เกี่ยวอะไรกับเรา:เศรษฐกิจอินเดีย...เติบโตยั่งยืนหรือชั่วคราว

เกี่ยวอะไรกับเรา:เศรษฐกิจอินเดีย...เติบโตยั่งยืนหรือชั่วคราว

"เกี่ยวอะไรกับเรา" ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมองทิศทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยครั้งนี้เป็นตอนที่ 1 จากบทความทั้งหมด 3 ตอนครับ

ตอน 1: จุดพลิกเศรษฐกิจอินเดีย

ประเทศอินเดียมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญจาก 3 เหตุการณ์ ซึ่งผมพิจารณาแล้วว่ามีส่วนทำให้อินเดียสามารถขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2490 เมื่อครั้งอินเดียได้มาซึ่งเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษทำให้เกิดการถ่ายอำนาจจากอภิสิทธิ์ชนต่างชาติมาเป็นอภิสิทธิ์ชนชาวอินเดีย ถึงแม้ว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ปลดพันธนาการให้อินเดียสามารถบริหารผลประโยชน์ของตัวเองได้แต่ก็วางรากฐานให้กลุ่มคณะบุคคลที่มีอำนาจในเวลานั้นสามารถกำหนดการจัดสรรปันส่วนของทรัพยากรทางเศรษฐกิจอินเดีย ผ่านหน่วยงานวางแผน ที่เรียกว่า Planning Commission โดยกำหนดระบบสัมปทานเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มพวกพ้องตนเองจนทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นนำทั้งในภาคการเมือง และธุรกิจที่สามารถหาประโยชน์จากช่องว่างทางสังคมดังกล่าว ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นในหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งไทย ผ่านธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่ได้รับสัมปทานหรือสิทธิบัตรในการทำธุรกิจช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การวางรากฐานและสืบทอดอำนาจอันมิชอบนั้นทำให้เกิดการคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบตลอด 3 ทศวรรษ    จนทำให้เศรษฐกิจอินเดียเกือบล่มสลายในปี 2534 จากการเสียศูนย์ทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Imbalance) ผ่านการขาดดุลแฝดซึ่งประกอบด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังจนถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวของนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปี จนมาถึงวาระของนายกรัฐมนตรี คนที่ 10 คือ นาย พีวี นาราสิงหา ราว (PV Narasimha Rao) ผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์สำคัญลำดับที่ 2 คือการเปิดเสรีการทางการค้าและการลุงทุนในอินเดีย ทำให้อินเดียเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเกิดใหม่ ที่ใช้จำนวนประชากรและทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีมากมายให้เป็นประโยชน์ โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนจากต่างชาติในกิจการไฟฟ้า พลังงาน และอุตสาหกรรมต่างๆ

ผลของการเปิดประเทศและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่ ณ เวลานั้นถือเป็นพันธมิตรสำคัญของอินเดีย ได้ทำให้อินเดียหันมาประเมินนโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหม่ โดยเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่ 3 บนความพยายามที่จะแสดงศักยภาพในฐานะ Regional Power เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้

 

 

นโยบายมองตะวันออก มีแนวทางดำเนินการหลัก 3 ส่วนคือ

  1. การรวมกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค (Regional Integration)  ซึ่งอินเดียได้ดำเนินการรื้อฟื้นสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งนโยบายความมั่นคงกับกลุ่มประเทศอาเซียน
  2. การปฏิรูปและการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงการลงนามในสนธิสัญญากับกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยผลจากนโยบายมองตะวันออก ได้ทำให้อินเดียวางแผนการสร้างสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นระบบ และ มีพัฒนาการเรื่อยมา โดยเริ่มจากการเป็น

  • คู่เจรจาเฉพาะด้านของอาเซียนในปี 2536
  • คู่เจรจาอาเซียนถาวรในปี 2538
  • เป็นส่วนหนึ่งของที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum) ในปี 2539
  • เข้าร่วมที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ในปี 2545
  • บรรลุกรอบข้อตกลง ASEAN-India Partnership for Peace Progress and Shared Prosperityในปี 2547
  • และที่สำคัญที่สุดคือ การบรรลุความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India FTA) ในปี 2553 จนทำให้ยอดการค้าระหว่างอินเดียและ อาเซียนมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 และได้วางกรอบเป้าหมายที่จะไปถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี  2565

แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียน-อินเดีย ไม่ได้เติบโตมากนัก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังซบเซาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก ผ่านการแสดงบทบาทที่ชัดแจ้งยิ่งขึ้นของจีนในการขยายอำนาจในภูมิภาคเอเชียจึงทำให้รัฐบาลของนาย นเรนทระ โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ปรับแนวคิดของนโยบายมองตะวันออก และเปลี่ยนชื่อเป็น นโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) โดยมุ่งเน้นการขยายความสัมพันธ์ไปยังกลุ่มประเทศในเอเชียที่นอกเหนืออาเซียน เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ประเทศในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก  และมองโกเลีย นอกจากนี้ยังพัฒนาความสัมพันธ์เพิ่มเติมไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกาะกระแสนโยบาย Pivot to Asia เพื่อคานอำนาจจีน

ซึ่งผลสำเร็จของความท้าทายดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะดำเนินไปในแนวทางใดในอนาคต โดยในฉบับหน้าเราจะมาดู สถิติตัวเลขทางเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาว่า "เศรษฐกิจอินเดีย....เติบโตยั่งยืนหรือชั่วคราว"