไร และ 3. เราจะจัดการกับคนไม่ดีที่ได้ดี ได้อย่างไร
หากการปฏิรูปประเทศยังตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อไม่ได้ ความเป็นธรรมในสังคมก็ยังไม่เกิดขึ้น คนดีถูกเหยียดหยาม คนไม่ดีได้ลาภ ยศ สรรเสริญ คนทุจริตไม่ถูกลงโทษ การชุมนุมประท้วงย่อมเกิดขึ้นได้อีกเสมอในวันข้างหน้า
...อาจเป็นการรวมตัวกันของ “มวลอภิมหาประชาชน” !!!