ทักษะในการเข้าใจผู้อื่น: Empathy
ากผลการวิจัยของกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาล่าสุด มีตัวเลขฟันธงว่า 46%
ของคนทำงานที่ตัดสินใจลาออก มีเหตุผลสำคัญจากความไม่พึงใจเพราะ..
หัวหน้าไม่ฟัง! ไม่ใส่ใจ! ไม่ให้ความสำคัญ!
ดิฉันเชื่อว่าสถานการณ์ในองค์กรบ้านไหน ก็มีอะไรที่ไม่ต่างกัน
แม้ในบริบทคู่ครอง หรือคู่รักปักใจ ก็มีอะไรคล้ายๆกัน
ยามที่มีปัญหา มักมีอย่างน้อยหนึ่งคน ยืนยันว่า อีกฝั่งไม่เข้าใจ! ไม่ฟัง!
ในช่วงที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสจัดสัมมนาหารือกับผู้บริหารและมืออาชีพในหลากหลายวงการ
แม้งานจะต่างกัน แต่ความท้าทายคล้ายกันดังแกะ
..ลูกน้องทำตัวยาก บริหารแสนลำบากนักหนา
..ทีมงานดื้อตาใส รับปากไป แต่ไม่ทำ!
..ไม่ตักเตือนก็ไม่ได้ พูดไปก็ขัดแย้ง..
หนึ่งในทักษะที่สำคัญยิ่ง ที่จะเป็นจุดตั้งหลักในการแก้ปัญหาคาใจเหล่านี้ คือ...
Empathy หรือ ศิลปะในการจินตนาการมองโลกจากมุมของคนอื่น เพื่อที่จะสามารถเข้าใจได้ชัดขึ้น ว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างไร
Empathy ต่างจากคำที่ดูคล้ายกัน คือ Sympathy ที่หมายถึง สงสาร
เพราะการที่เราสงสารใคร บ่อยครั้งเป็นการมองโลกจากมุมเราล้วนๆ
เวทนาสงสาร เพราะเห็นเขาเป็นทุกข์ ตกงาน เป็นดีซ่าน ทะเลาะกับแฟน
แต่ Empathy คือการที่เราพยายามมองจากมุมเขาเป็นตัวตั้ง มุมเรายังไม่เกี่ยว การที่เราได้เห็นโลกจากมุมเขา ไม่จำเป็นว่าต้องเห็นด้วย ไม่จำเป็นว่าต้องสงสารเสมอไป
แต่เป็นการเริ่มไขปมปริศนา ว่าทำไมเราไม่เข้าใจกัน
ดังนั้น Empathy จึงเป็นหัวใจของคนทำงาน ตลอดจนคนที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กับมนุษย์รอบกาย
จะขาย..จะโน้มน้าว..จะแก้ปัญหา..จะเจรจา.. จะทำให้เขาเข้าใจ..จะคลายปมขัดแย้ง..
จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับความเก๋า ว่าเราเริ่มโดย “รู้เขา” เท่าใด
เพราะหลายครั้ง ปัญหาที่เราเห็น อาจมิใช่เป็นปัญหาที่ปรากฏในสายตาเขา
ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้มีโอกาสฟังคุณแม่เจ้าของเพิงผลไม้เจ้าประจำ แอบขำลูกตัวเล็กที่เพิ่งกลับจากโรงเรียน
หนูน้อยปีนลงจากรถสองแถว มือป้ายน้ำตาป้อยๆ
“พอแล้ว ลูกขอร้อง พอแล้ว ไม่ต้องเรียนแล้ว!”
แม่ทำท่าขึงขัง ดุดังว่า “ฟังนะ! ถ้าจบแค่ ป.2 ต้องกลับไปเลี้ยงควายสถานเดียว!”
หนูน้อยกลับลิงโลด สรุปในใจน้อยๆได้ว่า นอกจากไม่ต้องถูกครูดุ ยังได้ไปเลี้ยงควาย สนุกจริง!
ในมุมแม่ ลูกช่างดื้อ ไม่รักดี ขี้เกียจ
ย้ำ เป็นมุมแม่ หาใช่มุมมองของเด็ก ป.2 แต่ประการใด
โน้มน้าวอย่างไร เจ้าตัวเล็กย่อมโยเย มีแนวโน้มได้ขนม “เปี๊ยะ” สูงยิ่ง!
แล้วต้องทำอย่างไร เราจึงจะเข้าใจผู้อื่นได้
Dr. Roman Krznaric กูรูผู้ทำการวิจัยต่อเนื่องเรื่องนี้ มีข้อแนะนำ 3 ประการค่ะ
1. ลดอัตตา หยุดฟันธง เหมารวมว่าเราเข้าใจใครๆดี
..พวก Gen Y ก็ร้ายยังงี้!
..คนนี้เสียแรงสนับสนุน ไม่เคยเห็นบุญคุณฉัน!
ทั้งนี้ เมื่อเรารู้ว่า เรายังไม่รู้
ย่อมถือเป็นประตู เพื่อเปิดสู่ความพยายามเข้าใจ
2. สงบ นิ่ง เพื่อ “ฟัง” อย่างตั้งใจจริง
ฝรั่งเรียกทักษะนี้ว่า Empathic Listening ซึ่งมาจากคำ Empathy นั่นเอง
ตัวช่วยมีดังนี้
·ปรับมุมมองของตนว่า กำลังทำหน้าที่เป็น “นักสืบ” ขั้นเทพ ที่กระหาย สนใจ อยากฟังในทุกรายละเอียด เพื่อหาเบาะแสในการ “แก้คดี” การฟังจึงมีคุณค่า เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ไม่เคยรู้
·ฟังอย่างไม่ขัดจังหวะ อย่างตั้งใจ ทั้งนี้ แค่เงียบ แค่ไม่พูด ไม่พอ!
เพราะคนจำนวนไม่น้อย เงียบ เพียงเพื่อรอจังหวะตอบ หรือ เติมให้ล้น
..ถามผม ผมผ่านเรื่องนี้มาโชกโชน..
..สู้ฉันไม่ได้ ฉันเจอมาแย่กว่าเธออีก..
เมื่อฟังเพื่อตอบ จึงย่อมฟังได้ไม่เต็มที่ เพราะพี่กำลังคิดปั้นคำตอบระหว่างทำท่าเสมือนฟัง
ที่สำคัญ คนที่เราอยากฟัง ก็ต้องหยุดพูดไปโดยปริยาย
ฟังอย่าง Empathy จึงมิใช่เงียบ เพราะยังไม่ได้พูด
แต่เงียบ เพราะไม่มีอะไรจะพูด!
ยังไม่เข้าใจเต็มที่ จึงยังไม่มีคำตอบไง
·ถามคำถามที่เหมาะสม
Empathic Listening เป็นการฟังอย่าง Active
นั่นคือ มิใช่เงียบสนิท แต่ทั้งฟัง และถาม เพื่อความกระจ่าง ถามเพื่อให้อีกฝ่ายตระหนักว่าตั้งใจฟังอยู่ และอยากเข้าใจมากขึ้น อาทิ
..แล้วอย่างไรต่อ
..ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
·สรุปจับใจความเพื่อให้เข้าใจตรงกัน
เช่น หลังจากเพื่อนจารนัยให้ฟังถึงเรื่องปัญหาที่ทำงาน เราสรุปว่า
..ฟังเหมือนเธอท้อๆใช่ไหม คนขาด งานก็ล้น แล้วทีมยังมีเรื่องกันอีก..
3. เพิ่มประสบการณ์ และใช้เวลากับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น
ให้เวลาแต่กับผู้บริหารด้วยกัน กลางวันก็กินข้าวห้องอาหารที่จัดไว้ให้เฉพาะผู้ใหญ่
..เมื่อไหร่ๆก็อาจมองจากมุมผู้น้อยได้ไม่ขาด
หัดไปใช้ห้องอาหารพนักงานกับทีมบ้าง จะได้เห็นกับตา ลิ้มกับลิ้นตนว่า คนตัวเล็กเขามีชีวิตอยู่อย่างไร
เกาะเกี่ยวแต่กับคนรุ่นน้าอาป้า เพื่อกระหน่ำเห็นใจกันเองว่า เรามีปัญหาเดียวกันกับมนุษย์ Gen Y ที่ทำงานแบบเล่นขายของ
..เมื่อไหร่ๆ ก็คงไม่เข้าใจเขา
จึงควรเพิ่มเวลาคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ เพื่อฟัง เพื่อเข้าใจวิธีคิด วิธีมองโลก
เมื่อเห็นประเด็นชัดขึ้น มีหรือรุ่นเก๋าอย่างเรา จะหากลวิธีที่ตอบโจทย์ทั้งเราและเขาไม่พบ
อย่าว่าแต่ใช้เวลากับเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่างจากเราเลยค่ะ
แม้ได้มีโอกาสใช้เวลากับเพื่อน 4 ขา ก็สามารถสร้างมุมมองที่แตกต่างได้
จากการศึกษาของ Dr. Vizek-Vidovic พบว่าเด็กที่มีสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง เมื่อโตขึ้น จะมีความสามารถในการเข้าใจคนอื่น สูงกว่าคนที่ไม่มีโอกาสนี้ ถึง 24%!
3 วิธีสู่ Empathy ให้พี่น้องทดลองดูค่ะ