โมเดลธุรกิจสีเขียว
ธุรกิจเอกชนถือได้ว่า เป็นแหล่งสร้างงานและสร้างนวัตกรรมที่สำคัญต่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งธุรกิจสมัยใหม่และธุรกิจสตาร์ทอัพ จะต้องมีความเข้าใจและพัฒนาธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาผลประกอบการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ธุรกิจสีเขียว” หรือ Green Business
คำว่า “สีเขียว” ในความหมายโดยรวมก็คือ ธุรกิจที่ต้องการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคด้วยคุณค่าใน 3 มิติ คือ มิติด้านธุรกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ในการเริ่มต้นพัฒนาธุรกิจสีเขียว ก็เช่นเดียวกับการพัฒนาธุรกิจเริ่มใหม่โดยทั่วไป ก็คือ การเริ่มจากการสร้างโมเดลธุรกิจ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดความคิดไปสู่การทำแผนธุรกิจและการสร้างธุรกิจที่เป็นจริงขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแนวความคิดสู่โมเดลธุรกิจสีเขียว ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพทั่วไปยังต้องเผชิญกับปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ทั้งในแง่ของ เศรษฐกิจ กฎระเบียบ และอุปสรรคที่เกิดจากความไม่เข้าใจของผู้มีส่วนได้เสียรอบด้านของธุรกิจ
แม้ว่าโอกาสของธุรกิจสีเขียว จะเริ่มฉายแววให้เห็นถึงความต้องการและความจำเป็นในอนาคตอันใกล้ จากตัวเร่งต่างๆ ที่จะผลักดันให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ต้องหันมาให้ความสนใจในการสร้าง “สีเขียว” เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจของตนมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นตัวเร่งที่เกิดจาก สภาวะอากาศของโลกที่กำลังย่ำแย่ลงไปทุกวัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก การร่อยหรอไปของทรัพยากรต่างๆ แบบที่ไม่สามารถสร้างกลับคืนมาได้จากการใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่ระมัดระวังและมีความรับผิดชอบ
รวมไปถึงแนวโน้มจากความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้บริโภคที่มี “ใจสีเขียว” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยทั่วไปแล้ว โมเดลธุรกิจใดๆ มักจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 9 ส่วน ที่จะมีความสำคัญและแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดและคุณค่าเพิ่มที่จะมอบให้กับลูกค้าที่เหนือไปกว่าคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด
องค์ประกอบทั้ง 9 ส่วน ได้แก่
กิจกรรมหลักของธุรกิจ ทรัพยากรที่จำเป็น ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ตุ้นทุนทางธุรกิจ คุณค่าของสินค้าหรือบริการที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า วิธีการสร้างรายได้จากธุรกิจ พันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ วิธีการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และช่องทางการจำหน่ายหรือการเข้าถึงลูกค้า
การสร้างโมเดลธุรกิจสีเขียว ก็ยังคงสามารถยึดโยงกับองค์ประกอบที่สำคัญเหล่านี้ได้ แต่จะเพิ่มเติมหรือต่อยอดการนำปรัชญาความคิดสีเขียวลงไปในแนวคิดธุรกิจแบบดั้งเดิม เช่น
กิจกรรมหลักของธุรกิจ ส่วนใหญ่ธุรกิจจะคิดเพียงแต่การนำเสนอสินค้าหรือบริการที่แปลกใหม่ออกสู่ตลาดแบบครั้งต่อครั้ง ในขณะที่โมเดลธุรกิจสีเขียวจะต้องคำนึงถึงกิจกรรมของธุรกิจในระยะยาว มีความต่อเนื่อง และสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ทรัพยากรที่จำเป็น ธุรกิจหรือสตาร์ทอัพแบบธรรมดา จะคำนึงถึงการจัดหาทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ต้องการเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป หรือแหล่งพลังงานที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่โมเดลธุรกิจสีเขียว จะให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่หมุนเวียนหรือนำมาใช้ซ้ำได้ รวมไปถึงการใช้พลังงานทางเลือกมาเป็นปัจจัยการผลิต
ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โมเดลธุรกิจแบบเดิมมักจะให้ความสนใจกับตลาดทั่วไปซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ แต่โมเดลธุรกิจสีเขียว มักจะให้ความสนใจไปที่การสร้างหรือแสวงหาตลาดเฉพาะกลุ่ม ตลาดที่มีความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงประเด็น ไม่จำเป็นต้องออกแบบสินค้าหรือบริการที่บางครั้งไม่มีความจำเป็นสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม และยังช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้
ต้นทุนทางธุรกิจ ในแนวคิดโมเดลธุรกิจแบบเดิม มักจะละเลยต่อการลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบหรือการวางแผนธุรกิจ แต่สำหรับโมเดลธุรกิจสีเขียวเรื่องของแนวคิดการลดต้นทุน เช่น จากการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน พลังงานทางเลือก ของเสียที่เกิดขึ้น ฯลฯ จะต้องนำมาพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ ของการออกแบบธุรกิจ
คุณค่าของสินค้าหรือบริการที่จะนำมาส่งมอบให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค โมเดลธุรกิจแบบเดิม มักเน้นในเรื่องของคุณสมบัติในการทำงานหรือผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อลูกค้า แต่โมเดลธุรกิจสีเขียว จะเน้นไปที่คุณค่าใน 3 ด้านพร้อมๆ กัน คือ ทั้งด้านเศรษกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
วิธีการสร้างรายได้ โมเดลธุรกิจแบบเดิม จะแสวงหาวิธีการสร้างรายได้จากช่องทางต่างๆ ที่จะให้ผลตอบแทนหรือกำไรสูงสุดต่อธุรกิจ แต่ในโมเดลธุรกิจสีเขียว ผู้ประกอบการจะแสวงหาวิธีที่จะทำให้เกิดผลตอบแทนต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจโดยรวม ชุมชน และของตัวธุรกิจเองควบคู่กันไป
พันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ โมเดลธุรกิจแบบเดิม จะให้ความสำคัญกับพันธมิตรที่มีส่วนใกล้ชิดกับธุรกิจเท่านั้น เช่น ซัพพลายเออร์และลูกค้า แต่ในโมเดลธุรกิจสีเขียว จะให้ความสำคัญต่อพันธมิตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยไม่ลืมที่จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สมาคมและชมรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดไปจนถึง ชุมชนและองค์กรภาคประชาชน เป็นต้น
วิธีการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เดิมจากการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ใกล้ชิด หรือลูกค้าสำคัญเรียงตามยอดขาย ในโมเดลธุรกิจสีเขียว จะให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง หรือแนวร่วมกับลูกค้าในด้านการดูแลสังคม วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม และการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในลักษณะที่ยาวนานมากขึ้น
ช่องทางการจำหน่ายหรือการเข้าถึงลูกค้า โมเดลธุรกิจเดิมจะให้ความสนใจกับช่องทางการจำหน่ายแบบทิศทางเดียว คือ เมื่อขายแล้วก็จบไป หรืออาจมีการบริการหลังการขายกรณีสินค้าชำรุด หรือใช้งานไม่ได้ แต่ในโมเดลธุรกิจสีเขียว จะออกแบบช่องทางการจำหน่ายที่ครบวงจร รวมไปถึงการนำเสนอโอกาสในการนำมาใช้ซ้ำ การหมุนเวียนเปลี่ยนสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ การกำจัดที่ถูกวิธี และให้ความสนใจกับการแปรสภาพของวัตถุดิบและสินค้าตลอดในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ
แนวโน้มของการธุรกิจต่อไปในอนาคต คงจะต้องหนีไม่พ้นการแข่งขันกันในด้านการสร้างสรรค์ธุรกิจสีเขียว ที่จะให้ประโยชน์และผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อลูกค้า สังคม สิ่งแวดล้อม และกับตัวธุรกิจเองด้วยอย่างสร้างสรรค์ และไม่เห็นแก่ตัว
ผู้ประกอบการธุรกิจในปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ คงจะต้องเริ่มสวมหัวใจ “สีเขียว” ให้กับธุรกิจของตนเองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป