ข่าวที่ไม่เป็นข่าว vs ข่าวที่ไม่ควรเป็นข่าว
เมื่อหลายปีก่อน ประมาณ พ.ศ.2544 กลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าที่มีความสนใจ และเคลื่อนไหว
เกี่ยวกับสื่อและสังคม ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” เพื่อนำเสนอประเด็นที่ถูกมองข้ามจากสื่อกระแสหลัก หรือประเด็นที่สื่อนำเสนอเพียงด้านเดียว โดยรวบรวมประเด็นข่าวเหล่านั้นมาวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นทุกมิติที่จะเป็นไปได้ ถึงผลกระทบของเรื่องราวที่มีความสำคัญ หากแต่ไม่ได้ถูกคัดเลือกเพื่อนำเสนอสู่สาธารณชน
ตัวอย่างของ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” ในครั้งนั้น ก็เช่นเรื่องของผงชูรส เขื่อนราษีไศล และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เรื่องของชนกลุ่มน้อยในพม่า การเป็นเจ้าของข้ามสื่อ และโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
มาถึงวันนี้ ณ พ.ศ. 2558 กลับปรากฏ “ข่าวที่ไม่ควรเป็นข่าว” จำนวนมากในช่องทางที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของสื่อประเภทต่างๆ ผ่านแพลทฟอร์มทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งข่าวที่ไร้สาระประโยชน์ใด ข่าวที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ที่ตกเป็นข่าว ข่าวที่ไร้ความแตกต่างหลากหลาย เพราะนักข่าวลอกข่าวแชร์ข่าวกันมา ไปจนถึงข่าวเท็จ ข่าวลวง ข่าวเต้า ข่าวปั่นที่ไม่ได้ยึดโยงกับพื้นฐานความจริงและประโยชน์สาธารณะอย่างที่ข่าวควรจะเป็น
บางทีอาจจะเป็นโอกาสอันดีที่จะต้องมาทบทวนดูเหมือนกันว่าในรอบปีที่ผ่านมานี้ นิเวศวิทยาด้านข่าวสารของคนไทยแวดล้อมด้วย “ข่าวที่ไม่ควรเป็นข่าว” และพร่องไปในส่วนของ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” อย่างไรบ้าง และเพราะเหตุใด
หากจะใช้เกณฑ์ของสายตาที่ตกกระทบข่าวหนึ่งๆ เป็นตัวประเมิน คิดว่าไม่น่ามีข่าวไหนที่จะยิ่งใหญ่ (ในแง่การรับรู้ของประชาชน) มากไปกว่าข่าวคุณแตงโมและคุณโตโน่ ยิ่งพิจารณาจากจำนวนสื่อมวลชนที่ไปร่วมการแถลงข่าวของคุณโตโน่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ สำนักข่าว หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสารน้อยใหญ่ ที่ระดมสรรพกำลังกันไปทำข่าว จนไม่มีที่จะตั้งกล้องหรือวางไมค์ ก็ต้องยกข่าวนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติของสื่อมวลชนไทยประจำปีนี้เลยทีเดียว เสียแต่ว่าข่าวที่ว่าไม่ได้มีคุณค่าข่าวใดๆ และเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศ ของ “ข่าวที่ไม่ควรเป็นข่าว”
ทั้งนี้ก็เพราะ เมื่อมาพิจารณาสาระสำคัญของข่าวนี้ ก็จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างดาราสองคนที่ไม่ได้ถึงขั้นระดับซูเปอร์สตาร์ แต่ก็อยู่ในกระแสความสนใจของมหาชน ตั้งแต่เมื่อทั้งสองมาร่วมหอลงโรงกัน จนถึงวันที่เลิกรากัน เพราะเรื่องราวเต็มไปด้วยองค์ประกอบแบบละคร ทั้งสิ่งที่ไม่คาดคิด การผิดพ้องหมองใจ การทำร้ายตัวเอง การสูญเสีย และการเผชิญหน้ากับปัญหาแบบทรนง (ตามแบบพระเอกละครไทย) ไม่ว่ามูลเหตุของการกลายมาเป็นข่าว จะเป็นเนื้อหาแบบปุถุชนสนใจทั้งหมด หรือเจือปนด้วยแรงผลักทางการตลาดของอภิมหาค่ายบันเทิง ที่เป็นต้นสังกัดของตัวนำฝ่ายชายในข่าว แต่สรุปได้สั้นๆ ว่า “ข่าวที่ไม่ควรเป็นข่าว”นี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากในเชิงการตลาดทั้งๆ ไม่มีประโยชน์ใดๆ ในเชิงข่าวสาร นอกไปจากการได้รู้เรื่องส่วนตัวของดารา
อีก “ข่าวที่ไม่ควรเป็นข่าว” ซึ่งยังคงดำเนินต่อไป แม้ในขณะที่เขียนบทความนี้ ก็เห็นจะหนีไม่พ้น ข่าวเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของคุณปอ ทฤษฎี ที่มีกองทัพข่าวไปฝังตัวอยู่ที่โรงพยาบาลที่คุณปอพักรักษาตัวอยู่มากว่าเดือนแล้ว กับทุกความพยายามที่จะทำทุกประเด็นความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับคุณปอ หรือครอบครัวของคุณปอให้เป็นข่าวให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการของคุณปอ การวินิจฉัยของแพทย์ไปจนถึงท่าเต้นของน้องมะลิ (ลูกสาวน้อยของคุณปอ) และทุกโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ของภรรยา หรือผู้จัดการส่วนตัวของคุณปอในช่วงนี้ เรียกว่าเค้นทุกลมหายใจของครอบครัวสหวงษ์ออกมาเป็นข่าวก็ว่าได้
ที่น่าแปลกใจคือ แม้แต่ช่องข่าวที่เคยเป็นที่รับรู้ว่าเน้นเล่นข่าวหนัก ไม่ใช่ข่าวเบาแบบปุถุชนสนใจอย่างที่ว่านี้ ก็หันมาเล่นประเด็น “ปอป่วย” กันคึกคัก แม้ตอนที่มีข่าวว่า คุณปอจะถูกตัดข้อเท้าเพราะอาการลุกลามแทรกซ้อน ช่องข่าวดังกล่าวก็สามารถจะมองเห็นเป็นประเด็นข่าวร้อนขนาดที่จะต้องตัดเข้ามานำเสนอเป็น breaking newsได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องเศร้า เนื่องจากเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนในวัยฉกรรจ์ และยังมีอนาคตยาวไกลอย่างคุณปอ และทางครอบครัวเองก็น่าจะรู้สึกกระทบกระเทือนใจมาก แต่คนข่าวบางคนก็สามารถจะฉกฉวยประโยชน์จากความสูญเสียตรงนี้ มาตอกย้ำทำเป็นข่าวเพื่อเรียกเรทติ้งได้อย่างน่าฉงนฉงายในจริยธรรม ที่มักพร่ำบอกว่า สำนักของตนมีและยึดถึอเป็นแนวทางในการทำงาน
ปรากฏการณ์ของข่าวเร้าอารมณ์ หรือการทำข่าวแบบดราม่า ที่แพร่หลายจนดูเหมือนเป็นแบบแผนไปแล้วในตอนนี้ในสื่อมวลชนไทย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสภาวะทางการเมืองภายใต้ คสช. ที่บีบรัดควบคุม ทำให้ไม่สามารถเล่นประเด็นข่าวหนักๆ ได้เต็มที่ สืบเนื่องจากข้อจำกัดจากประกาศ คสช.ฉบับต่างๆ และการเฝ้าระวังของคณะทำงานติดตามสื่อของ คสช.ที่มุ่งเน้นในประเด็นข่าวการเมืองเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ในส่วนของดิจิทัลทีวีที่แข่งขันกันสูงมาก ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้แทบทุกช่อง ยกเว้นไทยพีบีเอสและช่องรัฐสภา ซึ่งไม่ต้องอาศัยรายได้จากโฆษณา ต้องมาหมกมุ่นกับการเพิ่มเรทติ้งเป็นสำคัญ ด้วยการเล่นประเด็นข่าวเร้าอารมณ์ แม้จะไร้คุณค่าต่อสาธารณะในลักษณะดังกล่าว
ในอีกทางหนึ่ง อาจเป็นเพราะเหตุผลชุดเดียวกัน ก็มีประเด็นและเรื่องราวที่น่าสนใจ และควรเป็นที่รับรู้ของสังคมจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็น “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” หรือถ้าเป็นข่าวก็จะไปเป็นข่าวในสื่อทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้อสื่อ และใช้อิทธิพลครอบงำสื่อ ปิดข่าวร้าย สร้างข่าวดีของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่นัยว่ามีการใช้เทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมในการผลิตอาหาร ซึ่งข่าวดังกล่าวเริ่มมาจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวน เพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ (Thailand Center for Investigative Journalism) ที่ได้มาจากเอกสารระดับนโยบายขององค์กรธุรกิจดังกล่าว หรือเรื่องราวของประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งที่ถูกจับ และดำเนินคดีทางการเมืองภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ.2557 ซึ่งทั้งหมดจะต้องไปรับการไต่สวนภายใต้ศาลทหาร
คดีเหล่านี้ แทบจะไม่ปรากฏพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก ยกเว้นในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบ้างประปราย แต่จะปรากฏเป็นข่าวในสำนักข่าวทางเลือกที่อาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นแพลทฟอร์ม อย่างประชาไท หรือสื่อขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองอย่าง iLaw บ้าง แต่ก็ไม่สามารถไปถึงระดับมหาชนได้
อย่างไรก็ดี ก็ยังถือว่าโชคดีที่สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตสามารถเปิดพื้นที่ให้ประเด็นเหล่านี้ ยังถูกบันทึกเป็นข่าวได้บ้าง เพราะสิทธิของผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาในระดับสากลก็คือ การได้รับการไต่สวนทางศาลที่เป็นธรรม และการอนุมานว่า “ไม่ผิดจนกว่าจะถูกตัดสินว่าผิดภายใต้ศาลสถิตยุติธรรม”
ในขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญรอบใหม่กับการออกกฎหมายใหม่ๆ อย่าง “ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ..” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พ.ร.บ.จีเอ็มโอ” ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางกำลังดำเนินไป และทั้งสองส่วนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของคนไทยโดยตรง
องค์กรหรือเครือข่ายในภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อ อาจจะต้องมีภาระเพิ่มเติมในการจับจ้องมองดูสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักว่า ได้ละเลยไม่นำเสนอข่าวที่ควรจะเป็นข่าวแต่ไม่เป็นข่าว ด้วยการใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากร และคลื่นความถี่ที่เป็นของสาธารณะให้หมดสิ้นไปกับ “ข่าวที่ไม่ควรไม่เป็นข่าว” มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยธำรงสิทธิในการรับรู้ของประชาชนให้ได้เปิดรับเรื่องราว ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในชีวิต แทนที่จะเพียงสอดรู้สอดเห็นในเรื่องชาวบ้านไปวันๆ