สะท้อนปัญหาธรรมาภิบาล และระบบอุปถัมภ์จาก "กรรมการอิสระ"
การขาดธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ที่ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวหน้า
และบรรลุศักยภาพที่มีอยู่เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว ที่เป็นอย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ที่ไม่สร้างสรรค์ให้ประเทศก้าวหน้า แต่เป็นพฤติกรรมที่ให้ความสำคัญกับระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง และระบบอำนาจเป็นใหญ่ ทำให้การ “ตัดสินใจ” ในเรื่องที่สำคัญของประเทศขาดการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส และขาดการใช้เหตุใช้ผลที่เพียงพอ นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากร ที่มักจบลงด้วยการสร้างปัญหาอื่นตามมา
สิ่งเหล่านี้คือ การขาดธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศขณะนี้ที่ต้องปฏิรูป เพื่อปลดล็อกสังคมออกจากระบบอุปถัมภ์ ที่ชอบความเป็นพวกพ้องมากกว่าเหตุผล มากกว่าความรู้ความสามารถ นำไปสู่การขาดธรรมาภิบาล นำไปสู่ความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมาย และการทุจริตโกงกินรุนแรงขนาดที่ทำลายประเทศได้ ระบบอุปถัมภ์จึงเปรียบเหมือนหินก้อนใหญ่ที่กำลังทับศักยภาพของประเทศอยู่ เราต้องช่วยกันดันหินก้อนนี้ออก โดยเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่กระบวนการทำงานร่วมกันบนหลักธรรมาภิบาลที่เน้นการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และการรับผิดรับชอบ เพื่อสร้างประเทศให้โตได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่
ที่ผมเขียนประเด็นนี้วันนี้ ก็เพราะได้แรงดลใจหรือ Inspiration จากการร่วมสัมมนา “ความท้าทายของการสรรหากรรมการอิสระ” จัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD เมื่อวันพุธที่แล้วที่ชี้ว่าระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ก็เป็นข้อจำกัดสำคัญของการสรรหากรรมการอิสระที่เป็นมืออาชีพในบริษัทธุรกิจ สะท้อนจากการแต่งตั้งพวกพ้องของเจ้าของมาเป็นกรรมการอิสระ คือพวก FOF (พวกเพื่อนของพ่อ หรือเพื่อนของเพื่อน) แทนที่จะเป็นมืออาชีพ แต่ปัญหานี้กำลังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากโจทย์ธุรกิจที่ยากขึ้น ที่เจ้าของต้องการคนเก่งเข้ามาช่วย จึงมองหามืออาชีพเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ อีกส่วนหนึ่งมาจาก การเปลี่ยนมือของเจ้าของจากรุ่นบุกเบิก คือรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก ซึ่งเป็นเจ้าของรุ่นใหม่ที่ทันสมัยกว่า ไม่ยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ โตและคุ้นเคยมากับการทำงานที่เป็นระบบ แบบมืออาชีพ จึงต้องการกรรมการอิสระที่มีความสามารถมานั่งอยู่ในคณะกรรมการบริษัท เพื่อช่วยงานของบริษัท และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการพัฒนากรรมการในประเทศไทย ที่มีมาต่อเนื่องทำให้เรามีกรรมการมืออาชีพมากขึ้น ที่พร้อมจะทำหน้าที่กรรมการอิสระเต็มเวลา มีทั้งความรู้ในเรื่องธุรกิจ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้ทั้งอุปสงค์และอุปทานของกรรมการมืออาชีพขณะนี้กำลังเติบโต นำไปสู่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวถึง
ในระบบของไทยปัจจุบัน เพื่อให้บริษัทให้ความสำคัญกับสิทธิและประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ระบุเป็นเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งในสาม และไม่ต่ำกว่าสามคน เพื่อช่วยในการคานอำนาจกรรมการฝ่ายผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อดูแลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ในความเป็นจริงบริษัททุกบริษัทมีกรรมการอิสระครบถ้วนตามกฎหมาย แต่จริงๆ ในการทำหน้าที่กรรมการอิสระอาจไม่อิสระจริงเหมือนที่อยากเห็น เพราะการแต่งตั้งกรรมการอิสระยังเป็นระบบอุปถัมภ์ คือเน้นคนรู้จัก คนที่พูดกันง่าย มากกว่าคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ ดังนั้น ความท้าทายเรื่องกรรมการอิสระ ก็คือ
หนึ่ง จะสรรหาบุคคลที่เหมาะสมที่ไม่ใช่พวกพ้องหรือคนรู้จัก เข้ามาเป็นกรรมการอิสระได้อย่างไร ที่ตรงกับความต้องการของบริษัท ที่จะสามารถแนะนำ กลั่นกรอง และท้วงติง เมื่อเห็นว่าสิ่งที่บริษัททำอาจทำให้บริษัทเสียหาย นี้คือปัญหาของเจ้าของที่ต้องการมืออาชีพเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ สอง ก็คือ เมื่อได้กรรมการอิสระแล้ว จะทำอย่างไรให้กรรมการอิสระสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ ปลอดจากอิทธิพลการครอบงำของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีพฤติกรรมแบบเดิมๆ
การสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องเหล่านี้และมีข้อสรุปน่าสนใจดังนี้
หนึ่ง เจ้าของบริษัทส่วนหนึ่งหรืออาจเป็นส่วนใหญ่ที่ขณะนี้ยังไม่พร้อม หรือไม่อยากได้กรรมการอิสระที่อิสระจริง หรือเป็นคนที่ไม่รู้จัก เพราะกลัวกรรมการอิสระจะเข้ามาซักถาม ให้ความเห็น และสร้างปัญหาให้กับการบริหารจัดการบริษัทอย่างที่มีมา คือ กลัวสิ่งที่ทำมาจะถูกคัดค้าน ตรวจสอบ ความกลัวนี้ทำให้เจ้าของบริษัทมีแนวโน้มที่จะใช้คนที่รู้จักให้เข้ามาเป็นกรรมการอิสระ เราจึงได้กรรมการอิสระตามตำแหน่งแต่ไม่อิสระจริง
เพื่อลดช่องว่างนี้ จำเป็นที่เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าของบริษัทว่า ในโลกเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงเร็ว แข่งขันสูง และโจทย์ธุรกิจยากขึ้น กรรมการอิสระที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถในธุรกิจที่บริษัททำอยู่ จะเป็นทรัพย์สิน หรือ Asset ที่มีค่าต่อบริษัท ทั้งต่อผลประกอบการ และต่อการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ที่จะให้ความเห็น แนะนำบริษัทในประเด็นต่างๆ อย่างมืออาชีพ ไม่ใช่เข้ามาจับผิดอย่างที่เข้าใจ ถ้าเจ้าของบริษัทสามารถเข้าใจประเด็นนี้ บริษัทก็จะสรรหาบุคลากรที่สามารถเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ ที่น่ายินดีก็คือประเด็นนี้มีแนวโน้มเริ่มเปลี่ยน โดยเฉพาะในบริษัทที่มีเจ้าของรุ่นใหม่ ที่หวังพึ่งหรือได้ประโยชน์จากกรรมการมืออาชีพ
สอง คือ ประธานกรรมการบริษัทจะเป็นตัวตัดสินสำคัญว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากกรรมการอิสระมากหรือน้อย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของประธาน ว่าทำหน้าที่ได้ตามแนวปฏิบัติที่ดีของประธานหรือไม่ และมีสปิริตที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญเพราะในสังคมไทยที่คุ้นกับระบบอุปถัมภ์และอำนาจเป็นใหญ่จะไม่ค่อยมีใครอยากถกเถียงกับผู้ใหญ่หรือประธาน ดังนั้น ประธานที่มีวิธีการทำงานที่เปิดกว้าง โปร่งใส อย่างมืออาชีพ จะทำให้บริษัทได้กรรมการอิสระที่เป็นมืออาชีพ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งคณะกรรมการ และเปิดโอกาสให้กรรมการอิสระสามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ
สาม อุปทาน หรือจำนวนกรรมการอาชีพในประเทศกำลังมีมากขึ้น ในเรื่องนี้สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD มีโครงการกรรมการอาชีพในทำเนียบ IOD หรือ Chartered Directors ที่พัฒนากรรมการอาชีพให้เป็นทางเลือกให้กับเจ้าของบริษัทในการสรรหากรรมการอาชีพเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ ปัจจุบัน IOD มีกรรมการอาชีพในทำเนียบ ทั้งสิ้น 33 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นจากบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในประเทศที่มีมาก เพื่อตอบสนองความต้องการกรรมการอาชีพที่จะมีมากขึ้น
นี่คืออีกตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ว่า สังคมไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนในกรณีนี้โดยตัวอย่างของเจ้าของและคนรุ่นใหม่ ที่มีความเป็นมืออาชีพ และพร้อมเดินออกจากการทำงานแบบระบบอุปถัมภ์ ไปสู่การทำงานแบบมืออาชีพ ที่อิงแนวปฏิบัติหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี พลังการเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะช่วยประเทศไทยให้ก้าวหน้าไม่ล้าหลัง และผลักดันประเทศให้บรรลุศักยภาพที่มีอยู่อย่างแท้จริง
ดังนั้น เราต้องมาช่วยกันทำงานแบบเจ้าของรุ่นใหม่ พาประเทศออกจากระบบอุปถัมภ์ สู่ระบบมืออาชีพ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของประเทศและคนไทยรุ่นต่อๆ ไป