ต่อยอดพลัง 405 บริษัท CAC ต้านคอร์รัปชัน

ต่อยอดพลัง 405 บริษัท CAC ต้านคอร์รัปชัน

ในบทความแรกของปี 2015 ผมขอส่งความสุขปีใหม่แด่ผู้อ่านทุกท่าน ให้มีสุขภาพแข็งแรง มีชีวิตที่มีความสุขตลอดปี 2015

และร่วมมือกันสร้างประเทศไทยของเราให้ดีขึ้น

สิ้นปีที่แล้ว โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC (Collective Action Coalition of the Private Sector Against Corruption) ก็ดำเนินการมาครบสี่ปี นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2010 ที่โครงการได้เริ่มต้น ที่มีบริษัทมาร่วมประกาศเจตนารมณ์ 27 บริษัท ณ สิ้นปีที่แล้ว จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 405 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 212 บริษัท และใน 405 บริษัท มี 78 บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่ามีนโยบายต่อต้านการทุจริต และมีแนวปฏิบัติและระบบการควบคุมภายในป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันครบถ้วนตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ CAC

การเติบโตของโครงการ CAC เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่มีบริษัทเอกชน 405 บริษัทเข้าร่วมแสดงตนอย่างเปิดเผยปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ และถ้าดูรายชื่อ บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 212 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าดูชื่อแล้วบริษัทเหล่านี้จะมีมูลค่าตลาดนับรวมกันกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการจ้างงานรวมกันมากกว่าครึ่งล้านคน นี่คือพลังของธุรกิจสะอาด ที่กำลังก่อตัวขึ้น บริษัทเหล่านี้เปรียบเหมือนทัพหน้าของภาคเอกชนที่จะเป็นผู้นำต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การทำธุรกิจที่สะอาดและปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันในวงที่กว้างขึ้น และถ้าบริษัทในประเทศส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ การทุจริตคอร์รัปชันก็จะลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่นักธุรกิจทุกคนอยากเห็น

คำถามที่ผมถูกถามบ่อย ก็คือ อะไรเป็นปัจจัยเบื้องหลังการเติบโตของจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC ผมคิดว่าปัจจัยที่นำไปสู่การเติบโตของ CAC มีมาก แต่ที่สำคัญ ที่นำไปสู่การตื่นตัวและจำนวนบริษัทเข้าร่วมโครงการ ก็คือ

หนึ่ง บริษัทเอกชนทุกบริษัทโดยข้อเท็จจริงแล้วเกลียดและไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชัน (ยกเว้นบริษัทที่หากินกับคอร์รัปชัน) เพราะเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็น ทำลายการแข่งขันและนวัตกรรม ทำลายแรงจูงใจของบริษัทดีๆ คนดีๆ ที่ต้องการทำธุรกิจ หลายบริษัทหยุดทำธุรกิจกับภาครัฐ เพราะเรื่องคอร์รัปชัน หลายคนไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสูญเสียของประเทศ แต่ในอดีต ความไม่ชอบเหล่านี้ถูกเก็บไว้ไม่แสดงออก เพราะไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ และเปิดเผย แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว มีโครงการ CAC ที่เป็นพื้นที่ให้บริษัทธุรกิจที่ต้องการทำธุรกิจสะอาด ไม่ชอบคอร์รัปชัน สามารถรวมตัวกันเป็นพลังผลักดันการทำธุรกิจที่สะอาด นี่คือประเด็นหลักที่ดึง 405 บริษัทให้เข้าร่วมโครงการ CAC เพราะทั้ง 405 บริษัทมีความต้องการเหมือนกัน นั่นก็คือการทำธุรกิจในประเทศไทยที่สะอาด และปลอดคอร์รัปชัน เพื่อสร้างสรรค์ประเทศให้เติบโตตามการแข่งขัน และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกิจในประเทศไทย นี่คือความต้องการร่วมกันของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันโครงการ CAC ให้เติบโต

ปัจจัยที่สองที่ช่วยขับเคลื่อน ก็คือ กระบวนการรับรอง หรือ Certification Process ของคณะกรรมการ CAC ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากบริษัทเข้าร่วม โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ที่ปรกติจะระวังมากในการเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพราะอาจกระทบถึงชื่อเสียงบริษัท กระบวนการรับรองของโครงการ CAC ก็คือ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีพันธกิจหลังประกาศเจตนารมณ์ที่ต้องกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนที่จะทำธุรกิจสะอาด ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน และต้องมีการวางแนวปฏิบัติและระบบการควบคุมภายในเพื่อป้องกันและติดตามการทำธุรกิจของบริษัท ไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน นี่คือพันธกิจของบริษัทเข้าร่วมโครงการที่ต้องทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำจริงและได้ปฏิบัติจริงตามที่ประกาศ

การรับรองโดยคณะกรรมการ CAC จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทได้รับรองตนเองว่ามีการกำหนดนโยบาย มีการวางระบบควบคุมภายใน และมีการนำนโยบายมาปฏิบัติใช้จริงครบถ้วนตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ CAC โดยข้อมูลต่างๆ ที่สนับสนุนว่ามีนโยบายจริง มีการปฏิบัติจริง ได้มีการสอบทานตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบอิสระจากภายนอก หรือจากคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท ที่ประธานเป็นกรรมการอิสระ การรับรองตนเองของบริษัทจะทำในรูปของการตอบแบบประเมินตนเองว่า บริษัทได้ทำครบถ้วนตามเงื่อนไขของคณะกรรมการ CAC ลงนามโดยประธานกรรมการบริษัท และสอบทานข้อมูลโดยผู้ตรวจสอบภายนอก หรือประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หลังจากนั้นบริษัทก็จะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการ CAC พิจารณารับรอง ปัจจุบันจากสี่ร้อยห้าบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์มี 78 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ส่วนที่เหลือ ที่ยังไม่ได้รับรองก็อยู่ในกระบวนการของการเข้าสู่การรับรอง ซึ่งจะทำให้ตัวเลขจำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจะมีมากขึ้นในปีหน้า

การรับรองของคณะกรรมการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทได้รับรองตนเองว่ามีนโยบาย และมีระบบการควบคุมภายใน ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันครบถ้วนตามข้อกำหนด ไม่ใช่การรับรองพฤติกรรมว่า บริษัทจะไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งคงไม่มีใครสามารถรับรองได้ แต่การมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน จะทำให้โอกาสของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันโดยพนักงานหรือผู้บริหารของบริษัทมีน้อยลง หรือไม่มีเลย

ดังนั้น พันธกิจของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC ที่ต้องมีนโยบายมีแนวปฏิบัติเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน มีการควบคุมตรวจสอบและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทและมีกระบวนการรับรองที่เป็นกิจจะลักษณะ สิ่งเหล่านี้ทำให้โครงการ CAC เป็นที่ยอมรับในสายตาบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ จนโครงการได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าต่างประเทศ และองค์กรภาคธุรกิจในประเทศ การยอมรับนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเอกชนพร้อมเข้าร่วมมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี จำเป็น จริงจัง น่าเชื่อถือ และควรร่วมมือ

ปัจจัยที่สามก็คือ การสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลไก และแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนอยากเข้าร่วมโครงการ CAC ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล เช่น คณะกรรมการ กลต. ที่สนับสนุนให้มีการเปิดเผยความก้าวหน้าในเรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งได้สร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมให้บริษัทสนใจเรื่องนี้ หรือตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี และประเด็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ขณะที่องค์กรเอกชนอื่นๆ เช่น สมาคมนักลงทุนไทย ก็จะชื่นชมบริษัทจดทะเบียนที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้ได้เป็นโมเมนตั้มที่สร้างความตื่นตัว และพื้นที่ให้บริษัทเอกชนเข้ามาแสดงตนร่วมสนับสนุนการทำธุรกิจที่สะอาด และร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ

มองไปข้างหน้า ถ้า 405 บริษัทของประเทศ เห็นประโยชน์และเข้าร่วมโครงการ ทำไมอีกพันอีกหมื่นบริษัทจะไม่เข้าร่วม เพราะทุกบริษัทไม่ชอบคอร์รัปชันเหมือนกัน ดังนั้น การปลุกพลังบริษัทให้ต่อยอด 405 บริษัท จึงเป็นเป้าหมายใหญ่ของโครงการ CAC ในปี 2015 นี้ ที่จะสร้างพลังบริษัทธุรกิจเอกชน ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันให้กว้างขวางและเข้มแข็งมากขึ้น

ดังนั้น ปี 2015 นี้เราต้องช่วยกันผลักดัน ประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนบริษัทเอกชนอื่นๆ ให้เข้าร่วมโครงการ CAC เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกิจในประเทศ ส่งเสริมการทำธุรกิจที่สะอาด ปลอดคอร์รัปชัน ซึ่งจะสร้างแรงกดดันสำคัญให้ภาคราชการที่ทุจริตต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ก็อยากให้พวกเราช่วยกันเต็มที่ปีนี้