ผู้ประกอบการสังคม

ผู้ประกอบการสังคม

ผู้ประกอบการสังคม

ดิฉันได้เกริ่นไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าต้นเดือนมิถุนายน จะมีงานประชุมและสัมมนาประจำปีของ เครือข่ายการกุศลของเอเชีย หรือ Asian Philanthropy Network (AVPN) ซึ่งเป็นการสัมมนากลุ่มผู้อยู่ในแวดวงของการให้และการลงทุนเพื่อสังคม และรวมเครือข่ายผู้ประกอบการสังคม

ดิฉันได้มีโอกาสพบและเรียนรู้จากประสบการณ์ของวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายท่าน และขอนำบางส่วนมาแบ่งปันในวันนี้

การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการดำเนินการในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มาเป็น "ผู้ประกอบการสังคม" หรือ Social Entrepreneurs มากขึ้น ด้วยสาเหตุหลักๆสองประการคือ เงินบริจาคหายากขึ้น และผู้บริจาคต้องการเห็นผลลัพธ์ของการบริจาคมากขึ้น กับอีกสาเหตุหนึ่งคือ มีกลุ่มคนทั้งรุ่นใหม่และเก่ามองเห็นช่องทางในการใช้ความรู้ความสามารถที่มีในการบริหารจัดการองค์กรแบบเอกชน มาทำให้เกิดประโยชน์ในทางสังคมเพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการสังคมเหล่านี้แสวงหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินกิจการ โดยสัญญาว่าจะทำให้เกิดผลทางสังคม พร้อมกับจะคืนเงินลงทุนให้กับเจ้าของทุน โดยเงินที่คืนนั้น อาจจะคืนเฉพาะเงินต้น(เงินลงทุน) หรือคืนเงินลงทุนพร้อมผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าหรือเท่ากับท้องตลาด

ผู้ลงทุนก็จะได้ทั้งความสุขใจที่ได้ทำประโยชน์ ทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และอาจจะได้เงินลงทุนคืน หากกิจการประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ผู้ลงทุน/ผู้ให้หลายราย เห็นพ้องต้องกันว่า แม้การลงทุนจะขาดทุน แต่ได้เห็นผลทางสังคม ก็ถือว่าได้บรรลุผลแล้ว รัฐบาลในหลายๆประเทศ ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสังคม โดยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบการเพื่อสังคม เช่น อาจให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ผู้ประกอบการสังคม หรือแก่ผู้ลงทุนในกิจการเพื่อสังคม หรืออาจจัดให้มีหน่วยงานช่วยวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม เพื่อช่วยองค์กรให้สามารถแสดงให้ผู้ลงทุนเห็นว่า เงินที่ลงทุนไปนั้นส่งผลบวกต่อสังคมอย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่แท้จริง การดำเนินการต้องยั่งยืน น่าเสียดายว่า หลายโครงการต้องเลิกล้มไป เมื่อผู้ประกอบการสังคม หรือผู้บริจาคช่วยเหลือ ถอนตัวออกไปเพราะจบโครงการ 

ดิฉันได้มีโอกาสสนทนากับคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร กรรมการผู้จัดการและเลขานุการ มูลนิธิสยามกัมมาจล เกี่ยวกับปัญหาความยั่งยืนของโครงการหลังจากการถอนตัวของความช่วยเหลือ และได้รับคำตอบที่ดีมากคือ เจ้าของประเด็นปัญหาหรือผู้รับผิดชอบ ต้องสนใจ ต้องอยากทำ ต้องรู้ร้อนรู้หนาวกับความสำเร็จของงาน โครงการจึงมีโอกาสสำเร็จ มากกว่า 50%

เพื่อให้โครงการอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน  ตั้งแต่เริ่มโครงการ ผู้เข้าไปดำเนินการจะต้องมองภาพ ถึงผลสำเร็จที่ต้องการ และรู้ว่าจะถอนตัวอย่างไร
และข้อสำคัญ การทำงานสังคม ต้องสร้างให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการ หรือในหลายๆกรณีคือ คนในพื้นที่ เป็นผู้เปลี่ยนแปลง (change agent) เพื่อให้เขาทำงานต่อได้ หลังจากเราถอนตัวออกมาเพื่อไปทำงานอื่นต่อ  ซึ่งการให้คนในพื้นที่ทำ จะยากและใช้เวลานานกว่าการที่เรา (นักพัฒนา/ผู้ประกอบการสังคม) ลงมือทำเอง ดังนั้น คนที่จะทำงานกับเจ้าของโครงการต้องอดทน เพื่อให้เกิดผลของความยั่งยืนต่อไป

ดิฉันขอยกตัวอย่างการเข้าไปช่วยประเทศมองโกเลียของมูลนิธิ นิปปอน ซึ่งกรรมการบริหารของมูลนิธิยกเป็นตัวอย่างว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 
มองโกเลียต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศจำนวนมากและยานำเข้ามีราคาแพง ในขณะที่มีสมุนไพรพื้นบ้านที่มีผลสัมฤทธิ์ดี (คล้ายประเทศไทย) มูลนิธิฯได้ทดลองผลิตยาสามัญประจำบ้านจากสมุนไพรแบบง่ายๆ ราคาถูก  10 ชนิด เพื่อให้ชาวบ้านใช้ดูแลตัวเองเมื่อไม่สบายเล็กๆน้อยๆ โดยกระจายผ่าน 24,000 ครอบครัว ถือเป็นลักษณะ "ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง" (Use first, pay later) โดยในชุดแรกมูลนิธิเติมยาให้เต็ม และขอให้หมอมาตรวจเช็คตามบ้านทุกสามเดือน  หากพบว่ายาตัวไหนถูกใช้ไป ก็จะเติมในส่วนที่ขาดให้ ชาวบ้านก็จ่ายเฉพาะค่ายาใหม่ที่นำมาเติม

พบว่าชาวบ้านป่วยน้อยลง อัตราการป่วยที่ต้องไปพบหมอลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อครบสามปี จบโครงการ ได้ขอให้รัฐบาลมองโกเลียทำต่อ แต่รัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่สนใจ และก็ไม่จัดสรรงบประมาณให้  มีเพียงหมอท้องถิ่นบางคนเท่านั้นที่สนใจทำต่อเอง มูลนิธิฯจึงถือว่าโครงการนี้ล้มเหลว

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายทีเดียว จะเห็นได้ว่า แทนที่ภาครัฐจะดีใจที่มีคนมาช่วยแก้ไขปัญหา แต่กลับเพิกเฉยไม่สานต่อโครงการดีๆ

บทบาทของภาครัฐที่จะสนับสนุน ส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการสังคม สามารถทำงานเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ขอฝากไว้ให้รัฐบาลพิจารณาสนับสนุน พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อจะได้เป็นกลไกหนึ่งที่เชื่อว่ามีความยั่งยืนมากขึ้น ในการลดระดับความเหลื่อมล้ำค่ะ