The Next Thailand (and beyond)
ผมเพิ่งกลับจากการไปสำรวจภาวะการลงทุน และเยี่ยมเยียนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม ที่เมืองโฮจิมินซิตี้
การไปเวียดนามครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองของผม หลังจากครั้งแรกที่ผมไปเมื่อหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา การไปครั้งนี้ เป็นการ “ไปกันเอง” ของกลุ่ม VI “อาวุโส” เกือบ 20 คน หลายคนมีเงินลงทุนในเวียดนามบ้างแล้ว และเกือบทุกคนกำลังดูว่า อาจจะไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม หลังจากเห็นโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดน้อยลง เพราะภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพของบริษัทจดทะเบียน และราคาหุ้นอาจจะแพงเกินไป และต่อไปนี้ คือข้อสังเกตของผม ซึ่ง็อิงจากการได้ไปเห็นบ้านเมือง และพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งได้ศึกษาข้อมูลและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ
ข้อสรุปหลัก ๆ ของผม คือ เศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อม ของเวียดนามขณะนี้คล้าย ๆ กับไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเวียดนามกำลังจะเติบโตรวดเร็ว แบบเดียวกับไทยในช่วงที่ผ่านมา แม้แต่ฉายาของการเป็น “เสือแห่งเอเซีย” ที่ไทยเคยได้รับ เราอาจได้เห็นว่าเวียดนาม ก็ได้รับฉายาในทำนองคล้ายๆ กัน พูดอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าเวียดนาม คือ “The Next Thailand” หรือจะเป็นประเทศไทยรายต่อไป เพียงแต่ผมคิดว่า เวียดนามในอนาคต อาจโตจนเท่าและ “ผ่าน” ประเทศไทยได้ ถ้าเวียดนามยังรักษานโยบาย และแนวทางที่ดีต่อการเติบโตในปัจจุบันต่อไปได้เรื่อย ๆ ขณะที่ไทยไม่แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ขณะนี้
ถ้ามองย้อนกลับไป 40 ปี ซึ่งเป็นปีที่โฮจิมินแตก เวียดนามใต้ กลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียน น่าจะพอๆ กัน แต่หลังจากนั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งใช้นโยบาย “เปิดประเทศ” และระบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดเสรี ขณะที่การเมือง แม้ไมใช่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไปเรื่อยๆ สลับไปมาระหว่างกลุ่มอำนาจหลักๆ ก็สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า
เหตุผล หรือปัจจัยที่ทำให้ไทย และมาเลเซีย เติบโตเร็วมาก ผมคิดว่าเป็นเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลง และมีกระแสโลกานุวัตรสูง ญี่ปุ่น ซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับโลกตะวันตกมหาศาลถูกบังคับให้เพิ่มค่าเงินเยน ทำให้สินค้าราคาถูกที่ใช้แรงงานสูงไม่สามารถแข่งขันได้จึง “ย้ายฐานการผลิต” จากญี่ปุ่นไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงถูก และมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และประเทศที่ว่า คือ มาเลเซียกับไทย
ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว เป็นสังคมนิยมที่เข้มข้น ดังนั้น ไม่สามารถรองรับการลงทุนได้ พม่า ปกครองโดยเผด็จการทหารที่กองทัพคุมรัฐบาล อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อยู่ภายใต้เผด็จการซูฮาร์โต และมาร์คอสยาวนาน ทั้งหมดนั้น ญี่ปุ่น หรือโลกตะวันตก ไม่อยากเข้ามาลงทุน และทำให้ประเทศไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
พูดง่ายๆ ประเทศที่ระบบการปกครองเป็นแบบ “ปิด” โตยาก ประเทศที่เจริญเติบโตได้ดี ต้องมีปัจจัยสำคัญ 3-4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ระบบต้องเอื้อ คือ เป็นระบบเปิดที่ต้อนรับต่างชาติหรือเปิดให้คนแสดงความสามารถได้เต็มที่ ซึ่งระบบที่ดีที่สุด จะเป็นระบบเสรีประชาธิปไตย สอง คนต้องมีคุณภาพ หรือมี IQ สูงพอ สาม จำนวนคนและอายุของประชากรในวัยทำงาน และ สี่ื ทรัพยากรภายในประเทศ ดังนั้น ประเทศที่กล่าวถึงทั้งหมดจึงเริ่ม “ล้าหลัง” มาเลเซียและไทยกลายเป็น “เสือแห่งเอเซีย” จากการลงทุนโดยเฉพาะจากตะวันตก และญี่ปุ่น โดยมีคู่แข่งน้อย เพราะประเทศอื่นไม่พร้อม
เวลาผ่านไปเกือบ 10-20 ปี ประเทศต่างๆ ในเอเซีย เริ่มตระหนักว่า ระบบการปกครองที่ผิดพลาด ทำให้ประเทศล้าหลัง ประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยม หรือแบบอื่นเริ่มเปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจกลายเป็นทุนนิยม และเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ นำโดยจีน ต่อมาเวียดนาม ลาว กัมพูชา หลังจากนั้นระบบเผด็จการมาร์คอส และซูฮาร์โต “ล่มสลาย” และสุดท้ายระบบทหารแบบเมียนมาร์ ก็กำลังผ่อนคลายลง
นักลงทุนจากตะวันตก และประเทศที่ก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน จึงเริ่มมีตัวเลือกมากขึ้น และการพิจารณาปัจจัยต่างๆ รวมถึงคุณภาพของคน ค่าแรง สาธารณูปโภค และตลาดท้องถิ่น พวกเขาเริ่มเข้าไปลงทุนในประเทศที่ “ล้าหลัง” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศดังกล่าว รู้ว่าตนเองยังด้อยกว่า ก็เสนอเงื่อนไขการลงทุนที่ดีกว่าประเทศที่เจริญมาก่อน ผลคือ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น เริ่ม “เดินหน้า” การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะหลังๆ เพิ่มขึ้นปีละ 5-7% เป็นอย่างต่ำ ขณะที่ไทยช้าลงมาก โดยเฉพาะช่วง 5-10 หลังนี้
ระดับการพัฒนาของเวียดนามเวลานี้ เท่ากับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน หรือช่วงที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตในปี 2540 ตัวเลขการมีเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้าต่อครอบครัวของเขาเวลานี้พอๆ กับตัวเลขที่คนไทยมีเมื่อ 20 ปีก่อน รถยนต์ และแอร์ อาจเท่ากับ 25-30 ปี แต่ผมคิดว่า จะเพิ่มขึ้นเร็วมาก ส่วนมอเตอร์ไซต์ มีมากกว่าไทยในเวลานี้ เพราะเป็นพาหนะหลักในการเดินทางของทุกคนในเวียดนาม
ส่วนการผลิต ซึ่งเน้นที่การส่งออก เวียดนาม ใช้กลยุทธ์เดียวกับของไทยเมื่อ 20 ปีก่อน คือ ส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุน และผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ตัวเลขการส่งออก เติบโตเร็วมาก ปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ จนเวลานี้คิดแล้ว การส่งออกไม่ต่ำกว่า 80% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าของไทย ที่จริงปริมาณการส่งออกไปสหรัฐของเวียดนาม สูงกว่าของไทยไปแล้ว แม้แต่ในยามที่การส่งออกกำลังชะลอตัวทั่วโลกในช่วงนี้ การส่งออกของเวียดนามยังโตเป็นเลขสองหลัก กระแสนี้ยังดำเนินต่อไป เพราะการลงทุนโดยตรงของเวียดนามมาแรงมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น ซัมซุง เลือกเวียดนามมากกว่าไทย
เมื่อดูไป เวียดนาม เหมือนไทยมาก เราอยู่ในเขตภูมิอากาศเขตร้อนใกล้เคียงกัน ขนาดของประเทศก็พอๆ กัน ความสมบูรณ์ของที่ดิน น่าจะใกล้กัน และอุดมไปด้วยน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก คนเวียดนามเองก็เป็นคนที่ “ยืดหยุ่น” ไม่ “สุดโต่ง” วัฒนธรรมและเชื้อชาติ น่าจะเป็น “2 ใน 3 จีน” ขณะที่คนไทย อาจเป็น “ครึ่งจีน” ด้านศาสนา คล้ายๆ คนไทยที่บางทีผมก็งงๆ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจ ถ้ามาเดินในห้างร่วมกัน คงไม่สามารถแยกได้ว่า คนไหนเป็นไทย หรือเวียดนาม ทั้ง หน้าตา ความสูง และรูปร่าง รวมถึงอากับกริยาต่างๆ
มีจุดหนึ่งที่ผมคิดว่า เวียดนาม จะได้เปรียบไทยในระยะยาว คือ คนเวียดนามมี IQ สูงกว่าไทยในการศึกษาเรื่อง IQ ระดับสากลทุกครั้ง และเวียดนามมีประชากรถึง 90 ล้านคน และเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วขณะที่ไทยมี 67 ล้านคน และเพิ่มขึ้นน้อย และอาจลดลงในอนาคต ส่วนจุดอ่อน คือ ระบบสาธารณูปโภค ปัจจุบันยังไม่ดีนัก การเดินทางด้วยรถยนต์ในเมือง และต่างจังหวัดช้ามากไม่เกิน 30-40 ก.ม. ต่อชั่วโมง สิ่งเหล่านี้ น่าจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ข้อสรุปสุดท้าย คือ ระดับการพัฒนาของเวียดนาม จะไล่กวดไทยรวดเร็วมาก เพราะปัจจัยการแข่งขันของเวียดนามกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ไทยกลับด้อยลง โดยเฉพาะกำลังคนที่แก่ตัวลง ระบบการปกครอง และภาพใหญ่อื่นๆ ที่ดู “ถอยหลัง” ในเร็วๆ นี้ ความรู้สึกจากทริปเวียดนามครั้งนี้ ด้านร่างกาย คือ ร้อนมาก เพราะเป็นกลางฤดูร้อน แต่ในใจในฐานะที่เป็นคนไทย และต้องแข่งกับเวียดนาม ผมรู้สึก “หนาว” อย่างบอกไม่ถูก