ฟองสบู่ NASDAQ VS MAI

ฟองสบู่ NASDAQ VS MAI

การปรับตัวขึ้นของราคา หรือดัชนีหุ้น MAI ช่วง 3-4 ปีมานี้ สูงมากจนผมคิดว่าเป็น "ฟองสบู่"

จากปลายปี 2554 ถึงปัจจุบัน ดัชนีปรับตัวขึ้นมากกว่า 3 เท่าในเวลา 3 ปี เศษๆ จากดัชนี 242 เป็น 800 จุด ราคาหุ้นบางตัวปรับขึ้นมากกว่า 10 เท่า ดัชนีหุ้น MAI ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่วจนค่า PE สูงถึง 84 เท่า ค่า PB สูงถึง 7 เท่า และปันผลต่อราคาหุ้น 0.6% ต่อปี นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมาก ต่างเข้ามาเล่นหุ้นตัวเล็ก ที่อยู่ในตลาดหุ้น MAI ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยที่หุ้นจะ "เวอร์" ขนาดนี้ ถ้าจะหาประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นมาเทียบ ผมคิดว่า "ฟองสบู่หุ้น NASDAQ" หรือฟองสบู่หุ้น ไฮเทคช่วงต้นปี 2543 ในสหรัฐน่าจะนำมาเทียบเคียง และเป็นบทเรียนได้


ข้อแรกคือ ฟองสบู่หุ้นไฮเทค เริ่มช่วงต้นปี 2540 พอถึงเดือนมี.ค. ปี 2543 ดัชนีปรับตัวขึ้นกว่า 3 เท่าในเวลา 3 ปีเศษ ดัชนีวิ่งขึ้นจาก 1000 ต้นๆ เกือบ 4000 จุด หุ้นหลายตัวโดดเด่น เช่น CISCO Systems ที่ทำเกี่ยวกับระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใหญ่ที่สุด ผมจำได้ว่ากลายเป็นหุ้นที่มี MARKET CAP. ใหญ่ที่สุดในโลกตัวหนึ่ง ทั้งๆ ที่จดทะเบียนในตลาด NASDAQ หรือ "ตลาดหุ้นตัวเล็ก" คล้ายๆ ตลาด MAI บ้านเรา


เหตุผลเพราะหุ้นไฮเทค โดยเฉพาะที่ทำเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต มีราคาวิ่งขึ้นสูงมาก หลายๆ ตัวราคาปรับขึ้นไปเป็นกว่าสิบเท่าในเวลาอันสั้น ค่า PE ของดัชนี NASDAQ สูง 100 เท่า มองในแง่ความ "เวอร์" ต้องบอกว่า ฟองสบู่หุ้นไฮเทค ดูเหมือนว่าจะสูงกว่าเล็กน้อย แต่ไม่แน่ว่าในที่สุดหุ้น MAI จะเหนือกว่าหรือไม่ เพราะฟองสบู่ไฮเทคแตกไปนานแล้ว ขณะที่หุ้น MAI ยังขึ้นอยู่


ข้อสอง ฟองสบู่หุ้นไฮเทค เกิดขึ้นเพราะ Story หรือเรื่องการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านอินเทอร์เน็ต ที่กำลังกลายเป็นกระแสใหม่ของโลกที่คนธรรมดาทั้งโลกจะใช้ได้ทุกวัน กระแสนี้ทำให้คนคิดว่า บริษัทจดทะเบียนที่ทำเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต จะเป็นบริษัทใหญ่และโดดเด่นในระบบ "เศรษฐกิจใหม่" ของโลก จะทำรายได้และมีกำไรมหาศาล ยิ่งกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เดิมที่มีอยู่ใน "โลกเก่า" ในอนาคตอันใกล้ แม้ยังมีรายได้น้อยมาก และจำนวนมากยังไม่มีกำไร


ตัวอย่างถ้าผมจำไม่ผิด เช่น บริษัทอเมซอนดอทคอม ที่ขายหนังสือผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีมูลค่าหุ้นใหญ่กว่าบริษัทบาร์นแอนด์โนเบิล ซึ่งเป็นบริษัทขายหนังสือใหญ่ที่สุดในโลก และอยู่มาหลายสิบปี ว่าที่จริงมูลค่าของอเมซอนขณะนั้น ใหญ่กว่าบริษัทขายหนังสือทั้งหมดในประเทศรวมกันด้วยซ้ำทั้งๆ ที่ยังไม่มีกำไรเลย


Story ของหุ้น MAI ผมคิดว่า แตกต่างจากตลาด NASDAQ มาก เพราะนโยบาย คือ หุ้น MAI มีขึ้น เพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก หวังมีช่องทางระดมทุนเพื่อการเติบโต และบริษัทขนาดเล็ก ที่เข้ามาจดทะเบียนมีหุ้นไฮเทคน้อยมาก เร็วๆ นี้ จะได้เห็น "กระแส" คือ พลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดขึ้น โดยสนับสนุนราคาขายให้แก่บริษัทที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ทำให้บริษัทที่ทำพลังงานทดแทนเกิดขึ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้รับการ "ต้อนรับ" จากนักลงทุนจำนวนมาก ที่มองว่า เป็นธุรกิจที่โตได้อีกมหาศาล พร้อมๆ กับกำไรเติบโตขึ้น เพราะเม็ดเงินที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐไปอีกนาน มองในแง่นี้ ผมคิดว่า Story หุ้นไฮเทคน่าจะเหนือกว่าหุ้น MAI มาก


เรื่องที่สาม ผมคิดว่าคล้ายๆ กันระหว่าง NASDAQ กับ MAI คือ บริษัทจดทะเบียนใน MAI พยายามเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทน เพราะทำกำไรได้ แต่พวกเขาเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อ "สะท้อน" ให้เห็น "ทิศทาง" ที่บริษัทจะเดินไป การเปลี่ยนชื่อ จะทำให้คนสนใจหุ้นมากขึ้น และเข้ามาซื้อทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็ว โดยไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย


ส่วนชื่อที่จะทำให้คนสนใจ ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแสงอาทิตย์ เช่น "โซลาร์" ช่วงฟองสบู่ไฮเทค บริษัทจำนวนมากเปลี่ยนชื่อให้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต หรือไฮเทค เช่น ต่อท้ายชื่อด้วยคำว่า "ดอทคอม" หรือ "ดอทเน็ต" หรือ "โทรนิค" ซึ่งมีการศึกษาพบว่า หุ้นบริษัทที่เปลี่ยนชื่อให้เข้ากับกระแส ภายใน 10 วัน ราคาเพิ่มสูงขึ้น 125% เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ของเมืองไทยผมไม่รู้ว่าผลการเปลี่ยนชื่อทำให้หุ้นขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน แต่น่าจะมีผลอยู่เหมือนกัน


ข้อสี่ คือ หุ้น IPO ทั้งในตลาดหุ้น MAI และ NASDAQ ช่วงฟองสบู่ คือ มีการนำหุ้นเข้าตลาดจำนวนมาก หุ้นไฮเทคจำนวนมาก เป็นเรื่อง Concept หรือแนวความคิดใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะ "ปฏิวัติ" แนวความคิดหรือผลิตภัณฑ์เดิม หุ้นที่เข้าตลาดวันแรกต่าง "วิ่งระเบิด" หลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือเป็นเท่าตัว แต่ข้อเท็จจริงที่พบภายหลัง หลังจากฟองสบู่แตก คือ ผลิตภัณฑ์จำนวนมากเป็นเพียง "ความฝัน" ที่ไม่รู้ว่าคนที่ซื้อหุ้นคิดว่าเป็นจริงได้อย่างไร อย่างที่เราเห็น หุ้น IPO จำนวนมากกลายเป็นกระดาษที่ไม่มีค่า เพราะบริษัทล้มละลายเมื่อ "ฟองสบู่แตก"


กรณีหุ้น IPO ของตลาด MAI ส่วนใหญ่หุ้นที่เข้าตลาดวันแรกๆ วิ่งระเบิด น่าจะปรับตัวสูงกว่าหุ้นไฮเทคโดยเฉลี่ย ถ้าดูจะเห็นว่าหุ้นส่วนใหญ่ ไม่มีอะไรโดดเด่น บางตัวอาจมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอยู่บ้าง ตัวที่โดดเด่นดูเหมือนยังอยู่ที่ธุรกิจกำลังโต เช่น พลังงานทดแทน เป็นต้น ดูเหมือนว่านักลงทุน จะดูแค่ว่า เป็นธุรกิจเล็กและโตเร็วเมื่อเข้ามาจดทะเบียนในตลาดแล้ว


ผมเองคิดว่า ถ้า "ฟองสบู่" แตกจริง บริษัทคงไม่ล้มละลาย คงไม่ได้กระทบกับบริษัทมากมาย เพราะหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียน ไม่ได้อาศัยเงินจากตลาดในการอยู่รอดแบบหุ้นไฮเทค ตรงกันข้าม บริษัทได้เงินจาก IPO และน่าจะมีฐานะทางการเงินดีขึ้น สิ่งที่บริษัททำก็ไม่ได้มีความเสี่ยงมากมาย เป็นธุรกิจธรรมดาๆ ที่นักลงทุนอาจจะ "ฝัน" ว่าจะโตเร็วเท่านั้น


บทสุดท้ายของตลาด NASDAQ ในปี 2543 คือ "ฟองสบู่แตก" ดัชนี NASDAQ ปรับตัวลงมารุนแรง ปีแรกตกลงมาเกือบ 50% และตกต่ออีก 2 ปี ปีละ 20% รวมแล้วตกลงมา 66% หุ้นจำนวนมากล้มละลายกลายเป็น 0 แม้แต่หุ้น "สุดยอด" และกลายมาเป็นหุ้นที่ "ยิ่งใหญ่" ปัจจุบันบางตัว อย่างหุ้นอเมซอน ช่วงตกต่ำมากๆ ปี 2544-2545 ก็ตกลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 10% จากราคาสูงสุดก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกับหุ้นยาฮูและซิสโก้


ผมเองไม่แน่ใจว่า บทสุดท้ายของหุ้น MAI จะเป็นอย่างไร เป็นไปได้ว่า ฟองสบู่อาจจะไม่แตก และกำไรของบริษัทจดทะเบียนหุ้นตัวเล็ก จะโตเร็วจนกระทั่งค่า PE ลดลงหรือราคาหุ้น ขึ้นไปอีกจน PE ทะลุ 100 เท่าก็เป็นไปได้


ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้น NASDAQ จะเป็นเครื่องเตือนใจว่า มีโอกาสที่ฟองสบู่อาจแตก และนั่นอาจหมายถึงความเสียหายที่รุนแรงสำหรับคนที่เข้าไป "เล่น" ในยามนี้ เพราะประวัติศาสตร์ มีพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอ